ความลำบาก ‘บุคลากรสาธารณสุข’ พื้นที่ห่างไกล อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่หลายคนอาจรู้ไม่หมด!  แม้พวกเขาเต็มใจดูแลผู้ป่วย ทั้งคนไทย คนชายขอบ แต่ข้อจำกัด “คน เงิน ของ” ยังคงเป็นอุปสรรคจนทุกวันนี้

 

“รพ.สบเมย มีหมอ 4 คน หากเทียบกับรพ.ชุมชนระดับเดียวกันในจังหวัดอื่นๆ แน่นอนว่าบุคลากรเราน้อย ขณะที่การทำงานต้องขึ้นดอยสูง หลายพื้นที่ต้องเดินทาง โดยเฉพาะหย่อมหมู่บ้านห่างไกลที่รถเข้าไม่ถึง แม้พวกเราจะทำด้วยความเต็มใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ยังเป็นอุปสรรคอยู่..”  ถ้อยคำของ นพ.พิทยา  หล้าวงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เปรยขึ้นเมื่อถูกถามถึงอุปสรรคการดูแลคนไข้

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้สื่อข่าว Hfocus มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่มามอบยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผ้าห่ม และอุปกรณ์การเรียนในพื้นที่ อ.สบเมย และได้พูดคุยกับ  นพ.พิทยา หล้าวงค์ ผอ.รพ.สบเมย ทำให้ทราบว่า แม้ปัจจุบันบริบทพื้นที่จะมีการพัฒนาไปมาก ถนนลาดยางมากขึ้น แต่ด้วยภูมิประเทศของอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน การเดินทางยังคงคดเคี้ยว โดยเฉพาะการขึ้นไปยังยอดดอยสูง เพื่อดูแลคนไข้ หลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้า อินเตอร์เน็ตยังไม่ถึง ที่สำคัญพื้นที่ที่เป็นหย่อมหมู่บ้าน ต้องเดินเท้า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นอุปสรรคทางการแพทย์อยู่ไม่มากก็น้อย

ปัญหา "คน" บุคลากรน้อย หากมากพอจะช่วยงานเชิงรุกปฐมภูมิมากขึ้น

นพ.พิทยา เล่าถึงภาพรวมการดูแลคนไข้ของ รพ.สบเมย ว่า  รพ.สบเมย เป็น รพ.ชุมชนขนาด 30 เตียง ดูแลประชากรในพื้นที่ประมาณ 46,000 คน มีแพทย์เพียง 4 คน เมื่อเทียบกับ รพ.ชุมชนในจังหวัดอื่นๆ ที่มีขนาด 30 เตียงเท่ากัน แต่มีแพทย์ 10-15 คน ถือเป็นความท้าทายของ รพ.สบเมยว่าจะทำอย่างไรให้ดูแลประชากรอย่างมีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งทุกคนจะร่วมกันตรวจ OPD ห้องฉุกเฉิน และยังต้องรับผิดชอบคลินิกต่างกันไป เช่น คนหนึ่งรับผิดชอบคลินิก NCDs อีกคนฝากครรภ์ เป็นต้น

หากมีแพทย์มากกว่า 4 คน ก็จะขยับงานจากเชิงรับไปเชิงรุกได้มากขึ้น และไปทำงาน Primary Care ดูแลประชาชนระดับปฐมภูมิได้มากกว่านี้ โดยในพื้นที่เราเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพราว 70% คนต่างด้าวกว่า 20 %   ส่วนใหญ่งบประมาณได้จาก สปสช. ผู้ป่วยนอก 1 ปีรับดูแลประมาณ 5-6 หมื่นคน ผู้ป่วยใน 2 พันกว่าคนต่อปี โรคที่รักษาส่วนใหญ่จะเป็นโรคง่ายๆ เช่น ไข้หวัด โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่าง NCDs การติดเชื้อทางเดินอาหารที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน หากซับซ้อนก็จะส่งต่อ รพ.แม่ข่าย คือ รพ.แม่สะเรียง ที่ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง

ปัจจุบัน รพ.สบเมย มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ลูกข่าย 8 แห่ง โดย 2 แห่งอยู่ในเมือง อีก 6 แห่งอยู่ห่างไกลเดินทางลำบาก จำนวนนี้มี 2 แห่งที่ไม่มีไฟฟ้า จะใช้โซลาร์เซลล์ตลอดปี แต่ช่วงหน้าฝนที่ไม่มีแดดก็มักมีปัญหา ต้องใช้น้ำมันกับเครื่องปั่นไฟฟ้า ส่วนการติดต่อกับ รพ.สต.เมื่อก่อน รพ.สต.ก็ไม่ค่อยมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ต้องขับมอเตอร์ไซค์แบกโน้ตบุ๊กไปจุดที่มีสัญญาณ  ปัจจุบันพยายามเอาอินเทอร์เน็ตไปลง ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ต้องหาสัญญาณอยู่บ้าง ขณะที่การเดินทางไป รพ.สต.ก็ประมาณ 4 ชั่วโมงถึงขึ้นไป แม้ตอนนี้ทางลาดยางหมดก็ยังใช้เวลาประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง แต่บางพื้นที่ใช้เวลามากกว่านั้น ยิ่งยอดดอยสูง หรือพื้นที่หย่อมหมู่บ้าน ต้องเดินเท้าเข้าไป

