2 รมต.สาธารณสุข ส่งมอบนโยบายบุคลากรสังกัดกว่า 5 แสนคนยกระดับ “30 บาทพลัส” เน้น 5 ประเด็นหลักใน 13 เรื่อง ทำให้ได้ใน 100 วัน Quick Win เห็นผลเชิงประจักษ์ ทั้งโครงการพระราชดำริ – บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่- สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร - นำร่องสร้างรพ.120 เตียงเขตดอนเมือง - สถานชีวาภิบาลดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้สูงวัย” พร้อมเสนอครม.ควิกวินของสธ.สัปดาห์หน้า
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 กันยายน ที่กรมสนันบสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. ประชุมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2567 ภายใต้แนวคิด "พี่เล่าให้น้องฟัง รวมพลัง แล้วไปกันต่อ" ซึ่งมีผู้ร่วมเข้าประชุมจำนวนมากทั้งในที่ประชุม และผ่านวีดีโอคอนเฟอเร็นซ์จากสถานพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) หน่วยงานในสังกัดทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ รวมบุคลากรที่ปฏิบัติทั้งหมดราว 5 แสนคน
เดินหน้างานสาธารณสุขไทยติด 1 ใน 5 ระดับโลก
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งที่ท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งตนเอง ในฐานะรมว.สาธารณสุข และรมช.สธ. คาดหวังคือ คนไทยสุขภาพดี ครบ 4 มิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ ปัญญา และสุขภาพทางสังคม หรือโซเชียลเฮลธ์ โดยในฐานะผู้กำกับนโยบาย ซึ่งสุขภาพสังคม สุขภาพปัญญา มีผลต่อสุขภาพบุคคลโดยรวมอย่างมาก เรื่องนี้ตนให้ความสำคัญมาก ยิ่งเวทีโลกได้รับการยอมรับมาก ซึ่งจากการทำงานของทุกท่าน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับการยกย่องระดับโลกอันดับ 6 ในการเฝ้าระวังควบคุมโรค และยังเป็นระดับ 6 ในเรื่องเมดิคัลทัวร์ลิสซึ่ม ดังนั้น หากเรามีแผนปฏิบัติการรองรับมากขึ้น เชื่อว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงที่เกี่ยวข้อง มิติสุขภาพจะได้รับการยอมรับและติด 1 ใน 5 อย่าง การกำจัดวัณโรค ในปี 2573 ต้องสิ้นไปจากประเทศไทย หากเราจัดการได้ภายใน 1-2 ปี ตัวชี้วัดที่ติดตัวแดงว่า เรายังไม่ถึงพร้อม จะลดลงไปได้ รวมไปถึงการลดอุบัติเหตุต่างๆ ด้วย
Quick Win 100 วันเร่งรัด 5 เรื่อง
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับ Quick Win 100 วันที่จะเร่งรัดให้เห็นผลลัพธ์โดยเร็วมี 5 เรื่อง จาก 13 ประเด็น คือ 1.โครงการพระราชดำริ โดยคัดกรองมะเร็งในผู้ต้องขังทุกคน พัฒนา รพ.สมเด็จพระยุพราชและรพ.เฉลิมพระเกียรติเป็นรพ.อัจฉริยะต้นแบบ และสุขศาลาพระราชทานผ่านการรับรองคุณภาพทุกแห่ง รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไตรมาส 2 ทั้งแว่นตาผู้สุงอายุ 72,000 อัน ผ่าตัดต้อกระจก 7,200 ดวง ฟันเทียม 72,000 คน ออกหน่วยพื้นที่ห่างไกล 720 อำเภอ ดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ 72,000 รูป และอาคารผู้ป่วยนอกเขตเมืองเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 72 แห่ง
2.ดิจิทัลสุขภาพ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ นำร่อง 4 เขตสุขภาพ 3.สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร โดยมี Care D+ Team ในหน่วยบริการทุกระดับ 4.รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล โดยจัดตั้ง รพ. 120 เตียงในเขตดอนเมือง และ 5.สถานชีวาภิบาล จัดตั้งจังหวัดละ 1 แห่ง Hospital at Home จังหวัดละ 1 แห่ง และคลินิกผู้สูงอายุทุก รพ.
นพ.ชลน่าน อธิบายถึงนโยบายประเด็นหลักๆ ว่า เราต้องดำเนินการทุกมิติในเรื่องการบริการสุขภาพ ทั้งตั้งแต่เกิด โตมาในทุกช่วงวัย จนอายุมากและเสียชีวิตจากไปอย่างเป็นสุข จากที่ตนเคยทำงานที่อ.ปัว ก็จะพบว่า มีบุคคลหนึ่งที่ต้องมีในหมู่บ้าน อย่าง คนไม่มีเสื้อผ้าใส่ อย่างที่อ.ปัว จ.น่าน เราจะพบคนกลุ่มหนึ่งที่ขาดสารไอโอดีน ในท้องถิ่นจะเรียกว่า โรคเอ๋อ และจะมีคนสูงอายุลักษณะนี้เดินตามพื้นที่จำนวนมาก โดยก่อนที่ตนจะออกจากปัว ปี 2543 เราจะพบคนสูงอายุป่วยเยอะมาก โดยสมัยนั้นจะตรวจเจอ และเติมไอโอดีนเข้าไป เพื่อป้องกันโรค จนทุกวันนี้สามารถพัฒนาตรวจคัดกรองให้เด็กแรกเกิดได้ถึง 24 โรค ดังนั้น นโยบายเรา เด็กเกิดใหม่จะได้รับการคัดกรองเพิ่มเป็น 40 กลุ่มโรค หากเราดูแลลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ช่วงวัยทอง คือ 2 ปีและ 5 ปี โดยเราจะมีนโยบายส่งเสริมการมีลูก
ส่งเสริมการมีลูก พร้อมจัดปัจจัยเอื้อสภาพปัจจุบัน
“การส่งเสริมการมีลูกนั้น เราจะดูตั้งแต่เกิด เมื่อโตขึ้นมาก็จะมีงานอนามัยโรงเรียน สิ่งต่างๆเราทำดีแล้ว แต่เราจะเติมเต็มเข้าไปอีก โดยสิ่งหนึ่งที่จะผลักดัน คือ จะดูปัจจัยเงื่อนไขทางสังคมที่เอื้อต่อนโยบาย เพราะสภาพเศรษฐกิจสังคม เป็นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ รวมไปถึงเศรษฐสถานะ คุณภาพชีวิต ความมีความจน เราจำเป็นต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ เพิ่มอัตราการเกิดของเด็กคุณภาพ คลินิกส่งเสริมการมีบุตร 1 จังหวัด 1 แห่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ในเรื่องสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งสำคัญ การจัดการยาเสพติดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เสพคือผู้ป่วย มีการแบ่งกลุ่มอาการ และจะมีศูนย์ธัญญารักษ์ทุกจังหวัด มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด” นพ.ชลน่าน กล่าว
Hospital at Home จังหวัดละ 1 แห่ง
รัฐมนตรีฯ กล่าวอีกว่า สถานชีวาภิบาล จะเป็นหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเป็นสุข แต่เราจะดูแลผู้สูงอายุโดยรวมให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงด้วย ซึ่งจะมีสถานชีวาภิบาลต้นแบบประกาศออกมาภายใน 100 วัน และจะมีจังหวัดละ 1 แห่ง จัดตั้ง Hospital at Home จังหวัดละ 1 แห่งและจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุทุกโรงพยาบาล ส่วนพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ทุรกันดาร เกาะ เราจะไม่ทิ้งพวกเขา อย่างใกล้กรุงเทพฯ แต่มีพี่น้องต่างชาติมาใช้แรงงาน เราต้องดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันโรค โดยจะมีการขึ้นทะเบียนเบิกจ่ายเรียลไทม์ ลงทะเบียนเพิ่มการเข้าถึงบริการในกลุ่มประชากรเฉพาะ เป็นต้น
เดินหน้า Cancer Warrior ทุกจังหวัด
“การดูแลประชาชนโดยรวม ปัญหาหนักสุดคือ โรคไม่ติดเชื้อมีมากถึง 80% อย่างโรคมะเร็ง เรามีนโยบายกำหนดแล้วภายใน 100 วัน จะฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือเอชพีวี ขยายอายุ 11-20 ปี ในผู้หญิง จริงๆผู้ชายก็ฉีดได้ แต่วัคซีนมีจำกัด เราจะให้ผู้หญิงก่อน นอกจากนี้ จะมีเรื่องมะเร็งครบวงจร อย่างการคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ 1 แสนคน และป้องกันการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี และจะรณรงค์ Cancer Warrior ทุกจังหวัด” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นโยบาย“ยกระดับ 30 บาทพลัส” เป็นชื่อนโยบายโดยจะมีการใช้ดิจิทัลสุขภาพมายกระดับผ่าน บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ด้วยความสะดวก นัดหมอรับยา ไม่ต้องรอนาน โดยใช้ระบบดิจิทัลมารองรับ ซึ่งจะมี 200 รพ.อัจฉริยะทั่วประเทศด้วย จริงๆ การพัฒนารพ. เราให้ความสำคัญกับบุคลากรคนทำงาน แม้จะอยู่ด่านหน้า กองหลังอย่างไร ทุกระดับให้ความสำคัญหมด ตนประกาศเป็นนโยบายเติมขวัญกำลังใจให้บุคลากรทุกกลุ่ม ทุกสายวิชาชีพ ไม่ว่าอยู่ส่วนหน้า ส่วนกลาง กองหลัง จะได้รับการดูแล ได้รับการสนับสนุนการทำงาน ขณะนี้เรามีสถาบันพระบรมราชชนก เป็นหน่วยผลิตบุคลากร สอดรับรัฐมนตรีช่วยฯ จะผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งภายใน 10 ปี จะมีแพทย์ประจำครอบครัวลงไปในชุมชน
ค่าตอบแทนพี่น้องสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ
“ขวัญกำลังใจพี่น้องเรา ทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า ภาระงาน การมีส่วนร่วมในเรื่องการดูแลตัวเอง การบริหารจัดการต่างๆ ผมหวังมากว่า พวกเราจะได้รับโอกาส และมาช่วยกันทำงาน ขอบคุณสำหรับชมรมต่างๆ ที่มารองรับวิชาชีพ แม้ไม่มีกฎหมาย ทั้งชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมแพทย์ชนบท ต้องขอบคุณพวกท่านที่มาร่วมขับเคลื่อนกัน แต่แน่นอนว่า ท้องเราไม่เหมือนขา ทุกคนต้องกินต้องอยู่ เมื่อชมรมของท่านต้องทำงานเพื่อวิชาชีพ อะไรก็ตามที่มีข้อจำกัด เราจะเข้าไปดูแลทั้งหมด” นพ.ชลน่าน กล่าว
Care D+ Team หน่วยบริการทุกระดับ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
โดยนโยบายสร้างขวัญกำลังใจ ก็จะมีหลายๆอย่าง ทั้งการมี Care D+ Team ในหน่วยบริการทุกระดับ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีเรื่องบรรจุพยาบาล 3 พันตำแหน่ง กำหนดตำแหน่งพยาบาลชำนาญการพิเศษ แพทย์ลาเรียนได้รับเงินเดือนระหว่างลา อย่างไรก็ตาม บุคลากรเรามีกว่า 5 แสนคน แม้จะมีเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยแบ่งเบาภาระงานได้บ้าง แต่เราก็ยังต้องให้บริการ ให้การรักษาพยาบาล
เส้นทางแยกตัวออกจาก ก.พ.เพื่อการบริหารบุคลากรเอง
