รมว.สาธารณสุข เปิดโครงการอบรมนักรบสู้มะเร็ง  Cancer Warriors รุ่นที่ 1 ลดปัญหามะเร็ง 5 ชนิดพบมากสุดในไทย เตรียมขยายทั่วประเทศ  ขณะเดียวกันเดินหน้าตั้งกองทุนมะเร็ง และหารือสิทธิประโยชน์ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วย “แมมโมแกรม”  

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดการอบรมหลักสูตร Cancer Warriors ตอบสนองนโยบายมะเร็งครบวงจร ในทิศทางบทบาทกรมการแพทย์ รุ่นที่ 1  ว่า  โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งได้กำหนด “มะเร็งครบวงจร” เป็นหนึ่งใน 13 นโยบาย ครอบคลุมทั้งการส่งเสริม การป้องกัน การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย การรักษา และการติดตามฟื้นฟูสภาพ โดยจะมีการจัดตั้ง “กองทุนมะเร็ง” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เราเห็นว่าจำเป็นเรื่องของเม็ดเงินที่ต้องใช้ และเราตั้งทีมเชิงรุก ที่เรียกว่า นักรบสู้มะเร็ง Cancer Warrior โดยจะจัดให้มีทุกแห่งเพื่อดำเนินการป้องกัน ตรวจคัดกรอง วินิจฉัยรักษา ฟื้นฟูให้กับประชาชน ที่สำคัญเป็นการร่วมมือระหว่างเขตสุขภาพ และให้ประชาชนเกิดความตระหนักรอบรู้เรื่องสุขภาพ ที่เรียกว่า Health Literacy  ซึ่งในอนาคตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยให้เราทำหน้าที่ง่ายขึ้นได้ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่างๆ การสร้างพฤติกรรมที่ดีป้องกันโรค เป็นต้น

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องโรคมะเร็ง 5 ชนิด มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก อย่างมะเร็งชาย 3 หญิง 2 โดยเฉพาะมะเร็งท่อน้ำดีในผู้ชาย  จากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีพยาธิใบไม้ตับเข้าไปทุกวัน ก็เป็นมะเร็งท่อน้ำดี พบเสียชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญตายในวัยสร้างงาน อย่างอายุ 45-55 ปี ซึ่งตนเคยอยู่ในพื้นที่พบเคสลักษณะนี้ ก็พยายามสื่อสารให้ความรู้ ซึ่งหากเราทำโครงการนี้สำเร็จจะลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า สิ่งจำเป็นสำคัญที่สุด คือ การป้องกัน ต้องให้เข้าถึงการบริการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว อย่างผมเคยได้รับการตรวจสุขภาพ จากการตรวจร่างกายประจำปีพบว่า มีไขมันในเลือดสูง และมีการทำแคลเซียมสกอร์ เพื่อดูหินปูน จนพบว่ามีค่าสูงถึง 47 ดีที่สุดต้องไม่มี ซึ่งต้องกินยา แต่จากการตรวจกลับพบว่า ต้องไปตรวจเพิ่มจนพบก้อน 1.3 ซม.และไปตรวจMRI ตอนแรกบอกว่า 70%เสี่ยงเป็นมะเร็ง ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก เพราะเราอยู่ในวงการนี้อยู่แล้วก็วางแผนรักษา แต่สุดท้ายมาตรวจเพิ่ม ซึ่งจริงๆตอนนั้นไม่มีใครรู้ ตอนนั้นยังเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อมาตรวจอีกครั้งกลับพบว่าไม่เป็นมะเร็ง สิ่งที่อยากบอกคือ หากเราได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสมจะช่วยคนได้มาก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักรบสู้มะเร็งในการให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ และทำอย่างไรให้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองมะเร็ง ป้องกันโรคได้เร็วที่สุด

เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจ "แมมโมแกรม" ฟรี!

นอกจากนี้ ในเรื่องสิทธิประโยชน์การส่งเสริมป้องกันโรคสำคัญมาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีสิทธิประโยชน์ให้ตรงนี้ อย่างการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงโอกาสในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ในการตรวจวินิจฉัย เช่น แมมโมแกรม เมื่อก่อนไม่ได้

“ตอนนี้กำลังพูดคุยกันว่า จะเข้าสู่สิทธิประโยชน์ได้หรือไม่ เพราะเดิมถูกตีความว่า เพื่อการตรวจวินิจฉัยเพื่อการรักษาถึงจะได้สิทธิประโยชน์ แต่จะเป็นการคัดกรองทั่วไปไม่ได้ ขณะนี้กำลังหารือกันว่า การตรวจคัดกรองเป็นเรื่องจำเป็น ตรงนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า มีการจัดหาที่พักให้แก่ญาติที่มาดูแลผู้ป่วยยังโรงพยาบาล ในกรณีที่อยู่ห่างไกล อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราต้องเพิ่มอัตราการรักษาให้หายจากมะเร็งด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีเครือข่ายในการต่อสู้มะเร็ง โดยทีม Cancer Warrior  จะต้องกระจายทุกแห่งทุกจังหวัดในระดับเขตสุขภาพให้ทั่วถึงทั้งหมด โดยเฉพาะ 5 โรคมะเร็งกลุ่มเป้าหมายต้องให้เข้าถึงการรักษาให้มากที่สุด

“สำหรับการจัดอบรม ทีม Cancer Warrior   รุ่น 1 หวังว่าจะดำเนินการตามที่เรามุ่งหวังได้สำเร็จ” นพ.ชลน่าน กล่าว

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

-ส่องผลงาน 2 เดือน “หมอชลน่าน” กับนโยบายควิกวิน “มะเร็งครบวงจร” ใน 100 วัน  

-หนึ่งในพยาบาลวิชาชีพ หวังโครงการอบรม "Cancer Warriors" ช่วยให้ประชาชนสนใจคัดกรองมะเร็งเพิ่มขึ้น