สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ MOU ความร่วมมือดูแลสุขภาพผู้ประกันตน 10 ล้านคน เข้าถึง “บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” สิทธิประโยชน์ 2 กองทุน ช่วยลดภาวะเจ็บป่วยกลุ่มวัยแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณ  

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการดำเนินงาน และการบริหารจัดการในการบูรณาการจัดระบบบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ระหว่างสำนักงานประกันสังคม และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมผู้แทนสถานพยาบาล เข้าร่วมพิธี ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

นายพิพัฒน์  กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีภารกิจการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับคนไทย “เน้นการป้องกันดีกว่าการรักษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยืนยาว” โดยปี 2566 สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการผลักดันการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ผู้ประกันตน ผ่านโครงการค้นหาความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในพื้นที่เป้าหมายนำร่อง จำนวน 13 จังหวัด มีผู้ประกันตนเข้าร่วมโครงการ 277,654 คน และในส่วนของ สปสช. ให้ความสำคัญกับวัยทำงาน จึงได้กำหนดให้การส่งเสริมสุขภาพเป็นรายการบริการพื้นฐาน โดยการลงนามบันทึกฯ ความร่วมมือของ 2 หน่วยงานในวันนี้ นอกจากลดค่าใช้จ่ายภาพรวมด้านสาธารณสุข ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว ที่สำคัญคือผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมนอกจากรายการตรวจพื้นฐาน ผ่านระบบบริหารจัดการมาตรฐานการรักษาหนึ่งเดียวที่เป็นเลิศ 

รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ 2 หน่วยงานได้บูรณาการความร่วมมือและสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ร่วมกัน ทำให้สามารถดูแลประชาชนได้ครอบคลุม โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่มีจำนวนเกือบสิบล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานในสถานประกอบการ ให้ได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วยชุดสิทธิประโยชน์กลุ่มวัยทำงาน ตั้งแต่การคัดกรองสุขภาพ และเมื่อพบความเสี่ยงจะได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อป่วยก็ได้รับการดูแลรักษาและป้องกันความพิการด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นการดูแลทั้งระบบ และในวันนี้จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือการดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนในบริการสาธารณสุขอื่น ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต 

สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อมุ่งสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย ลดภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ เป็นบริการที่ครอบคลุมให้กับคนไทยทุกคนทุกสิทธิอย่างทั่วถึง รวมถึงผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน แต่ที่ผ่านมาพบว่า การรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในสัดส่วนของผู้ประกันตนอยู่ในอัตราไม่มาก ดังนั้นเพื่อเป็นการร่วมดูแลสุขภาพผู้ประกันตนได้นำมาสู่ “การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ 

สำหรับความร่วมมือ 2 หน่วยงานนี้ สิ่งที่จะดำเนินการ่วมกัน ได้แก่ การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมให้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพประจำปี และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, การสร้างการรับรู้ให้ผู้ประกันตนเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย, การจัดระบบเบิกจ่ายค่าบริการผ่านช่องทางเดียวกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณในการดูแลผู้ประกันตนของ 2 กองทุน เป็นต้น

นายบุญสงค์ กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมุ่งมั่นพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ผู้ประกันตนมีสุขภาพที่ดี เน้นหลักการ “ป้องกันดีกว่ารักษา” สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการรักษาที่มีมาตรฐานตลอดมา และในปี 2567 จากนี้ สำนักงานประกันสังคมพร้อมบูรณาการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพฯ ให้กับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเรื่องส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพและสำนักงานประกันกันคมทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้วัยทำงานมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ยืนยาว ลดความเหลื่อมล้ำ โดยบูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน