อดีต กก.แพทยสภา-นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข แนะวัดคุณภาพแพทย์ตั้งแต่หลักเกณฑ์รับเข้าศึกษา กสพท และคณะแพทย์ ควรประเมินความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในทุกระบบการคัดเลือก  

การวัด ‘คุณภาพแพทย์’ หรือความสามารถหลังจบการศึกษาที่ดีที่สุดควรเป็นวัดผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้ป่วย แต่การนำผลการรักษามาเปรียบเทียบระหว่างแพทย์แต่ละคนแต่ละสถาบันหรือหลักสูตร แล้วนำไปปรับใช้กับกระบวนการแพทยศาสตร์ศึกษาเป็นเรื่องยาก กระทบต่อความน่าเชื่อถือของคณะแพทย์และความรู้สึกของแพทย์ ทำให้การวัดจากผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้ป่วยมักไม่นำมาใช้ การวัดคุณภาพจึงวัดทางอ้อม คือวัดที่ปัจจัยนำเข้าและกระบวนการผลิตแทน โดยอาศัยหลักคิดว่า ‘วัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่ดี ย่อมได้แพทย์ที่มีคุณภาพ’ ซึ่งปัจจัยนำเข้าและกระบวนการผลิต ได้แก่ ผู้เข้ารับการศึกษา หลักสูตร การสอบ เกณฑ์มาตรฐานด้านแพทยศาสตรศึกษา ทรัพยากรในการผลิต

Ep1: การคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษา 

วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการเข้าใจทฤษฎีและแนวคิดทางการแพทย์ที่ซับซ้อน การใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ยังส่งเสริมทักษะในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา สร้างแพทย์ให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based practice) รู้จักเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อมีข้อบ่งชี้ รู้จักเลือกการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่แสดงว่า นักศึกษาแพทย์ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีมีแนวโน้มสูงที่จะประสบความสำเร็จในการศึกษา

ต้นแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ ประเทศตะวันตก ได้แก่ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทั้งสองประเทศจะมีกระบวนการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาที่จริงจังหลายขั้นตอน เช่น ในอังกฤษเข้าศึกษาแพทย์ได้เมื่อจบระดับมัธยมปลาย (year13) ด้วยหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับ ได้แก่ GCSE, A-Level เป็นต้น และมีผลการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับสูง เช่น ต้องได้เกรด A หรือ A* หากผู้สมัครไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (ไม่จบสายวิทย์) ส่วนใหญ่ต้องเรียนเพื่อปรับพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (foundation course) ก่อน และต้องผ่านการทดสอบความถนัดทางแพทย์ ได้แก่ BMAT UCAT

ในสหรัฐอเมริกาผู้สมัครต้องจบปริญญาตรี (มักเป็นสาขาวิทยาศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ) คณะแพทย์ส่วนมากกำหนดให้ผู้สมัครต้องสอบ medical college admission test (MCAT) ซึ่งส่วนใหญ่ทดสอบพื้นฐานวิทยาศาสตร์ (คะแนนประมาณ 90% จึงผ่านการทดสอบ) เห็นได้ว่าการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาของทั้งสองประเทศ จะคัดผู้ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ดี คือ biology, chemistry, physics และ mathematics ด้วยแบบทดสอบส่วนกลางที่มีมาตรฐาน 

ประเทศไทยมีระบบการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาแพทย์ 4 ระบบ คือ portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) quota (โควตา) admission (รับตรง) และ direct admission (รับตรงอิสระ) เช่นเดียวกับระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS)
ระบบ portfolio, quota และ direct admission ดำเนินการโดยคณะแพทย์เอง มีหลายวิธี ได้แก่ ไม่ต้องสอบคัดเลือก, ไม่กำหนดเกณฑ์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์, คัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น ข้าราชการด้านสาธารณสุข ตัวแทนแข่งขันด้านวิชาการ ทักษะด้านกีฬา ด้านภาษา, นำผลการเรียนระดับมัธยมปลายมาใช้ในการคัดเลือก (GPA, GPAX), นำแบบทดสอบที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในการคัดเลือก เช่น TGAT, BMAT, นำแบบทดสอบความรู้วิทยาศาสตร์ เช่น MCAT มาใช้ แต่ไม่กำหนดคะแนนขั้นต่ำ, ใช้คะแนนขั้นต่ำวิชาวิทยาศาสตร์ในการคัดเลือก แต่ใช้แบบอิงกลุ่ม (T-SCORE), กำหนดคะแนนขั้นต่ำวิชาวิทยาศาสตร์ไว้ต่ำเกินไป 

