สถาบันยุวทัศน์ ฯ ยื่นแนวทางแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนต่อสภาฯ ชี้คนรุ่นใหม่ 1 ใน 4 ติดบุหรี่ไฟฟ้า กรุงเทพฯ จังหวัดเดียวติดบุหรี่ไฟฟ้า 32.3%
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพเยาวชน เปิดเผยว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงไปเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 นั้น ตนได้เข้ายื่นหนังสือต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ, นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ, นายวรวงศ์ วรปัญญา สส.ลพบุรี, น.ส.ประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย และ นส.ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ สส.อุบลราชธานี เพื่อประกอบเป็นข้อมูลพิจารณาผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า
ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเด็นพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ปี 2566 (สำรวจระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566) ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ยท. สำรวจเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี 61,688 คน พบว่าภาพรวมของเยาวชนทั่วประเทศ 25% เป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
นายพชรพรรษ์ กล่าวต่อว่า หากพิจารณาข้อมูลเชิงลึกรายเขตสุขภาพ พบ 5 เขตสุขภาพที่เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าภาพรวมระดับประเทศ ได้แก่ เขต 9 ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34.58% เขต 3 กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34.45% เขต 4 สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34.2% เขต 8 อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34% และเขต 13 กรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไฟฟ้า 32.3% ทั้งนี้ แม้กรุงเทพฯ จะอยู่ในลำดับที่ 5 แต่เขตสุขภาพที่ 13 มีเพียงกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดเดียวเมื่อเทียบกับเขตสุขภาพอื่น ๆ ที่มีหลายจังหวัดและมีประชากรอยู่ในจำนวนไม่น้อย
“ยท. จึงมีข้อเสนอมายังสส.ทุกท่านเพื่อพิจารณา 1.คงมาตรการการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย 2.ปราบปรามการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง 3.เร่งรัดการสร้างความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งนี้สำหรับมิติทางเศรษฐกิจหากมองว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีจากการขายบุหรี่ไฟฟ้าได้จำนวนมาก เรื่องนี้อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะในข้อเท็จจริงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 บุคคลที่จะทำการซื้อได้จะต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่กรณีบุหรี่ไฟฟ้าเกิดการระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าที่ลักลอบขายให้เด็กและเยาวชน จึงเป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่เข้าระบบการจัดเก็บภาษี (บุหรี่ไฟฟ้าเถื่อน) จากกรณีนี้จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เป็นจำนวนมาก นอกจากส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปตลอดชีวิต” นายพชรพรรษ์ กล่าว
นายพชรพรรษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสาเหตุหลักของการเข้าถึงยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ของเด็กและเยาวชนอีกด้วย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยท. ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนก่อนได้รับโทษคดียาเสพติด 300 คน อายุเฉลี่ย 17 ปี พบเคยสูบบุหรี่มวน 95.4% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 84.5% และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 30.5%
หากจัดลำดับสารเสพติดที่ใช้ พบว่า 80.7% เริ่มใช้บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรกและ 76% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่น ๆ โดยยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดคือ ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1% รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5% ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สาระเหย 8.9% และยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี เห็ดขี้ควาย สารระเหย 5.5%
- 600 views