นพ.พิทยา กล่าวอีกว่า  การเข้าถึงจะไม่เท่าเทียมกับคนไข้ในเมือง เพราะคนไข้ห่างไกลมารับบริการที่ รพ.สต. อาจไม่ได้รับบริการตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ เช่น คนไข้ต้องการเวลาในการรักษา อย่างโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือหลอดเลือดสมองที่ต้องใช้เวลา คนในเมืองเพียงกด 1669 มารับที่บ้านไป รพ.ได้ยาทันที แต่คนไข้ละแวกนี้ใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมงในการมาถึง รพ.สต. และใช้เวลาอีก 1-2 ชั่วโมงเพื่อไป รพ.อีก ทำให้เกิดความล่ช้าในการรักษาได้ เรากำลังพยายามทำระบบให้คนไข้ รพ.สต. ในพื้นที่ห่างไกลได้รับบริการที่เท่าเทียมกับคนไข้ในเมือง จึงทำระบบการดูแลผู้ป่วยก่อนถึง รพ.หรือ Pre Hospital care ให้คนไข้ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น รับรู้เฝ้าระวังโรคตัวเองได้มากขึ้น เข้าถึงระบบ 1669 ได้ดีขึ้น

นอกจากนี้  ยังวางระบบส่งต่อทั้ง 3 ทาง คือ ทางรถ ทางเรือ และทางอากาศ ให้เข้าถึงอย่างปลอดภัยและรวดเร็วเท่าเทียมคนไข้ในเมือง อย่างทางเรือเนื่องจากติดลำน้ำสาละวิน ซึ่งช่วงหน้าฝนเดินทางไกลและลำบาก การขนส่งทางเรือก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยใช้เรือทางทหารในพื้นที่ หรือเรือชาวบ้านไปให้ลงทะเบียนกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อเคลมเบิกจ่ายค่าน้ำมันให้ชาวบ้าน ส่วนอากาศยานมีการเอาเฮลิคอปเตอร์ไปรับคนไข้ที่ที่จุดส่งต่อในหมู่บ้าน หรือส่งต่อจาก รพ.หนึ่งไปรพ.หนึ่ง โดยได้รับความร่วมมือจาก Sky Doctor ระดับเขต

“ตอนนี้เราเน้น Primary Mission ในการช่วยชาวบ้านหาว่า จุดไหนที่เข้าถึงบริการลำบากจริงๆ ก็จะไปตั้งจุด ฮ.ขึ้นมา ทำระบบให้ชัดเจน เมื่อชาวบ้านมีปัญหาก็เรียกเฮลิคอปเตอร์ได้ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันก็มีการส่งต่อทุกปี” ผอ.รพ.สบเมย กล่าว

ภาระงานบุคลากร ยังต้องดูแลคนต่างด้าว ขณะที่อัตรากำลังน้อย

เกิดคำถามว่าค่ารักษากลุ่มคนต่างด้าว โดยเฉพาะฝั่งเมียนมาที่มีปัญหาภายในประเทศอยู่นั้น เมื่อมารักษาฝั่งไทยจะทำอย่างไร  นพ.พิทยา  ตอบว่า   ทางฝั่งเมียนมายังมีการต่อสู้กันอยู่ เมื่อทางนั้นรักษาไม่ได้ ก็จะผ่านองค์กร NGO อย่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross – ICRC) มาให้ รพ.สบเมยรักษา ซึ่งก็จะส่งมาที่ รพ.สต.ก่อน แต่ถ้าฉุกเฉินจริงๆ รพ.สบเมย จะต้องเอาทีม Ambulance ไปที่ รพ.สต.เพื่อดูแลเบื้องต้น หากรักษาไม่ได้ก็ส่งต่อรพ.ระดับสูงต่อไป

“การดูแลคนไข้กลุ่มนี้ทำให้เราเสียอัตราการดูแลคนไข้ปกติลดน้อยลงไป เพราะต้องออกไปนอกพื้นที่ บางเคสต้องใช้บุคลากรค่อนข้างเยอะ ยิ่งต้องส่งต่อเชียงใหม่ก็ต้องใช้เวลาเดินทางนาน บางวันมีเข้ามาหลายเคส เราก็ต้องประสานทาง ICRC ว่าให้แจ้งจำนวนเข้ามาก่อนได้หรือไม่ มิเช่นนั้นเราก็ได้รับผลกระทบจากจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ แต่อย่างไรเสียเราก็ต้องดูแล เพราะเป็นเรื่องมนุษยชน” ผอ.รพ.สบเมย กล่าว

นอกจากนี้ อ.สบเมยยังมีศูนย์อพยพอีก 2 ศูนย์ เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยสงคราม ดูแลศูนย์ละประมาณ 7-8 พันคน แต่ไม่ใช่หน้าที่หลักของเราที่ดูแล แต่จะเข้าไปช่วยบางเรื่อง เช่น รณรงค์ฉีดวัคซีน เข้าไปช่วยควบคุมโรคที่ขอความร่วมมือมา

