บอร์ดสปสช.อนุมัติให้วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง ภายใต้เงื่อนไขมีความจำเป็นเร่งด่วน หลังพบทารกเสียชีวิตจากการติดเชื้อเพิ่ม และต้องคุ้มค่า จากเดิมวัคซีนฉีดในหญิงท้องอยู่แล้ว แต่เป็นแบบเข็มรวม ส่วนตัวใหม่เป็นชนิดไร้เซลล์ ผลิตโดยคนไทย

 

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) อนุมัติวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (aP) อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ว่า การป้องกันโรคไอกรนนั้น สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยการฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งสถานการณ์โรคไอกรนในปี 2566 นี้ พบว่ามีการระบาดมากขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ และส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขณะที่ หญิงตั้งครรภ์นั้น ปกติจะได้รับวัคซีนไอกรนรวมอยู่ในเข็มของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน ซึ่งอยู่ในสิทธิประโยชน์ของบัตรทองอยู่แล้ว แต่ในการประชุมบอร์ดสปสช. เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทางกรมควบคุมโรคได้เสนอให้มีการจัดซื้อจัดหาวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ เพื่อฉีดในหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย

 

นพ.จเด็จกล่าวว่า บอร์ดสปสช.ได้มีมติว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและสอดคล้องกับนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้มีเด็กเกิดในประเทศไทยมากขึ้นและเด็กจะต้องเกิดรอดแม่ปลอดภัย ประกอบกับสถานการณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันและควบคุมโรค จึงอนุมัติให้วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง ภายใต้หลักการ 2 ข้อ คือ 1.ความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันพบเด็กทารกเสียชีวิตจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และ 2.ความคุ้มค่า เนื่องจากเดิมวัคซีนไอกรนมีฉีดให้ในหญิงตั้งครรภ์อยู่แล้ว แต่เป็นแบบเข็มรวม ส่วนวัคซีนตัวใหม่นี้เป็นชนิดไร้เซลล์ที่ฉีดเฉพาะโรคไอกรน และมีบริษัทผู้ผลิตอยู่ในประเทศไทย จึงเป็นการช่วยหนุนเสริมความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ และเม็ดเงินเหล่านั้นก็จะหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศด้วย

 

เมื่อถามถึงการอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนไอกรนไร้เซลล์ นพ.จเด็จกล่าวว่า การจัดซื้อวัคซีนจะต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยล็อตแรกจัดซื้อจำนวน 408,500 โดส เป็นเงิน 153 ล้านบาท ขณะที่ เป้าหมายของการฉีดวัคซีนคือ หญิงตั้งครรภ์รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีความจำเป็น ส่วนการคำนวณปริมาณการจัดซื้อวัคซีน อ้างอิงโดยใช้ตัวเลขอัตราการเกิดใหม่รายปีเฉลี่ย 4-5 แสนคน ซึ่งหลังจากที่วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์แล้วนั้น ทาง สปสช. ก็จะต้องตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนไอกรนนี้ในทุกปี

 

“หน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยก็จะต้องฉีดวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ให้หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ หรือคนท้องเองก็สามารถขอให้มีการฉีดได้ ซึ่งทางกรมควบคุมโรคก็จะต้องไปทำแผนการกระจายวัคซีนไปในพื้นที่ต่างๆ ให้มีความครอบคลุม เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” เลขาธิการสปสช.กล่าว