เสียงสะท้อน "แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว" เผยเห็นด้วยนโยบายสุขภาพปี 67 "ดิจิตอลสุขภาพ-การแพทย์ปฐมภูมิ" เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากถ้าสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพได้ ย้ำหัวใจหลักคือ “การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ” ชี้! อยากเห็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวและประชาชนได้รับบริการอย่างเท่าเทียม 

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้แถลงอย่างเป็นทางการว่าที่ประชุมเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ในระยะสั้นและเร่งด่วน(Quick Win 100 วัน)ที่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้โดยเร็วและเห็นผล เพื่อให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเร่งรัดดำเนินการ ภายใต้ 13 นโยบายนั้น อย่างนโยบาย "ดิจิทัลสุขภาพ" เป็นโครงการบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกโรคได้ทุกที่ ถือเป็นหนึ่งนโยบายที่น่าสนใจว่าประชาชนจะได้รับบริการ หรือ หน่วยบริการสามารถให้บริการได้สะดวกมากขึ้นหรือไม่...? รวมถึงเมื่อรัฐบาลประกาศยกระดับ 30 บาทพลัส สถานพยาบาลจะต้องปรับเปลี่ยนเตรียมความพร้อมอย่างไร...

เมื่อเร็วๆนี้ นพ.อนุชิต หิรัญกิตติ นายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.วารินชำราบ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า จาก 13 นโยบายสุขภาพปี 67 ที่น่าสนใจคือ "ยกระดับ 30 บาทพลัส" ซึ่งประเด็นหลักคือ ดิจิตอลสุขภาพและการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการให้บริการสุขภาพอย่างไร

มองว่าปัจจุบันระบบสุขภาพไทยมีความหลากหลายในแง่ของการเข้าถึง ทั้ง สิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมุ่งเน้นแต่บัตรทองหรือสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะในอดีตการเกิด 30 บาท เนื่องจากคนจน ประชาชนทั่วไป เข้าถึงการรักษาแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง ฉะนั้นระบบบัตรทองหรือ 30 บาทในช่วงแรกพยายามจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนจดจำได้มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน 30 บาทมีการพัฒนามาไกลและได้รับการก้าวหน้าอย่างดีในแง่ที่ว่า สิทธิประโยชน์ต่างๆการเข้าถึงการดูแลรักษาในหลายๆเรื่อง

30 บาทพลัส จะเป็นความเหลื่อมล้ำหรือไม่?

ซึ่งเมื่อพูดถึง 30 บาทพลัส จึงเกิดคำถามเหมือนกันว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำหรือไม่? เพราะกลายเป็นว่า 30 บาท ล้ำหน้าเกือบทุกสิทธิแล้ว มีความคิดเห็นว่าระบบสุขภาพไทยควรเป็นระบบเดียวจริงๆเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนควรจะได้มาตรฐานเดียวกันการเข้าถึงและการรักษาอยู่ในรูปแบบเดียวกัน โดยจะสามารถลดการทำงานของบุคลากรและความซ้ำซ้อนต่างๆ เพราะปัจจุบันจะเห็นได้ว่าบุคลากรที่ทำงานในภาครัฐเริ่มมีความยากลำบากในการปฏิบัติงานมากขึ้นและออกจากระบบไปทำงานเอกชนมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการทำงานที่ซ้ำซ้อน

"อย่างไรก็ตาม การพัฒนา 30 บาทพลัส มีเรื่องที่น่าสนใจคือ “ดิจิตอลสุขภาพ” ที่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะปัจจุบันบัตรประชาชนจะสามารถรู้สิทธิการรักษาต่างๆได้ทุกที่แล้ว แต่ขาดเพียงข้อมูลสุขภาพมากกว่าที่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้"

หัวใจหลักที่ต้องคุยกันคือ “การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ”