ภาระทางการเงิน รพ.สบเมยดูแลคนต่างด้าว

"คนไข้ต่างด้าวที่เรารักษามี 2 กลุ่ม คือ ต่างด้าวที่มีกองทุนดูแลจากกองเศรษฐกิจสุขภาพ สธ. ส่วนที่ไม่มีบัตร ก็ต้องชำระเงินเอง ส่วนใหญ่ไม่มีจ่ายก็ติดหนี้ไป ซึ่งเงินที่ได้จาก สปสช.มาบริการคนไทย พอต้องมาดูแลต่างด้าวด้วยก็ถือว่ารายได้ลดลง บางปีตัวเลขเงินบำรุงเราก็พออยู่ได้ บางปีก็ขาดทุน" นพ.พิทยากล่าว

ปัญหา " เงิน ของ" ไม่สามารถปรับปรุงอาคาร รพ.

เมื่อถามว่ารพ.สบเมย ยังขาด “คน เงิน ของ” มากน้อยแค่ไหน  นพ.พิทยา กล่าวว่า  หากได้คนเพิ่มย่อมดีต่อระบบการบริการสาธารณสุข รวมทั้งงบประมาณ สิ่งของเวชภัณฑ์ต่างๆ  ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ส่วนขาดของ รพ.สบเมย คือ 1.งบประมาณในการก่อสร้าง รพ.สบเมย ค่อนข้างเก่าสร้างมา 20-30 ปี ยังไม่มีการปรับปรุงพัฒนาอาคาร ที่ผ่านมาพยายามเขียนและรองบประมาณลงทุนจากกระทรวงสาธารณสุข แต่คาดว่าน่าจะนาน  ขณะนี้จึงต้องหางบฯมาพัฒนากันเองก่อน

“ปีนี้เราสมัครเข้าร่วมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่ทำโครงการรับทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ในการปรับปรุง รพ.ให้มีสุขภาวะที่ดี ได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาคุย ทั้งคนไข้ ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ อสม. ว่าภาพฝันอยากเห็น รพ.สบเมยเปลี่ยนไปอย่างไร ก็จะมีทีมสถาปนิกเกษตรศาสตร์เข้ามาพูดคุย  เบื้องต้นจะเน้นเอาตึกเก่ามารีโนเวท ให้ใช้ง่าย สะดวก ตอบรับประชาชนและพื้นที่ที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา เมื่อได้โครงร่าง ได้พิมพ์เขียวจึงจะทราบว่างบประมาณปรับปรุงอาคารอยู่ที่เท่าไหร่ จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่เราที่จะหาเงินมาพัฒนา อาจจะจัดผ้าป่าหรืองานวิ่ง” ผอ.รพ.สบเมย กล่าว

เมื่อถามว่ามีข้อเสนอถึงกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับ คน เงิน ของ อย่างไร นพ.พิทยา ตอบว่า   กระทรวงสาธารณสุขมองภาพรวมเรื่องของงบประมาณเรื่องของกำลังคนที่สนับสนุนให้กับทุกๆโรงพยาบาล แต่ตนมองว่าในพื้นที่ห่างไกลเราอาจจะต้องใช้งบประมาณหรือใช้บุคลากรที่แตกต่างจากในเมือ เช่น ในเมืองมีประชากรขนาดนี้ใช้หมอใช้พยาบาลจำนวนนี้ได้ แต่เทียบสัดส่วนกับพื้นที่ห่างไกลอาจจะใช้ไม่ได้ เนื่องจากว่าภาระงานต่างกัน

“ เราอาจต้องมองเป็นจุดๆ ไป เช่น ในพื้นที่ห่างไกล ภาระงานต่างกัน อย่างพยาบาล 1 คน ที่สามารถทำงานได้ในแต่ละวันก็แตกต่างกันในพื้นที่ที่แตกต่าง  ดังนั้น พื้นที่ห่างไกลอาจต้องมีพยาบาลมากขึ้น เมื่อเทียบกับพื้นที่ในเมือง เนื่องจากมีเรื่องของการเดินทาง เรื่องของศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่ออะไรต่างๆ ที่มันต่างกัน สิ่งเหล่านี้ต้องมองเป็นพื้นที่ๆ” นพ.พิทยา กล่าวทิ้งท้าย

 อีกเสียงสะท้อนของพื้นที่ทุรกันดาร ที่แม้ปัจจุบันการพัฒนาในพื้นที่จะมากขึ้น แต่ประเด็น “คน เงิน ของ” ยังคงเป็นปัญหาที่รอวันแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : 

-“สบเมย” หนึ่งในพื้นที่ทุรกันดาร จ.แม่ฮ่องสอน ปัญหาอุปสรรคการจัดส่งยาผู้ป่วยชายขอบ

-รพ.สบเมย จัดระบบสำรองยาต้านพิษ ร่วมบูรณาการเครือข่ายลำเลียงผู้ป่วยวิกฤต ผ่าน Sky Doctor