กรมการแพทย์-ม.มหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา งานวิจัยและงานบริการด้านกายอุปกรณ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ  

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ณ ห้องประชุมแสงสิงแก้ว กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ซึ่งการลงนามในครั้งนี้นำโดย พญ.อัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ พญ.ภัทรา อังสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ พญ.วิชนี ธงทอง รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.พญ.กุลภา ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร

พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา งานวิจัยและงานบริการด้านกายอุปกรณ์ เป็นการประสานและพัฒนาศักยภาพในการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านกายอุปกรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ 

"การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร เพื่อเป็นการประสานและพัฒนาศักยภาพในการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านกายอุปกรณ์ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพกายอุปกรณ์ในประเทศไทย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต" พญ.อัมพร กล่าว

พญ.ภัทรา เสริมว่า การประสานความร่วมมือกับ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรฯ มีเจตนารมณ์ในการประสานความร่วมมือเพื่อการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรของโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร และหลักสูตรของสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ รวมทั้งประสานความร่วมมือในการดำเนินการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานวิจัย และงานบริการด้านกายอุปกรณ์ ซึ่งได้มีการประสานความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร และสถาบันสิรินธรฯ ถือเป็นหน่วยงานหลักและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนวิชาชีพกายอุปกรณ์ในประเทศไทย

ด้าน ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า การทำความร่วมมือนี้จะช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ช่วยยกระดับให้มาตรฐานสูงขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่า หลักสูตรที่มีจะสามารถผลิตนักกายอุปกรณ์ที่สามารถทำงานและช่วยเหลือผู้ป่วยหรือพิการได้ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีลูกศิษย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านงานวิจัยต่าง ๆ ก็ช่วยสร้างแนวคิด การทำงาน รวมถึงหาแนวทางองค์ประกอบที่เป็นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อดูแลคนไข้ ทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ จุดนี้จะช่วยประหยัดเงินได้มาก สร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทย ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ นวัตกรรม รวมถึงสร้างการเชื่อมโยงเพื่อดูแลคนไข้อย่างครบวงจร

"เราเป็นศูนย์ใหญ่ของประเทศไทย สามารถทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ มีวิสัยทัศน์ จากการทำงานที่มากขึ้น เพื่อเป็นนักกายอุปกรณ์ระดับมืออาชีพ ให้นักศึกษาเมื่อจบไปแล้วได้นำสิ่งเหล่านี้ไปช่วยเหลือคนไข้ เป็นประโยชน์ต่อไป ทำงานได้อย่างบูรณาการ เห็นภาพมากขึ้น" ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

การดำเนินงานตามหลักพันธกิจของโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรฯ มีอยู่ 3 ด้าน ประกอบด้วย 

1. ผลิตนักกายอุปกรณ์ที่มีคุณธรรมและคุณภาพตามมาตรฐาน  

2. วิจัยเพื่อพัฒนาชีวิตของผู้พิการ 

3. ให้บริการด้านกายอุปกรณ์ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ตามมาตรฐานสากล

สำหรับกายอุปกรณ์ เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทำกับอวัยวะภายนอกร่างกาย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่บกพร่องทางการเคลื่อนไหว โดยมีคนไข้อยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 

  • กลุ่มคนพิการที่สภาพร่างกายบางส่วนสูญหาย เช่น การผลิตแขนเทียมหรือขาเทียมให้แก่ผู้พิการ
  • ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูก และหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ป่วยทั่วไป ที่เจ็บปวดในส่วนต่าง ๆ 

​​​​​​​