รมว.สาธารณสุข เคลียร์ชัด! มียาบ้า ถือว่าผิดกฎหมายหมด! ไม่ว่ากี่เม็ด จะเป็นผู้เสพ ครอบครอง หรือเพื่อค้า ขอให้เข้าใจ ใจความหลักของกฎกระทรวงฯ ต้องการให้โอกาสผู้เสพได้บำบัดกลับคืนสู่สังคม ตัดวงจรยาเสพติด พร้อมเดินหน้าดันกฎกระทรวงฯ เสนอครม.ปลายเดือนนี้

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประชุมร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกรณีการร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.  ซึ่งที่ประชุมกำหนดว่า หากมียาเมทแอมเฟตามีน หรือ “ยาบ้า” ไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ใช้ในการครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนของการออกกฎกระทรวงฯต่อไปนั้น

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า หลักการเรื่องแรก คือ ผู้ใดมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะเพื่อเสพ เพื่อค้า ถือว่าผิดกฎหมายหมด ไม่ต้องสนใจจำนวนเม็ด  ถ้ามีพฤติกรรมพิสูจน์ได้ว่า ค้า ถือผิดกฎหมายหมด หากมีพฤติกรรมการเสพก็เช่นกัน แม้ไม่มีตัวยาในร่างกาย แต่ตรวจปัสสาวะเป็นสีม่วงถือว่าเสพ มีความผิดหมด เช่น เสพยาบ้า ติดคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท หากครอบครองยาบ้า 1 เม็ด ก็จะมีโทษกำหนดติดคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท แต่ถ้าเพื่อการค้า 1 เม็ด จำคุก 1-15 ปี มีปรับอีก

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า หลักการของกฎหมายนอกจากจะปราบปรามแล้ว แต่มีความเชื่อว่า หากให้โอกาสผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กลับใจและเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาด้วยความสมัครใจ ซึ่งเมื่อทำการบำบัดรักษาจนผ่านเกณฑ์ประเมินเงื่อนไขแล้วจนได้รับการรับรองว่าผ่านการบำบัดรักษามาแล้ว  ถึงจะได้รับการยกเว้นว่าไม่มีความผิด

“ เช่น กรณีผู้ที่มียาบ้า 1 เม็ด ก่อนถูกตำรวจจับก็สมัครใจว่า จะขอเข้ารับการบำบัด ก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาจนได้หนังสือรับรองก็จะไม่มีความผิด แต่หากในระหว่างการบำบัดไป 2 สัปดาห์ และมีการหลบหนี ถือว่ามีความผิด  หรือกรณีตำรวจจับแล้วเพราะไม่สมัครใจรักษาก่อน และมีการครองยาบ้า 5 เม็ด แต่ตำรวจสามารถใช้ดุลยพินิจได้ว่า ให้ไปบำบัดรักษาและผู้นั้นสมัครใจรักษาจนครบกระบวนการ ก็ถือว่าไม่ผิด รวมไปถึงถูกดำเนินคดีส่งฟ้องศาลแล้ว  แต่ถ้าศาลเห็นว่า ควรให้โอกาส และเขาสมัครใจในขณะอยู่ชั้นศาล  อัยการเห็นด้วย ศาลก็สามารถส่งบำบัดรักษาได้ ซึ่งหากผ่านตามเกณฑ์ก็ยุติคดีได้เลย แต่ถ้าไม่ผ่านตามเกณฑ์ นำคดีมาพิจารณาใหม่” นพ.ชลน่านกล่าว

ขอให้เข้าใจใจความหลักของกฎกระทรวงสาธารณสุข

รัฐมนตรีว่าการสธ.กล่าวอีกว่า สังเกตได้เลยว่า ไม่ว่าอยู่ขั้นตอนไหนต่างต้องการให้คนสมัครใจได้เข้าบำบัดรักษา เพราะเชื่อว่าการบำบัดรักษาจะตัดวงจรการค้ายาเสพติดได้ดีที่สุด ที่สำคัญเมื่อผ่านการบำบัดรักษาจะมีการฟื้นฟูร่างกายจิตใจ และฟื้นฟูสภาพทางสังคม เมื่อผ่านการบำบัดรักษาแล้วก็จะเข้าสู่ค่ายบำบัดทางด้านสังคม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  ส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติในสังคมได้ขั้นตอนเหล่านี้ถึงเป็นใจความหลักของกฎกระทรวงสาธารณสุข 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตนได้รับมติจากคณะกรรมการฯในการออกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาปลายเดือนนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นชอบหลังจากนั้น ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะลงนามเพื่อออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการบังคับใช้ต่อไป