แต่คุณสมบัติเฉพาะไม่ใช่หลักประกันว่าจะมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีทุกสาขา ควรมีการทดสอบเช่นเดียวกับผู้สมัครทั่วไป, การนำผลการเรียนในระดับมัธยมปลายมาใช้อาจไม่สะท้อนความรู้ที่แท้จริง เนื่องจาก GPA, GPAX แต่ละสถานศึกษามาตรฐานแตกต่างกัน, TGAT คือแบบทดสอบความถนัดทั่วไป และ BMAT คือแบบทดสอบความถนัดทางแพทย์ ประกอบด้วย 3 ส่วน แต่มีส่วนเดียวที่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คือ ส่วนที่ 2 จึงไม่ควรนำคะแนนรวมไปใช้ในการประเมินความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ หากจะนำไปใช้ควรใช้เฉพาะส่วนที่ 2, T-Score เป็นการปรับคะแนนเพื่อใช้ในการคัดเลือกแบบอิงกลุ่ม แต่การคัดเลือกแบบอิงกลุ่มหากกลุ่มที่ทำแบบทดสอบได้คะแนนต่ำเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่มีคะแนนดิบต่ำอาจผ่านการคัดเลือกไปด้วย

ระบบ admission เป็นระบบเดียวที่มีการคัดเลือกจากส่วนกลาง (ป้องกันอคติ) คือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และใช้ข้อสอบกลาง (ลดความแตกต่างของมาตรฐานในการคัดเลือกของแต่ละคณะแพทย์) คือ แบบทดสอบวิชาสามัญ หรือ A-level (ชื่อพ้องกับหลักสูตร A-Level ของอังกฤษ) ที่ออกโดยสสวท. และ TPAT1 (ความถนัดทางแพทย์) ที่ออกโดย กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) มีการทดสอบความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คือ แบบทดสอบวิชาสามัญวิทยาศาสตร์ ของสสวท. และกำหนดคะแนนขั้นต่ำ แต่ยังมีปัญหาจากระบบคิดคะแนน เนื่องจากนำคะแนนวิชา biology, chemistry และ physics ไปรวมกัน และกำหนดคะแนนขั้นต่ำเพียง 30% ของคะแนนเต็ม 

การไม่แยกคะแนนวิทยาศาสตร์แต่ละสาขาทำให้ไม่สามารถทดสอบความรู้เป็นรายวิชา ผู้สอบอาจทำคะแนนได้ดีเพียงวิชาใดวิชาหนึ่งแต่ได้คะแนนต่ำในวิชาอื่น และข้อสอบวิชาสามัญวิทยาศาสตร์ ของสสวท. เป็นข้อสอบปรนัยถึง 75 - 84% ซึ่งทราบกันดีว่าข้อสอบปรนัยนั้นการเดาสุ่มก็อาจได้คะแนนถึง 20-25% การกำหนดคะแนนขั้นต่ำ 30% จึงน้อยเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเกณฑ์คัดเลือกของประเทศตะวันตก คะแนนขั้นต่ำรายวิชาจึงไม่ควรต่ำกว่า 50% ของคะแนนเต็ม 

การประเมินความรู้ อาจใช้ผลการเรียนระดับมัธยมปลายโดยใช้ข้อสอบกลางเช่นเดียวกับ หลักสูตร A-Level ของอังกฤษ หรือข้อสอบส่วนกลางที่ใช้ทดสอบความรู้ระดับมัธยมปลายโดยเฉพาะ เช่น แบบทดสอบวิชาสามัญวิทยาศาสตร์ ของสสวท. หรือ แบบทดสอบที่นานาชาติยอมรับ เช่น MCAT และหากต้องการทดสอบความสามารถด้านอื่น เช่น วิชาสามัญอื่นๆ ความถนัดทางแพทย์ ทางภาษา อาจนำคะแนนด้านนั้นๆ ไปถ่วงน้ำหนักกับคะแนนด้านวิทยาศาสตร์ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำแล้ว

แพทย์เป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง ทั้งยังต้องรับผิดชอบชีวิตมนุษย์ การทดสอบความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของผู้สมัครเข้ารับการศึกษาจึงมีความจำเป็น ดังนั้น สถาบันที่เกี่ยวข้องกับแพทยศาสตรศึกษาควรปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ กสพท และคณะแพทย์ ควรพิจารณาหลักเกณฑ์รับบุคคลเข้ารับการศึกษาให้มีการประเมินความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในทุกระบบการคัดเลือก และแพทยสภาและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ควรกำหนดหลักเกณฑ์การขอเปิดหลักสูตรและคณะแพทย์ให้ครอบคลุมถึงมาตรฐานในการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กสพท เผยหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต ปี 67 สาขาไหนก็สมัครได้

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org