สภาการสาธารณสุขชุมชนจัดงานประชุมวิชาการสภาการสาธารณสุขชุมชนระดับชาติ ประจำปี 2566 นำร่องรางวัลนักสาธารณสุขทองคำเป็นปีแรก มุ่งสร้างต้นแบบผู้นำตลาดสุขภาพแห่งอนาคต รับการเปลี่ยนแปลงยุคโลกาภิวัตน์ และสร้างแรงจูงใจดึงดูด บุคลากรคุณภาพลึกถึงระดับชุมชนต่อยอดกิจกรรมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

 

ศาสตราจารย์ ดร.สถิรกร พงศ์พานิช ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ในฐานะประธานการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2566 กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นครั้งแรก ภายใต้ธีม เรื่อง "Interdisciprinary Public Health for Human Well-being and Environment : สู่เส้นทางนักสาธารณสุขทองคำ” ตั้งแต่วันที่ 20 - 22 ธันวาคม 2566 รวม 3 วัน สถานที่ประชุม  Impact Exhibition Center Hall 7 เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติของสภาการสาธารณสุขชุมชน ประจำปี 2566 ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณค่า และเกิดการยอมรับในแวดวงวิชาการและวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ทั้งในหน่วยงานภายในและภายนอกของภาครัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังเป็นการเชิดชูเกียรติให้กับนักสาธารณสุขที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งอุทิศตนด้วยความเสียสละในการพัฒนาต่อยอดและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบบริการสาธารณสุขที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และระดับประเทศ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง มีความโดดเด่น มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ อันเป็นต้นแบบที่ดีให้กับนักสาธารณสุขในประเทศไทย

ซึ่ง นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2566 พร้อมมอบรางวัลนักสาธารณสุขทองคำ พร้อมโล่เชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณให้กับนักสาธารณสุขที่ผ่านเกณฑ์ประเมินและคณะกรรมการตัดสินแล้ว รวมผู้ได้รับรางวัล 26 คน ใน 3 ประเภทรางวัล ประเภทที่ 1 ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ประเภทที่ 2 ด้านการป้องกันโรคและควบคุมโรค และประเภทที่ 3 ด้านการอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม 

ขณะเดียวกัน นายแพทย์ กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์  ได้รับมอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ให้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Interdisciplinary public Health for Human Well-being and Environment : สู่เส้นทางนักสาธารณสุขทองคำ อีกด้วย

ดร.ไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า ในการจัดงานประชุมวิชาการสภาการสาธารณสุขชุมชนระดับชาติ ประจำปี 2566 ครั้งนี้ เป็นบรรยากาศของความร่วมมือที่ดี โดยได้รับเกียรติอย่างสูงจากหน่วยงานทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านสาธารณสุข และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทางสุขภาพต่าง ๆ เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานประชุมวิชาการ ได้แก่ 

1. กระทรวงสาธารณสุข (สธ)

2. กรมควบคุมโรค ซึ่งมี 4 หน่วยงานในสังกัดกรม ได้แก่ 2.1 สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.2 กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2.3 กองโรคไม่ติดต่อ 2.4 กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

4. ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

5. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 

6. กรมควบคุมมลพิษ

7. หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง

8. สถาบันพระบรมราชชนก มีสถาบันในสังกัด ได้แก่ 8.1 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี 8.2 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี 8.3 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น 8.4 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี 8.5 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก 8.6 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง 8.7 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา

9. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

10. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

11. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์

12. คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ

13. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

14. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

15. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

16. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

17. วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

18. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

19. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิบูลสงคราม

20. กลุ่ม Chain Hospital : โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ (สนับสนุนโล่รางวัลเชิดชูเกียรติให้กับนักสาธารณสุขทองคำ รวม 26 ท่าน)

ด้านนางทัศนีย์ บัวคำ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน ในฐานะเลขานุการอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า มุมมองใหม่ กรณีผู้ประกอบวิชาชีพในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ไม่ได้มีเพียงแค่แพทย์และพยาบาลเท่านั้น ในความเป็นจริงของสังคมไทยยังมีผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนด้านสาธารณสุขอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ หมออนามัย ที่มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นมานานนับร้อยปี เรียกขานกันจนชินว่า “หมออนามัย” ซึ่งจะมี บุคลากรในตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าหน้าที่บริหารสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข และเรียกชื่อตามตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป เป็นต้น

เป็นที่ทราบกันในแวดวงสาธารณสุขแล้วว่า ก.พ.มีมติเห็นชอบให้กำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขเพิ่มใหม่ในสายงานวิชาการ ไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 พร้อมประกาศแจ้งเวียนมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข และ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ที่มีความสอดคล้องกันกับโครงสร้างบทบาทภารกิจและอัตรากำลัง ตามหนังสือ ว 8499 ลงวันที่ 29 กันยายน 2566

นางทัศนีย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาการสาธารณสุขชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมวิชาการระดับชาติขึ้นครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีที่นำเสนอผลงานวิชาการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทางวิชาการและวิชาชีพแล้ว ให้มีการนำเสนอความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ การทำงานทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมขยายผลการพัฒนาองค์ความรู้และบทเรียนจากการปฏิบัติหน้าที่ให้บริการด้านสาธารณสุขในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดนักสาธารณสุขสู่ระดับเชี่ยวชาญและระดับทรงคุณวุฒิ โดยจัดนำร่องโครงการรางวัลนักสาธารณสุขทองคำ ปี 2566 ขึ้นเป็นปีแรก เป็นแนวคิดในการส่งเสริมและยกสถานะทางสังคมของวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนในแวดวงทางวิชาชีพสุขภาพและการแพทย์

โดยสร้างกลไกให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมกับทุกเครือข่ายทางวิชาการและวิชาชีพในรูปแบบบูรณาการและเชื่อมโยงถึงกัน ด้วยการนำร่องโครงการรางวัลนักสาธารณสุขทองคำ ปี 2566 ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เป็นต้นแบบวาระผู้นำแห่งตลาดสุขภาพในอนาคต โดยมุ่งเป้าให้สังคมเป็นสังคมสุขภาวะ The Wellness Society หรือ Good Health for Well-being ซึ่งการบริการด้านสาธารณสุข จะเปลี่ยนจากการดูแลผู้ป่วย มาเป็นการดูแลสุขภาพ ย่อมส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อคนในชุมชน อัตราการป่วยและอัตราการติดเชื้อที่ลดลง และนำมาเพิ่มรายได้ให้กับนักสาธารณสุขที่เสียสละอุทิศตนเพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบบริการสาธารณสุขที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่ชุมชนและระดับประเทศ เป็นแนวทางการสร้างประสบการณ์ใหม่ด้านสาธารณสุขให้กับประชาชน การนำผลงานวิจัยมาสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งในรูปแบบของสตาร์ทอัพ (Startup) หรือความร่วมมือระหว่างบริษัทรายใหญ่กับรายเล็ก หรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ หรือการใช้ AI ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการเกิดโรคระบาด เป็นต้น