ฉะนั้น หัวใจหลักที่ต้องคุยกันคือ “การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ” เพราะถ้าใช้คำว่าบัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่ซึ่งปัจจุบันก็ไปได้ทุกที่อยู่แล้ว ไปเช็คได้อยู่แล้วว่าสิทธิอะไรรักษาได้ที่ไหน แต่ในนั้นจะไม่มีข้อมูลสุขภาพเชื่อมโยงกับหน่วยบริการเลย อยากให้รัฐบาลสนใจในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมากกว่า ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากในระบบสุขภาพไทยที่ยังไม่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่เริ่มมีหลักประกันสุขภาพ เพราะแต่ละแห่งพัฒนาเอง ซื้อเอง มีทั้งการเช่า และเขียนโปรแกรมขึ้นมาเอง หรือแม้แต่เวชระเบียนในอดีตหมอเขียนเองและสรุปใส่กระดาษ การส่งต่อเอกสารจำเป็นต้องมาคัดลอกอีกครั้ง เและให้คนไข้ถือไปยื่นตามหน่วยบริการหรือไปยื่นปรึกษาหมอเฉพาะทาง รวมทั้ง หมอต้องเขียนเอกสารการส่งต่อรพ.สต.ไปยังโรงพยาบาล ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ 

บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่..

หากจะปรับระบบให้บัตรประชาชนใบเดียวใช้ได้ทุกที่ เรื่องสำคัญคือการเชื่อมข้อมูล ตัวอย่างเช่น เงินฝากในธนาคารปัจจุบันเราเห็นเพียงคนเดียวแต่คนอื่นไม่สามารถเห็นได้ ก็เหมือนกับข้อมูลสุขภาพที่คนไข้ไม่อยากเปิดเผย ซึ่งถ้าหากคนไข้ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลได้ การไปรับการรักษาไม่ว่าจะที่ไหนก็ตามโรงพยาบาลแห่งนั้นจะสามารถดึงข้อมูลได้จากทุกจุดในเครือข่ายระบบสุขภาพ ซึ่งเดิมฐานข้อมูลมีอยู่ในเวชระเบียนออนไลน์ของเกือบทุกโรงพยาบาลอยู่แล้ว  

"ฉะนั้นต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ อย่างรัฐบาลที่เข้ามามีนโยบาย 13 นโยบายนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก ถ้าสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพได้ เพราะหน่วยบริการค่อนข้างมีความพร้อมในแง่ของฐานข้อมูล" 

นพ.อนุชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นคือ "การวางรากฐานระบบข้อมูลในหน่วยบริการ" โดยเฉพาะ หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ (Primary care) ส่วนใหญ่เราจะใช้โปรแกรมโปรแกรมระบบงานสถานีอนามัยและหน่วยบริการปฐมภูมิ(JHCIS)  ซึ่งไม่ได้ออนไลน์กับใครฉะนั้นการเชื่อมโยงตรงนี้อาจจะมีอุปสรรคในหลายอย่างที่จะต้องไปบริหารจัดการในเชิงของข้อมูล เพื่อที่จะดึงข้อมูลให้เชื่อมโยงกับบัตรประชาชนได้  เพราะยิ่งปัจจุบันคุณไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชาชนไม่สามารถเดินทางได้สะดวก

อย่างเช่น ในต่างจังหวัด เวลาที่ผู้สูงอายุเดินทางมารับบริการจะมีข้อจำกัดเยอะมาก ประชาชนจึงมีการมาใช้หน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นการรักษาการตรวจต่างๆข้อมูลสุขภาพก็จะอยู่ในหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งถ้าเป็นโปรแกรมที่หน่วยปฐมภูมิใช้ซื้อร่วมกับโรงพยาบาลข้อมูลจะเชื่อมโยงกันง่าย แต่ถ้าเป็นโปรแกรมฟรีที่ใช้โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะเกิดการเชื่อมโยงยาก หากรัฐบาลแก้ไขในส่วนตรงนี้ทำให้เชื่อมโยงได้จริงและปรับปรุงข้อมูลให้เป็นเวชระเบียนออนไลน์ได้ จะถือเป็นการวางรากฐานของระบบข้อมูลสาธารณสุขไทยได้ ซึ่งเป็นการตอบรับและสอดคล้องกับนโยบายเพื่อให้นโยบายเกิดความสำเร็จได้ด้วย

"มองว่าโรงพยาบาลแต่ละที่มีความพร้อมเตรียมรับนโยบายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าผู้บริการมีความพร้อมหรือไม่ ว่าจะดึงข้อมูลเชื่อมโยงสุขภาพให้เชื่อมโยงกันให้ได้อย่างไร มั่นใจว่าในเชิงเทคโนโลยีเชื่อว่าสามารถทำได้อยู่แล้ว" นพ.อนุชิต กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง 

“หมอชลน่าน” กับนโยบาย ‘สร้างขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุข’ ทำได้จริงแค่ไหน..อย่างไร (คลิป)