กรมการแพทย์โดย รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ห่วงใยสายตาลูกน้อยจากคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น อีกทั้งยังนิยมใช้เป็นสื่อหนึ่งในการเพิ่มทักษะต่างๆให้แก่เด็ก การใช้อุปกรณ์เหล่านี้มีข้อแนะนำเพื่อให้เด็กไม่เกิดปัญหาที่จะตามมาโดยเฉพาะปัญหาสุขภาพตา เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้งเคืองตา และตามัว สายตาสั้นก่อนวัย รวมถึงภาวะจิตสังคมขาดสายใยผูกพันระหว่างคนในครอบครัวได้
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 66 นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นหลายคนอาจเคยประสบปัญหาในอาการเหล่านี้ เช่น
- ปวดเมื่อยตา
- ตาแห้ง
- ตาล้า
- แสบตา
- เคืองตา
- ตาพร่ามัวโฟกัสได้ช้าลง
- ตาสู้แสงไม่ได้
- ปวดกระบอกตา
- ปวดศีรษะ
บางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย และส่งผลต่อการนอนหลับได้ หากมีอาการที่กล่าวข้างต้นร่วมกับการใช้งานจากหน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน และหากแบ่งเวลาการทำงานหรือเวลาเรียนออนไลน์ไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะดวงตาที่ต้องรับภาระจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอมือถือเป็นเวลานานๆ จึงอาจเป็นปัญหาต่อดวงตา อาการที่พบจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้งเคืองตา ตามัว หากเกิดอาการเหล่านี้ควรพบจักษุแพทย์
นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มว่า เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญจากการที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตใช้งานไม่ยากมีซอฟต์แวร์น่าใช้ดึงดูดการใช้งาน นอกจากนี้ผู้ปกครองยังนิยมใช้เป็นสื่อหนึ่งในการเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้แก่เด็กหรือเพื่อให้เด็กไม่รบกวน โดยอาจขาดความรู้เท่าถึงต่อโทษที่จะตามมาโดยเฉพาะปัญหาสุขภาพตาพบว่าเด็กมักใช้เวลาวันละประมาณ 7 ชั่วโมงไปกับสื่อเอนเตอร์เทนอีกด้านของสติปัญญาการพัฒนาทางอารมณ์และสังคมพบว่าการใช้สื่อต่าง ๆ เป็นเวลานานส่งผลต่อความตั้งใจเรียนที่โรงเรียนลดลง พฤติกรรมการกินการนอนผิดไปและเกิดโรคอ้วนตามมา ปัญหาทางตาที่พบจากการใช้สื่ออุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้งเคืองตา ตามัว และเสี่ยงสายตาสั้นก่อนเวลาอันควร
พญ.พันธราภรณ์ ตั้งธรรมรักษ์จักษุแพทย์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ยังมีแสงสีฟ้าที่เป็นแสงที่พบได้จากแสงแดด มือถือ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ แสงสีฟ้ามีความกระเจิงแสงทำให้เกิดความไม่สบายตาในการมองและมีผล ต่อการนอนหลับยากขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่า แสงสีฟ้าก่อโรคต่อดวงตาชัดเจน เพราะฉะนั้นแว่นตาตัดแสง สีฟ้าอาจจะมีประโยชน์ในแง่ช่วยให้มองภาพสบายตามากขึ้น มีคำถามว่าลูกน้อยควรใช้เวลาหน้าจอเท่าไหร่ต่อวัน จักษุแพทย์แนะว่าหากเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปีไม่ควรใช้เวลาหน้าจอเลย ส่วนเด็กอายุ 1-2 ปีใช้เวลาหน้าจอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และในช่วงอายุ 3-4 ปี ใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และในช่วงมากกว่า 5-13 ปีใช้เวลาหน้าจอไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับคำแนะนำในการดูแลลูกน้อยในขณะใช้หน้าจอ คือ
- ควรพักสายตาเมื่อลูกน้อยใช้หน้าจอ โดยใช้หลัก 20-20-20 โดยพักจากหน้าจอทุก 20 นาที พักสายตาโดยมองวัตถุที่ไกลออกไปประมาณ 20 ฟุต และพักเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที
- ปรับแสงสว่างให้เพียงพอ วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ห่างประมาณ 25 นิ้ว ปรับหน้าจอความเข้ม ความสว่างให้พอดี
- การใช้น้ำตาเทียม อาจมีประโยชน์สำหรับกรณีมีอาการตาแห้งร่วมด้วย
- ควรพบจักษุแพทย์ หากลูกน้อยมีอาการกระพริบตาบ่อย มองภาพไม่ชัด มีตาเข ปวดศีรษะ
ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพกายที่ดี ลดความเสี่ยงสายตาสั้น และเพื่อให้เกิดการพัฒนาของสติปัญญา ทางจิตใจ อารมณ์ และสังคมแนะนำให้เด็ก ๆ มีกิจกรรมกลางแจ้งหรืออ่านหนังสือ ที่สำคัญสมองเด็กมีพัฒนาการที่เร็วมากในช่วงอายุ 2-3 ขวบปีแรก จึงควรให้เด็กๆได้เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ดีกว่าจอคอมพิวเตอร์ วิธีสังเกตถ้าเด็กในปกครองมีอาการเช่น เด็กอาจจะบ่นปวดตา หรือแสบตา ตาแดง กระพริบตาบ่อย หรือเอามือขยี้ตา ควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 473 views