สว.ตั้งกระทู้ถาม รมว.สาธารณสุข เป็นไปได้หรือไม่ให้ความสำคัญงานทันตกรรม จัดตั้งระดับกรมเพื่อการบริหารดูแลระบบบริการอย่างยั่งยืน ด้าน “ชลน่าน” รับเป็นไปได้ อยู่ระหว่างศึกษาทำกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. หวังบริหารกำลังคน ทำโครงสร้างสอดคล้องงานบริการและ “30 บาทรักษาทุกที่”
เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา นายพิทักษ์ ไชยเจริญ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถามนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีการแก้ปัญหาระบบบริหารจัดการด้านทันตสาธารณสุของไทย ว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาทันตสาธารณสุขไทย มีการดำเนินการอย่างจำกัด การพัฒนาระบบงานน้อยมาก ทำให้ระบบงานในปัจจุบันไม่สามารถสร้างศักยภาพกำหนดนโยบาย หรือวางแผนจัดการปัญหาช่องปากและฟันของทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันอาจส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยวและการรับประทานอาหาร ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยง่าย ทั้งๆที่มีโรคอยู่แล้ว สมควรที่กระทรวงสาธารณสุข ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานราชการระดับกรมขึ้น เพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างยั่งยืน จึงเรียกถามรมว.สาธารณสุข ว่ามีแนวทางการพัฒนาและแก้ปัญหาระบบทันตสาธารณสุขอย่างไร
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบกระทู้วุฒิสภา ว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขดูแลงานทันตกรรม ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีกองบริหารการสาธารณสุข(กบรส.) เป็นผู้ดูแลงานทันตกรรม กำลังคน การจัดบริการ มีสำนักทันตกรรมของกรมอนามัย ดูแลมิติการบริการ การให้ความรู้ การตระหนักรู้ด้านสุขภาพช่องปากและทันตกรรม มีสถาบันทันตกรรมของกรมการแพทย์ ดูแลการบริการตติยภูมิขึ้นไป ดูเรื่องความเป็นเลิศทางทันตกรรม นี่คือโครงสร้างปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการบริการมีผู้เข้าถึงน้อยมาก โดยรับบริการเพียง 26.8% เป็นการรักษา 81.4% ส่งเสริมป้องกัน 18.6% ซึ่งโอกาสการเข้าถึงนับเป็นครั้งได้ร้อยละ 10 เท่านั้น
ด้านผู้ให้บริการ อย่างทันตแพทย์ที่ทำงานอยู่มี 18,094 คน อยู่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเพียง 6,177 คน หรือ 34% นอกนั้นอยู่ในภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลในสำนักงานปลัดกระทรวงฯมี 903 แห่ง เปิดบริการทันตกรรมนอกเวลา 604 แห่ง หรือ 67% มีทันตาภิบาลที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) อยู่ 4,220 คน จากรพ.สต. 9,079 แห่ง ซึ่งส่วนหนึ่งถ่ายโอนไปท้องถิ่นประมาณ 3,264 แห่ง มีทันตาภิบาลถ่ายโอนไป 1,592 คน นี่คือสถานการณ์การรับบริการและผู้ให้บริการ
ประเด็นน่าสนใจคือ งานทันตกรรม ต้องมีทันตแพทย์ มีทันตาภิบาล มียูนิตทำฟัน มีผู้ช่วยทันตแพทย์ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ปัจจุบัน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 45% มีสัดส่วน 1 ทันตแพทย์ 1 ยูนิต 1 ผู้ช่วยทันตแพทย์ นี่คือภาพที่เป็นอยู่
“เมื่อผมเข้ามาเป็นรมว.สาธารณสุข จึงให้นโยบายว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งกระทรวงฯ โดยปลัดสธ.จึงออกแนวทางเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเปิดรับสมัคร รพ.ที่พร้อมเปิดบริการด้านทันตกรรม ซึ่งขณะนี้มี รพ.สมัครแล้ว 79 แห่ง พร้อมวางระบบบริหารจัดการ ด้วยการเร่งสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพช่องปาก โดยสร้างการมีส่วนร่วมเครือข่ายระดับชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิ เพิ่มช่องทางการเข้าถึง พัฒนาข้อมูลข่าวสารต่างๆ แม้รพ.ระดับปฐมภูมิจะถ่ายโอนไปท้องถิ่น แต่ไม่ใช่อุปสรรคในการติดตามกำกับดูแล เพราะผู้รักษาการกฎหมายปฐมภูมิ คือ รมว.สาธารณสุข ก็ติดตามเรื่องมาตรฐานคุณภาพการบริการได้” นพ.ชลน่านกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามีคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปาก โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีรองอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องงานทันตกรรมมาร่วมดำเนินการ ที่สำคัญจะมุ่งเน้นยกระดับการบริการทันตกรรมระดับปฐมภูมิ เพื่อสอดคล้องกับทิศทางพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562
นอกจากนี้ ยังพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สาขาสุขภาพช่องปาก ตลอดจนส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ในการขับเคลื่อน รร.ส่งเสริมสุขภาพ และ รร.ปลอดน้ำอัดลม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สธ.กำลังอยู่ระหว่างการวางแนวทางปรับโครงสร้างดูแลงานด้านทันตกรรม ในระดับกรม เพราะหากทันตแพทย์ได้ดูแลวางระบบการบริการให้ประชาชนด้วยตนเอง เชื่อว่าการบริการประชาชนจะมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความเป็นธรรมและทั่วถึงอย่างแน่นอน สอดรับกับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาทุกที่ได้
“สำหรับความคาดหวังในการปรับโครงสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง เพราะหากยังมีการบริหารจัดการกำลังคนแบบเดิม การบริการประชาชนก็จะหาคำตอบได้ยากเรื่องคุณภาพ จึงตั้งเป้าในการขอแยกตัวออกมาจาก ก.พ. มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเป็นการเฉพาะ มีกฎหมายรองรับ เรียกว่า ก.สธ. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ หากทำกฎหมายเสร็จเป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย โครงสร้างเรื่องงานทันตกรรม และข้อเสนอของสว.ที่ว่าจะแยกเป็นระดับกรมหรือไม่ ซึ่งผมมีแนวคิดนี้เช่นกัน เพราะหากเขาสามารถวางแนวทางดูแลวิชาชีพด้วยตัวเองก็จะทำให้การทำงานสอดรับกับการบริการ และสอดคล้องกับการบริการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้เช่นกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว
อ่านข่าวอื่นๆ:
- “ชลน่าน” ตอบกระทู้สว. แนวทางส่งเสริมมีลูก ดันเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมลดปัญหาทำแท้ง
ขอบคุณภาพจากกลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ วุฒิสภา
- 3405 views