เปิดข้อมูล สบยช.เผยบำบัดผู้เสพยาบ้าร่วมยาอื่นๆ พุ่งสูงขึ้น รอบ 10 เดือน บำบัดไป 2,035 คน ด้าน "หมอบุรินทร์" เผยรักษาสำเร็จ หรือเสพซ้ำ ขึ้นกับหลายปัจจัย รับตั้งแต่เปลี่ยน "ผู้เสพเป็นผู้ป่วย" เข้าถึงการรักษาเยอะขึ้น ชี้บำบัดผู้เสพอายุน้อย กระบวนซับซ้อนกว่า
นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงการบำบัดผู้ติดยาเสพติดจากแนวทางเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยภายในงาน "สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่รพ.ศรีธัญญา ว่า จากข้อมูลการศึกษา คาดว่ามีผู้ป่วยยาเสพติด 2 - 2.5 ล้านคน การเข้าถึงระบบการดูแลรักษา ส่วนหนึ่งเข้าสู่ระบบ รพ.มีประมาณเกือบ 1 แสนกว่าคน ส่วนที่เหลือเป็นการทำงานโดยการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่เป็นกระบวนการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ หลายฝ่าย ทั้งนี้ จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นผู้เสพหรือผู้ขายก็จัดอยู่ในกระบวนการที่จะต้องดูแลบำบัดรักษาเช่นกัน
บำบัดจะสำเร็จหรือไม่ หรือกลับมาเสพซ้ำ ขึ้นกับหลายปัจจัย
ส่วนการบำบัดจะสำเร็จหรือไม่ หรืออัตรากลับมาเสพซ้ำ ขึ้นกับหลายปัจจัย คือ 1.การเข้าถึงบริการบำบัดที่รวดเร็วหรือไม่ 2.เสพหนัก เสพนาน มีอาการทางจิตหรือไม่ ถ้าไม่มีปัจจัยเหล่านี้โอกาสหายเร็วมากขึ้น 3.แรงสนับสนุนของเพื่อน คือ ชุมชน คนรอบตัว คนใกล้ตัว ใกล้ใจ มีการสื่อสารหรือมีรูปแบบการดูแลอย่างไรให้รู้สึกปลอภัย 4.มาตรการทางกฎหมายและสังคม ทำอย่างไรให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่กระตุ้นให้กลับมาเสพซ้ำ และ 5.การติดตามต่อเนื่องโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุขและชุมชนช่วยดูแล
"การเสพหนัก เสพนาน เป็นปัจจัยสำคัญทำให้มีอาการทางจิต ซึ่งมีประมาณ 30% หรืออาจมากกว่านั้น สำคัญคือปริมาณยาที่เสพ ซึ่งยังมีข้อถกเถียงว่าเท่าไร แต่โดยหลักก็คือเริ่มเสพมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว ประเภทของสารเสพติด ที่เราเจอบ่อย คือ ยาบ้า ส่วนตัวอื่นๆ ก็เจอในสัดส่วนที่ลดหลั่นลงมา โดยยาบ้า 1 เม็ด สารสำคัญคือ เมทแอมเฟตามีน แต่การตอกยาบ้าไม่มีมาตรฐาน อาจจะมีสารตัวอื่นเข้ามาด้วยในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อยิ่งเสพนานก็จะยิ่งมีการสะสมของสาร และทำให้เกิดการหลั่งของสารที่ผิดปกติ" นพ.บุรินทร์กล่าว
ตั้งแต่เปลี่ยน "ผู้เสพเป็นผู้ป่วย" รับบริการรักษาเยอะขึ้น
นพ.บุรินทร์กล่าวว่า นับตั้งแต่เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ก็มีเข้ามารับบริการเยอะขึ้นมาก น่าจะมาจากการมีเครือข่ายทำให้เกิดกระบวนการกระตุ้นเกิดความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาบ้าปัจจุบันพบในกลุ่มอายุน้อยกว่า 12 ปี และ 15 ปีมากขึ้น การป้องกันไม่ให้กลับมาเสพซ้ำ สิ่งสำคัญต้องสร้างความรอบรู้ให้คนรอบข้าง ชุมชน เพื่อน ไม่ใช่แค่ว่าเป็นอันตราย แต่รู้ว่าใช้สารเสพติดแล้วมีผลกระทบอะไรบ้าง ปัจจัยอะไรทำให้เกิดอันตราย เช่น ใช้จนติด ใช้จนมีอาการทางจิต เสพหนัก เสพนาน อาการเบื้องต้นคือ มีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว หวาดระแวง สำหรับช่องทางการรักษาปัจจุบันมีมากขึ้น ถ้ารู้ช่องทางตรงนี้จะเกิดการนำส่งได้
