โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เพิ่มการเข้าถึงบริการ "รับยาใกล้บ้าน ร้านยาใกล้ใจ (Model 3)" รองรับนโยบาย 30 บาท พลัส ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอยนาน ลดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลของรัฐบาลหลายแห่ง มีผู้มารับบริการเพิ่มมากขึ้น ทำให้ใช้เวลาในการรอรับบริการนาน เพื่อลดปัญหานี้ แพทย์ผู้ทำการรักษาจำเป็นต้องมีการนัดผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ เป็นระยะเวลานานขึ้น ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาและการเก็บรักษายามากพอ ซึ่งเสี่ยงต่อประสิทธิภาพการรักษายาเสื่อมสภาพ หรือมีปริมาณยาคงเหลือมาก ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณด้านยาของประเทศเกินความจำเป็น
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตราชธานี ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวพร้อมทั้งเห็นว่าศักยภาพของ “ร้านยาคุณภาพ” ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการ สามารถช่วยตรวจสอบการบริหารยาของผู้ป่วยให้คำปรึกษาและแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมตลอดจนคัดกรองส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสมได้เมื่อจำเป็น โรงพยาบาลนพรัตราชธานี จึงร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน(ประเทศไทย) และเครือข่ายร้านยาจัดทำโครงการ “รับยาใกล้บ้าน ร้านยาใกล้ใจ (Model 3)” รองรับนโยบาย 30 บาท พลัส เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอยนาน ลดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศให้ผู้รับบริการได้ใช้ยาที่มีคุณภาพและยังส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับการประเมินติดตามผลการรักษาทำให้เกิดประสิทธิภาพความปลอดภัยมากขี้น
นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า จัดให้มีคณะทำงานประชุมเพื่อวางแผนจัดทำโครงการและคัดเลือกบัญชียาร่วมกันตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 เป็นต้นมา และได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 มีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจากเขตต่างๆ เช่น
- มีนบุรี
- บึงกุ่ม
- คลองสามวา
- บางกะปิ
- คันนายาว
- ลาดกระบัง
- บางเขน
- ลาดพร้าว
- บางเสาธง
รวม 21 ร้านยา การให้บริการเมื่อแพทย์มีการสั่งจ่ายยาและนัดผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน โรงพยาบาลจะจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยเบื้องต้นจำนวน 2 เดือน และนัดผู้ป่วยรับยาต่อเนื่องที่ร้านยาใกล้บ้าน โดยมีเภสัชกรของโรงพยาบาลฯ ทำการติดตามดูแลเรื่องการใช้ยาและติดตามผลการรักษา ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง สามารถแจ้งอาการและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลฯได้อย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้การตอบรับที่ดีจากผู้มารับบริการ โดยยอดสะสม ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2566 มีผู้สนใจรับยาใกล้บ้านแล้ว จำนวน 1,770 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง ลดขั้นตอนการเข้ารับบริการ และสามารถรับยาได้ในวันเวลาที่สะดวก จากการดำเนินการในช่วงแรกพบปัญหาขาดแคลนร้านยาในบางพื้นที่ จึงได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเป็น 29 ร้านยา ในเดือนธันวาคม 2566 และมีแผนขยายร้านยาเพิ่มเติมต่อไป
- 442 views