ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เห็นชอบแผนเร่งรัดโอนงบฯ ในระหว่างใช้งบฯ ไปพลางก่อน โดยจะเร่งโอนเงินงวดแรกของปีงบฯ 2567 ซึ่งเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว ภายใน 2 สัปดาห์ของเดือน ต.ค. 2566 ส่วนค่าบริการจ่ายตามผลงานบริการ จะเร่งรัดโอนงวดแรกภายใน 24 ต.ค. เพื่อให้หน่วยบริการในระบบบัตรทอง มีความมั่นใจในการให้บริการ ปชช. 
 
วันที่ 8 ต.ค. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแผนการเร่งรัดการโอนงบประมาณในระหว่างการใช้งบประมาณไปพลางก่อน โดยให้มีผลดำเนินการต่อได้ทันที เพื่อให้หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความมั่นใจในการให้บริการกับประชาชน 
 
ทั้งนี้ หลักการโอนงบประมาณทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) จะเร่งโอนเงินงวดแรกของปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว ภายใน 2 สัปดาห์ของเดือน ต.ค. 2566 ส่วนค่าบริการจ่ายตามผลงานบริการ จะเร่งรัดโอนงวดแรกภายใน 24 ต.ค. 2566 และหลังจากนั้นการโอนเงินจะเป็นไปตามประกาศใน 2 เรื่อง ประกอบด้วย  
 
1. ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ 2. ประกาศ สปสช. ที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และที่สำคัญ 

ทั้งนี้ เนื่องจากระหว่างที่ สปสช. ทำคำของบประมาณ กว่าที่งบประมาณ ปี 2567 จะได้รับอนุมัติออกมาคาดว่าน่าจะประมาณเดือน พ.ค. 2567 จึงจำเป็นต้องมีการของบประมาณมาใช้ในกรณีสิทธิประโยชน์ใหม่ หรือตามนโยบายรัฐบาล ซึ่ง สปสช. จะมีงบประมาณอยู่ส่วนหนึ่ง และจะต้องเร่งรัดปิดบัญชีงบประมาณภายใน 30 ต.ค. 2566 และในเดือน พ.ย. 2566 ที่จะมีการประชุม บอร์ด สปสช. ครั้งต่อไป จะใช้ตามประกาศข้อ 8.4.11 ในกรณีที่ปิดบัญชีงบประมาณปี 66 แล้วมีงบประมาณคงเหลือ สามารถนำมาใช้ในปีงบประมาณ 2567 ได้ ตามที่บอร์ด สปสช. อนุมัติ 

สำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นบริบทพื้นที่พิเศษ ให้เร่งรัดการปิดบัญชีงบประมาณปี 2566 และเร่งรัดการจัดสรรเงิน โดยค่าใช้จ่ายที่คงค้างอยู่ให้นำไปรวมในปีงบประมาณ 2567 ทั้งนี้ สปสช.ได้โอนเงินจากการเร่งรัดให้หน่วยบริการในพื้นที่ กทม.แล้วเมื่อวันที่ 4 ต.ค.66

 
 
เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อยู่ระหว่างการจัดทำ จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน และทางบอร์ด สปสช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 ให้ สปสช. เร่งเตรียมดำเนินการดังกล่าว  
 
สำหรับกรอบงบประมาณที่ใช้ไปพลางก่อนนี้ ทางสำนักงบประมาณได้ให้วงเงินมา 66..65% ตามกรอบวงเงินของปีงบประมาณ 2566 เป็นจำนวนเงิน 94,841 ล้านบาท และได้อนุญาตให้ทาง สปสช. สามารถปรับเกลี่ยได้ทั้ง 12 รายการในการจัดสรรเงินค่าบริการให้กับหน่วยบริการ ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นว่าต้องเป็น 66.65% ทุกรายการ และจะมีบางรายการที่ได้เกือบ 100% เช่น ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร และเสี่ยงภัยฯ ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนเป้นค่าเสื่อมของหน่วยบริการ ฯลฯ 
 
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนงบประมาณที่อาจน้อยกว่า 66.65% เช่น เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ค่าบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิที่มี่แพทย์ประจำครอบครัว ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และโรคเรื้อรัง ฯลฯ โดยเป็นเรื่องของรอบการโอนงบประมาณ หรือข้อมูลการใช้จ่าย จึงอาจทำให้บางรายการมีสัดส่วนที่น้อยกว่ากรอบวงเงินที่กำหนดไว้ 
 
อย่างไรก็ตามรายการที่งบประมาณแถวหลักคือ ค่าบริการทางการแพทย์ เอชไอวี โรคเอดส์ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ซึ่งเป็นวงเงินงบประมาณที่ค่อนข้างจะเยอะ อันนี้ สปสช. ไม่ได้มีการปรับลด โดยอยู่ที่ 63-67%  

 
“การจะโอนเงินเร็วได้ภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ต.ค. สำหรับงบเหมาจ่ายร่ายหัว เราได้มีการคำนวณเงินในระดับ CUP ซึ่งวงเงินนี้จะร่วมเงินของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนด้วย ฉะนั้นวงเงินตรงนี้ก็จะต้องมีการทำข้อตกลงเพื่อจะได้โอนเงินเร็วขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว