สสส.- สอจร. ลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจ.เชียงใหม่ สร้างกลไกจัดการความปลอดภัยทางถนน ดันชุมชนเป็นต้นแบบโดยใช้เด็กเป็นสื่อกลาง ปลูกฝังพฤติกรรมการจราจรตั้งแต่วัยเด็ก สามารถลดอุบัติเหตุได้มากกว่า 50%
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 'งานบูรณาการความปลอดภัยทางถนน ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และศูนย์ปฏิบัติการจราจรตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานุกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า จากสถิติความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในประเทศไทย พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เฉลี่ยปีละ 17,000 ราย ซึ่งถือว่ายังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ เนื่องจากหลายประเทศได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดทำให้ตัวเลขลดลง รวมถึงตั้งเป้าหมายให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้มากขึ้น จึงมุ่งเน้นไปยังความร่วมมือของภาคประชาชนและชุมชน โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยผ่านการสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังพฤติกรรมให้แก่เด็กและครอบครัว
ทั้งนี้ สสส.จึงได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมขับเคลื่อน ขยาย ยกระดับการทำงานจากประสบการณ์ของพื้นที่ต้นแบบ สู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ สร้างวัฒนธรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยในระดับพื้นที่สนับสนุนแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร )บูรณาการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับจังหวัดและพื้นที่ขับเคลื่อนผลักดันเชิงนโยบาย สร้างมาตรการต่างๆเช่น มาตรการการบังคับใช้กฎหมายด้วยการใช้ กล้อง CCTV ร่วมกับ AIปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัย ลดอัตราเสียชีวิตในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ขับเคลื่อนกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนในระดับอำเภอ รวมถึงการขยายผลต้นแบบกลไกการทำงานของจังหวัดที่บูรณาการลงถึงระดับอำเกอผ่านกลไก ศปถ. พัฒนาและขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบปลูกฝังความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่วัยเยาว์
"สสส.สนับสนุน ภาคีเครือข่ายนักวิชาการและองค์ความรู้ทางด้านวิชาการจนทำให้เกิดการขยายผล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องใน4 ภูมิภาค 13 จังหวัดทั่วประเทศ เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัย 21 ตำบล สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์เรียนรู้ โรงเรียน ครอบครัว รวมทั้งหมด 105 แห่งซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพสามารถขับเคลื่อนสร้างวินัยจราจรและปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่เด็กเล็ก และสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองสวนท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน" นพ.สุรเชษฐ์กล่าว
ด้านนายพศิน อัคเดชธนโชติ นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ มีถนนตัดผ่านชุมชนแบ่งถนนระหว่างตำบลออกเป็นสองฝั่ง รวมถึงการขยายเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวพบปัจจัยที่เกิดจุดเสี่ยง อาทิ ทางร่วมทางแยกและจุดอับสายตา ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ซ้อนท้าย 3-4 คน รวมถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่ทำให้ไม่ชินทาง ไม่เข้าใจภาษาป้ายจราจร สสส. เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้จากภาคีเครือข่ายนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเชื่อมประสาน สร้างกลไกการทำงานหนุนเสริมกระบวนการการเรียนรู้ให้กับครูสามารถร่วมทำงานกับชุมชน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างกิจกรรมความปลอดภัยทางถนนเกิดต้นแบบด้านวินัยจราจร ส่งผ่านไปยัง ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และคนในชุมชน จนทำให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับแนวทางการวางแผนดำเนินงาน เทศบาลมีดังนี้
1. ทำข้อตกลงร่วมกับผู้ปกครองให้สวมหมวก/คาดเข็ม100% หากไม่ปฏิบัติตามต้องเสียค่าปรับครั้งละ 20 บาทต่อคนครั้ง
2. ชุมชนสร้างแกนนำอาสาสมัครเฝ้า
ระวัง ร่วมกันจัดทำป้ายกำจัดจุดเสี่ยงเอาวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลทำเป็นป้ายบอกจุดเสี่ยงในชุมชน
3. เทศบาลจัดทำเนินชะลอความเร็ว ติดตั้งป้ายจราจร สัญญาณไฟกระพริบ ปีดจุดเสี่ยงอันตรายในชุมชน
4. การเรียนการสอน มุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เรียนรู้ภายในและสถานการณ์จริง ให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน" นายพศินกล่าว
ขณะที่ นางอรชีวา อาศนะ ผู้ชำนาญการประจำศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เป้าหมายในการดำเนินโครงการจะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. ด้านของพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเรารณรงค์ให้ผู้ปกครองและเด็กสวมหมวกกันน็อคโดยในปีที่เราทำเราจะสร้างข้อตกลงร่วมกันกับผู้ปกครองว่า เด็กและผู้ปกครองที่ไม่สวมหมวกกันน็อคจะปรับครั้งละ 20 บาท กลังจากนั้นพฤติกรรมของผู้ปกครองก็เปลี่ยนไปตอนนี้ใส่หมวกกันน็อค 100% ทั้งนี้เงินที่เราปรับได้ในปีนั้นเราจะนำไปซื้อหมวกกันน็อคให้เด็กที่ขาดแคลนเพราะปีที่เราทำนี้บริษัทกลางขายให้ในราคา 99 บาท ซึ่งเราสามารถหาซื้อแล้วก็ให้มอบให้กับเด็กได้ ในส่วนของผู้ปกครองก็จะมีการตีเส้นแบ่งช่องจราจรให้กับเด็ก 2. เรื่องการจัดการจุดเสี่ยง จะมีการออกสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆบริเวณเส้นทางเดินจากบ้านมาถึงโรงเรียนและมีการแก้ไข ซึ่งจะมีจุดเสี่ยงทั้งภายในชุมชนและก็จุดเสี่ยงภายในโครงการ ซึ่งจุดเสี่ยงภายในชุมชนจะมีหมู่บ้านต้นแบบ คือ บ้านสันลมยอย โดยชาวบ้านจะนำถาดเก่า สีเก่า โต๊ะเก่ามาทำเป็นขยะรีไซเคิลมาทำป้ายจราจรไปติดในจุดเสี่ยงที่เทศบาลยังเข้าไม่ถึง
ส่วนจุดเสี่ยงที่อยู่ในโครงการก็จะใช้งบประมาณของเทศบาล ซึ่งเทศบาลให้ความสำคัญ การแก้ไขจุดเสี่ยงภายในโครงการ เช่น การติดกระจกมุมถนน การทำเนินชะลอความเร็ว การติดสัญญาณไฟจราจรกระพริบเหลืองกระพริบแดง เป็นต้น
- 224 views