ดังนั้น ชุมชนต้องมีความรู้ตรงนี้ มีกลไกการดูแลด้วยชุมชนและภาคีภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนต้องเชื่อมกัน แม้ตอนนี้อาจจะเชื่อมไม่สนิท แต่อนาคตคาดหวังว่าจะเชื่อมมากขึ้น มีการติดตามระยะยาว เพราะยาเสพติดต้องใช้เวลา บางคนอาจจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูก็ต้องมีกระบวนการตรงนี้รองรับ ซึ่ง สธ.กำลังทำอยู่ อย่างการตั้งมินิธัญญารักษ์ในทุกจังหวัด การดูแลนั้นไม่ใช่จิตแพทย์ไปนั่งดูแลทุกราย แต่ใช้ระบบการดูแลแบบผสมผสาน เช่น การดูแลทางไกลและให้มีบุคลากรด้านอื่นๆ เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วย มินิธัญญารักษ์มี Concept คือการดูแลผู้ติดยาเสพติดระยะยาว มีบุคลากรด้านต่างๆ เช่นพยาบาล สหวิชาชีพ เป็นแบบบูรณาการมากขึ้น
การบำบัดรักษา ควรมีกลไกเอกชนเข้าช่วย
ถามว่าต้องใช้ พ.ร.บ.สุขภาพจิตหรือกฎหมายอื่นๆ มารองรับการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยหรือไม่ นพ.บุรินทร์กล่าวว่า ยังต้องพูดคุยกัน ทั้งการดูแลคนอายุน้อยที่พบเสพมากขึ้น ต้องมีระบบรองรับอย่างไร กระบวนการดูแลฟื้นฟูต้องทำอย่างไร และสุดท้ายกฎหมายจะเอื้อให้เกิดการฟื้นฟูภาคเอกชนมากน้อยแค่ไหน ด้วยกลไกราคาและอื่นที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นจะมีกระบวนการมารองรับมากขึ้นไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียว ตอนนี้มีเอกชนเข้ามาทำเรื่องนี้อยู่ ถ้ามีกลไกสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะเป็นปัจจัยให้เกิดกระบวนการฟื้นฟูที่มากขึ้น ดูแลได้มากขึ้น
บำบัดผู้เสพอายุน้อย กระบวนซับซ้อนกว่า
ถามว่าการบำบัดในเด็กแตกต่างกับคนอายุมากหรือไม่ นพ.บุรินทร์กล่าวว่า คนอายุน้อยการเข้าถึงบำบัดรักษาต้องมีญาติ ซึ่งมีกระบวนการที่ซับซ้อน เพราะญาติก็เป็นคนติดยาเหมือนกัน เรื่องกระบวนการคุ้มครองสิทธิเด็กกลุ่มนี้อาจต้องคุยกันให้ลึกขึ้น เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ
สบยช.เผยข้อมูลบำบัดผู้เสพ พบว่างงานเยอะสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสถาบันบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ตั้งแต่ ม.ค. - ต.ค. 2566 มีผู้ใช้ยาบ้าร่วมยาอื่นเขาบำบัดรักษา 2,035 คน อายุน้อยสุด 0-14 ปี 6 คน อายุ 15-19 ปี 72 คน อายุ 20-24 ปี 211 คน อายุ 25-29 ปี 468 คน อายุ 30-34 ปี 489 คน โดยอาชีพที่พบพฤติกรรมเสพยาบ้ามากสุด คือ ว่างงาน 879 คน รับจ้าง 794 คน ผู้เข้ารับการบำบัดครั้งแรก 1,238 คน มีการบำบัดซ้ำ 797 คน
- 1102 views