คิกออฟฉีดวัคซีน HPV หญิง 11-20 ปี เริ่ม 8 พ.ย. นี้ ที่ร.ร.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และทุกเขตสุขภาพอย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 แห่ง และอีกกลุ่มอายุ 18-20 ปีช่วงธ.ค.จนถึงม.ค.67 ตามสถานประกอบการ สธ.ย้ำมีศักยภาพให้บริการวันละ 10,000 โดสครบ 1 ล้านโดส ใน100 วันตามแผนควิกวิน ด้านสปสช.เผยงบค่าฉีดวัคซีนให้ 20 บาทต่อโดส แต่จ่ายไปก่อนแล้ว 3 ปี ขอหน่วยบริการใช้งบเดิม

 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุ 11-20 ปี ที่จะคิกออฟในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ว่า วันนี้ตนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2566  ได้มีการติดตามความพร้อมฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ตามนโยบายเร่งรัด 100 วัน ซึ่งบ่ายวันเดียวกันได้มีการลงนามประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า สำหรับการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจำนวน 1 ล้านโดส  จะดำเนินการฉีดให้แก่นักเรียนหญิงชั้น ป.5 - อุดมศึกษาปีที่ 2 รวมถึงผู้หญิงอายุ 11 - 20 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา  แบ่งออกเป็น กลุ่มแรก เป็นการฉีดวัคซีนนักเรียน (School based) ในสถานศึกษา เริ่มวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2566 แต่จะคิกออฟวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงเรียนไทรน้อย จ.นนทบุรี และทุกเขตสุขภาพอย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 แห่ง และกลุ่มที่สอง เป็นการฉีดกลุ่มอายุ 18 - 20 ปี ช่วงธันวาคม 2566 - มกราคม 2567 นอกจากนี้ จะมีการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกสำหรับหญิงอายุ30-60 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายมะเร็งครบวงจร ภายใต้กรอบแนวคิด “รู้เท่าทัน ป้องกันได้ ตรวจพบรักษาไว ปลอดภัยจากมะเร็ง” และสอดคล้องกับสโลแกน “สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง” หรือ Women Power No Cancer

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การจัดสรรและจัดส่งวัคซีน แบ่งเป็น วัคซีนจาก สปสช. ให้บริการกลุ่มเป้าหมายตามสิทธิประโยชน์ ชั้น ป.5 ม.1-2 เป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (Cecolin) และ 4 สายพันธุ์ (Gardasil) จำนวน 784,368 โดส ทยอยจัดส่งถึงพื้นที่ตุลาคม - ธันวาคม 2566 และวัคซีนจากกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นวัคซีนบริจาคจากสภากาชาดไทย 400,000 โดส และวัคซีนสำรองส่วนกลาง 200,000 โดส ให้บริการเก็บตกในกลุ่มเป้าหมายตามสิทธิประโยชน์ที่วัคซีน สปสช.ไม่เพียงพอ และกลุ่มนอกสิทธิประโยชน์ อายุ 18-20 ปี เริ่มจัดส่งเดือนตุลาคม 2566 และยังมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก สำหรับผู้หญิง อายุ 30-60 ปี

เมื่อถามว่า สำหรับกลุ่มนอกสิทธิในอายุ 18-20 ปี อยู่นอกสถานศึกษาจะมีเกณฑ์คัดเลือกให้เข้ามารับบริการอย่างไร นพ.ชลน่าน  กล่าวว่า กลุ่มนี้จะกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ อย่างวัยแรงงาน  ซึ่งสธ.มีระบบรองรับในพื้นที่ และสถานประกอบการสามารถแจ้งในพื้นที่หรือหน่วยบริการว่า ต้องการรับการฉีดวัคซีนได้

“เรามีความพร้อมมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนเอชพีวี แม้ตั้งเป้า 100 วันฉีด 1 ล้านโดส หรือเฉลี่ยวันละ 10,000 โดส  แต่เราพร้อม สถานพยาบาลของเรามีความพร้อมทั้งหมด และขอย้ำว่า วัคซีนที่เราฉีดเป็นสายพันธุ์ที่เป็นไปตามองค์การอนามัยโลกกำหนดโดยใช้ 2 โดส ห่างกัน 6 เดือนถึง 1 ปีจากโดสแรก” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงศักยภาพในการฉีดวัคซีนเอชพีวี 100 วัน 1 ล้านโดส ว่า ศักยภาพการฉีดวัคซีนมีเพียงพอ  โดยจะแบ่งเป็น 1.มีโรงเรียนเป็นฐาน มีการนัดหมายกับโรงเรียนและจัดทีมไปฉีด และ2.ฉีดนอกโรงเรียน เช่นสถานพยาบาล  อย่างโรงงานหากมีความประสงค์จะฉีดจำนวนมาก ก็จะจัดทีมไปฉีดให้ได้เช่นกัน

เมื่อถามว่างบประมาณที่ใช้ในการฉีดวัคซีนเอชพีวีครั้งนี้เป็นจำนวนเท่าไหร่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช.ได้สั่งวัคซีนเอชพีวีไปทั้งสิ้น 1.9 ล้านโดส โดสละ 389 บาท รวมงบกว่า 600 ล้านบาท

เมื่อถามว่างบค่าฉีดวัคซีนให้บุคลากรมีเท่าไหร่ต้องจ่ายเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า เดิมทีเรามีงบส่วนนี้ให้ทุกปี โดยฉีดวัคซีนเฉลี่ยปีละ 4 แสนโดส ปีละ 2 ครั้ง คือ ปีละ 8 แสนโดส ให้โดสละ 20 บาท  แต่ 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ฉีดวัคซีนเอชพีวี แต่สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยบริการไปก่อนแล้ว 2.4 ล้านโดส  ดังนั้น เงินฉีดวัคซีนเอชพีวีครั้งนี้ 1 ล้านโดสขอให้ใช้จากงบเดิมที่สปสช.เคยจัดสรรให้ไปก่อน กระทั่งหากไม่พอ หรือมีการฉีดนอกเหนือจากนี้จะมีการจัดสรรใหม่ลงไป