ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ เตรียมผลักดันเรื่อง "การส่งเสริมการมีบุตร-มีสถานดูแลเด็กในที่ทำงาน" ให้เป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งเสนอ  "การรักษาภาวะมีบุตรยาก" บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ฯ ชี้! ปัญหาเรื่องการมีบุตรไม่ใช่ด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว ยังมีด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย

วานนี้ 6 ธ.ค. 66 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสัญจรผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนการส่งเสริมเพิ่มเด็กไทยเกิดดี มีคุณภาพ Give Birth Great World รวมทั้งได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เพื่อร่วมพิธีเปิดป้าย "ส่งเสริมการมีบุตร" อ่านข่าว “ชลน่าน” เผยประชุม 25 ธ.ค.ทำแผนส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระชาติ ฝาก อสม.ช่วยจูงใจข้อดีมีลูก ทั้งนี้ดร.นายแพทย์บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้ข้อมูลกับ Hfocus ถึงเรื่องดังกล่าวดังต่อไปนี้

ดร.นายแพทย์บุญฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายกำลังพยายามผลักดันร่างวาระแห่งชาติ ประเด็น "การส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ" เพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่เรารับผิดชอบซึ่งได้ดำเนินการ คือ เรื่องการขยายบริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตร เพื่อขยายบริการการเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยาก ให้มีหน่วยบริการเพิ่มขึ้น และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการในราคาที่ถูกลง 

ทั้งนี้ มาตรการที่เราจะเสนอสู่วาระแห่งชาตินั้น ประกอบด้วย เรื่องการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการมีบุตร เช่น มีนโยบายในที่ทำงาน คือ ให้มีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นให้ลางานไปเลี้ยงดูบุตร มีสถานดูแลเด็กในที่ทำงาน รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆในการดูแลบุตร ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษีช่วยเหลือบุตร การแก้กฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการมีบุตร อย่างเรื่องของกฎหมายอุ้มบุญ เรื่องการเข้าถึงบริการการรักษาภาวะมีบุตรยาก และที่สำคัญคือ เรื่องการขยายหน่วยบริการและการผลักดันเรื่องการรักษาภาวะมีบุตรยากให้เข้าบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

ดร.นายแพทย์บุญฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเบื้องต้นขณะนี้ คลินิกส่งเสริมการมีบุตรมีประมาณ 800 แห่ง จากโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 900 แห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษาด้วยการฉีดเชื้อเข้าไปในโพรงมดลูกมี 32 แห่ง และคาดว่าจะทยอยเปิดตัวเพิ่มมากขึ้น และในส่วนสถานบริการที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผสมเทียม การทำเด็กหลอดแก้ว อาจจะต้องใช้เวลาในการเพิ่มบริการเนื่องจากว่าต้องใช้แพทย์เฉพาะทางและใช้การลงทุนพอสมควร ซึ่งตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขพยายามส่งเสริมให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพได้เปิดบริการตรงนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

"นอกจากนี้ เรื่องการมีบุตรไม่ใช่แค่ประเด็นสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว ยังมีทั้ง ด้านเศรษฐกิจสังคมที่คน รู้สึกว่าถ้ามีลูกต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายให้ประชาชนรู้สึกว่าภาระหนี้ลดลงและมีนโยบายจากภาครัฐมาสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจที่จะแต่งงานและมีบุตรเพิ่มขึ้น"

สำหรับเรื่องการสื่อสารตอนนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะบางคนรู้สึกว่ารัฐไปเรียกร้องให้มีบุตรซึ่งไม่มีการลดภาระอะไรให้เลย ฉะนั้นเราจะพยายามสื่อสารให้เข้าใจ ซึ่งแน่นอนว่าการมีบุตรเป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคลแต่ละครอบครัว ซึ่งภาครัฐเราพยายามลดค่าใช้จ่ายทั้งอำนวยความสะดวกทุกทางเท่าที่ทำได้เพื่อให้รู้สึกว่าการมีบุตรไม่ได้เป็นภาระจนเกินไป และถ้าหากประชาชนมีความมั่นใจแบบนี้อาจจะสามารถให้ตัดสินใจอยากมีบุตรเพิ่มมากขึ้น

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

-  “ชลน่าน” เผยประชุม 25 ธ.ค.ทำแผนส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระชาติ ฝาก อสม.ช่วยจูงใจข้อดีมีลูก

เปิดที่มา ‘อยุธยา-ปลาตะเพียน’ สัญลักษณ์รณรงค์ชวนคนมีลูก

-   อสม.รุกสื่อสาร "ส่งเสริมการมีบุตร" พร้อมขอ "เครื่องมือทางการแพทย์-บัตรอสม." เป็นของขวัญปีใหม่