มติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีมติปรับแก้ไข “ขยายเวลาขายเหล้า” ยังติดกฎหมายคณะปฏิวัติ ชงเรื่องคกก.นโยบายฯ ชุดใหญ่พิจารณา 19 ก.พ. ด้านภาคประชาชนรอติดตามที่ทำเนียบ หากรัฐบาลยังเดินหน้าเล็งใช้อำนาจศาลปกครองช่วยเหลือ ปกป้องสุขภาพประชาชน
ตามที่ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 400 คน เดินทางมาติดตามและให้กำลังใจการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมฯ โดยได้ยื่นเรื่องก่อนการประชุมคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีการพิจารณาวาระสำคัญ คือ การขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ภาคปชช. รอผลประชุมบอร์ดเหล้า ถ้าขยายเวลาขาย กระทบบุคลากรทางการแพทย์ ย้อนแย้ง 30 บาทรักษาทุกที่)
เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า วันนี้มีการพิจารณาเพียงประเด็นเดียว คือ ความเป็นไปได้ในการแก้กฎหมายขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการพิจารณาครั้งนี้ จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ มติเป็นเอกฉันท์ว่า ในส่วนของคณะกรรมการควบคุมฯ พิจารณาตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ไม่สามารถปรับแก้ขยายเวลาจำหน่ายได้ เนื่องจากยังมีกฎหมายอีกฉบับ คือ ปว.253 กฎหมายของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 เมื่อพ.ศ.2515 ซึ่งกำหนดเวลา 2 ช่วงเวลาจำหน่าย คือ การจำหน่ายสุราให้จำหน่ายได้เฉพาะตามเวลาที่กำหนด คือ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึงเวลา 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 น. ถึงเวลา 24.00 น. ดังนั้น เรื่องนี้จะต้องส่งต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาต่อไป
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุมไม่มีมติว่า จะขยายเวลาจำหน่าย แต่เราพิจารณาถึงความเหมาะสม ซึ่งจะนำข้อมูลต่างๆ ส่งไปยังคณะกรรมการนโยบายฯ โดยจะนำข้อมูลการรายงานต่างๆ อย่างที่ประชุมพูดถึงอุบัติเหตุก่อนปีใหม่ พบว่า 25% ช่วงปีใหม่อุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ล้มเอง 2-3 พันราย โดยคณะกรรมการฯเห็นข้อมูลเหล่านี้ และพิจารณาถึงความเหมาะสมในการขยายเวลาได้หรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาประเด็นต่างๆ ทั้งผลกระทบเศรษฐกิจจะอย่างไร ผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างไร ความเป็นไปได้ต่างๆ
“ในส่วนของพ.ร.บ.ควบคุมฯ หากไปพิจารณาขยายเวลาก็จะไปขัดกับกฎหมายของคณะปฏิวัติ ซึ่งจะขัดกัน อย่างไรก็ตาม เราจะนำเสนอข้อมูลทั้งหมดส่งคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณา เพราะกฎหมายคณะปฏิวัติก็จะมีกฎหมายลูกออกโดยกระทรวงมหาดไทย สมัยนั้น” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
เมื่อถามว่าสรุปเรื่องนี้ต้องส่งให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติพิจารณาว่าจะขยายเวลาขายเหล้าใช่หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า วันนี้เพิ่มเวลาไม่ได้ ต้องไปพิจารณาก่อนว่า จะแก้ไขกฎหมายขยายเวลาหรือไม่อย่างไร อย่างที่บอกยังมีกฎหมายคณะปฏิวัติอยู่ วันนี้ไม่มีใครเพิ่มเวลาในร้านอาหารได้ อย่างไรก็ตาม อำนาจของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ ให้ข้อเสนอแนะและแสดงเจตนารมณ์ของคณะกรรมการฯ โดยกรรมการทุกคนเห็นว่า กฎหมายแอลกอฮอล์ ไม่ใช่สินค้าทั่วไป เป็นสินค้าควบคุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากประชุมบอร์ดควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮออล์ รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้มาพูดคุยกับเครือข่ายภาคประชาชนที่รออยู่บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยรศ.นพ.เชิดชัย กล่าวสรุปว่า มติบอร์ดฯ ไม่ได้มีการปรับแก้ไข หรือขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด โดยเรื่องนี้ต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาเอง ปรากฎว่า ทางภาคประชาชนต่างดีใจว่า บอร์ดฯนี้ไม่มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าว
ภาคประชาชนยินดีบอร์ดเหล้าฯไม่มีมติแก้ไขเวลาขยาย
ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ต้องขอบคุณคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ยืนหยัดในหลักการและเห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ในเรื่องนี้ เห็นถึงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ จากการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโยนคำถามกลับไปที่รัฐบาลว่าต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น กับข้อดีต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น ต่อไปก็ต้องไปลุ้นกันที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แต่เราคุยกันในเครือข่ายว่าจะมีการไปพบกับคณะกรรมการนโยบายฯ ที่จะมีการประชุมในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ ที่ทำเนียบ เพราะเราเองก็กังวลว่าจะมีความเป็นไปได้ที่เขาจะพลิกแพลงไปเป็นแบบอื่นได้ อย่างเรื่องนโยบายขยายเวลาเปิดผับได้จนถึงตีสี่ สังคมก็เห็นเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เห็นด้วย แต่กลับประกาศออกมาได้
“เราต้องไปแสดงพลังให้รัฐบาลเห็นว่า อาจจะต้องฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น ฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ได้รับใผลกระทบให้มากขึ้น ถ้ายืนยันที่จะทำเรื่องนี้โดยไม่ฟังเสียงประชาชนเลย เราเองก็กำลังดูความเป็นไปได้ที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการทางศาลปกครอง” นายธีรภัทร์ กล่าว
เมื่อถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการศาลปกครอง นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาหาแนวทางกันอยู่ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 58 พูดถึงการที่รัฐจะออกนโยบายอะไรก็ต้องดูแล และคุ้มครองสุขภาพประชาชน ดังนั้นฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างศึกษาเนื้อหาสาระ หากรัฐบาล ยังเดินหน้าต่อโดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบ ข้อดี ข้อเสียที่ชัดเจน ก็คิดว่า อาจจะต้องยื่นศาลปกครองตีความวินิจฉัยว่า การทำแบบนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อถามว่า รัฐบาลระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะใช้ในพื้นที่นำร่อง เท่านั้น นายธีรภัทร์ กล่าวว่า พื้นที่นำร่องเดิมนั้น ตนก็อยากให้ท่านสรุปออกมาก่อนว่า ที่ทำมานั้นประโยชน์ที่ได้รับนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แล้วอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น คนตายเพิ่มขึ้นในพื้นที่นั้น เมื่อเปรียบเทียบช่วงก่อนขยาย กับที่ขยายแล้วพบว่ามีความชัดเจน ดังนั้นการที่บอกว่าจะขยายในพื้นที่นี้ก็ต้องถามกลับว่า ประโยชน์มันอยู่ตรงไหน จริงๆ เรากังวลว่า พอบอกว่าจะนำร่องเป็นบางพื้นที่แล้ว จะมีการขยายไปทั้งประเทศ เพราะในอีกมุมถ้าขยายแล้วมีกลุ่มหนึ่งเปิดได้ตีสี่ อีกกลุ่มหนึ่งได้แค่ตีสอง มันก็ลักลั่นกัน ดังนั้นรัฐบาลต้องชัดเจนว่า มีข้อดีอย่างไร ประชาชนได้อะไร เรื่องนี้มีกฎหมายหลายฉบับให้ทันสมัย เช่น กฎหมายสถานบริการ ต้องให้ทันสมัย เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติได้จริง
“ต้องเปรียบเทียบให้เห็นข้อดี หรือรายได้ทางเศรษฐกิจที่ได้รับมา เราก็อยากเห็นตัวเลขว่าได้มาอย่างที่โม้หรือไม่ แต่ตัวเลขคนตาย ก็เห็นอยู่ว่าตายเพิ่มขึ้นชัดเจน” นายธีรภัทร์ กล่าว
นายธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า เราเองก็รับฟังทุกกลุ่ม ทั้งแรงงาน ทั้งคนที่ดื่ม คนที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงแนวทางในการแสดงความเห็นในการคัดค้านนโยบายเพิ่มเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในพื้นที่ต่างจังหวัด ทางเครือข่ายเยาวชน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ก็ได้มีการไปยื่นศูนย์ดำรงธรรม ยื่นต่อทางจังหวัด ดังนั้นตนก็ขอเชิญชวนว่า พื้นที่ไหนที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ก็ออกมาแสดงพลังของตัวเองว่าไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าท่านจะดื่ม หรือไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แค่เห็นว่านโยบายนี้มีปัญหาก็สามารถออกมาคัดค้านได้
- 262 views