“เราอยู่ภายใต้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ซึ่งดูแลทุกระบบ และจากนโยบายจำกัดกำลังคนกระทบพวกเรามาก แต่โชคดีที่เรายังมีเงินบำรุง เงินนอกงบประมาณ ไม่มีตำแหน่งก็จ้างชั่วคราว จ้างรายวัน รายเดือน สิ่งเหล่านี้เราจะเอาเหตุผลไปเสนอต่อ ก.พ. เพื่อขอให้มี ก.สธ. เป็นของเราเอง มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของเราเอง เพื่อจะได้บริหารจัดการของเราเอง ก็จะพยายามดำเนินการและให้ออกมาเป็นกฎหมายภายในปี 2568” รัฐมนตรีฯ กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประกาศ 13 ประเด็น จะนำเสนอครม.ประกาศเป็น Quick Win เป็นกระทรวงแรก หากทันอังคารหน้า ตนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.สัปดาห์หน้าทันที โดยควิกวินคือแผนปฏิบัติที่มีผลทันตาเห็น เป็นที่ประจักษ์จับต้องได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนไทยสุขภาพดี มีความมั่นคั่ง ประเทศไทยสุขภาพดีโดยรวม
“หมอชลน่าน” รับเรื่องผลิต 3 หมอส่ง รพ.สต. 1 แห่ง ของรมช.สาธารณสุข
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ กล่าวว่า ตนพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบาย เพื่อยกระดับบริการสุขภาพสู่อนาคตสาธารณสุขไทย วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการระดมสรรพกำลังและทรัพยากร ร่วมกันคิดและขับเคลื่อนสาธารณสุขไทยทั้งระบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ ให้เกิดการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนแข็งแรงทุกช่วงวัย ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการผลิตและพัฒนาให้มีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียงพอต่อการให้บริการสุขภาพที่ดี มีคุณภาพสำหรับประชาชนทุกคน
“นอกจากนี้ ได้เสนอเรื่องขับเคลื่อนแพทย์ประจำ รพ.สต.ให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยให้มีแพทย์ 3 คนต่อ 1 รพ.สต. ซึ่งท่านรัฐมนตรีฯ รับเรื่องนี้ในการขับเคลื่อนร่วมกัน” รัฐมนตรีช่วยฯ กล่าว
ขณะที่ นพ.ชลน่าน กล่าวถึงนโยบายท่านรัฐมนตรีช่วยฯ ในการขับเคลื่อ 3 หมอในรพ.สต. ว่า เป็นความมุ่งหวังทุกครั้งที่ท่านรัฐมนตรีช่วยฯ พูดถึงนโยบายนี้ เพื่อให้การบริการประชาชน ซึ่งตอบได้ว่า เมื่อมีนพ.วิชัย เทียนถาวร จะทำให้เกิดขึ้น โดยจะเป็น 3 หมอไปดูในระบบสุขภาพปฐมภูมิ
สำหรับ 13 ประเด็นยกระดับ 30 บาทพลัส
1.โครงการพระราชดำริทางด้านสาธารณสุข
2.เพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง รพ. กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล ทั้งการบริหารเตียง ใช้ทรัพยากรร่วมกันทุกภาคส่วน ใช้รูปแบบรัฐร่วมเอกชน จัดตั้ง รพ.แห่งใหม่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง เป็นต้น
3.สุขภาพจิต/ยาเสพติด มีแผนกจิตเวช มีหอผู้ป่วยจิตเวชที่พร้อมให้บริการ มีศูนย์ธัญญารักษ์ทุกจังหวัด ให้บริการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านทางระบบเทเลเมดิซีน
4.มะเร็งครบวงจร คัดกรองรักษาอย่างรวดเร็ว ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในเพศหญิง และมะเร็งท่อน้ำดี ตับ ปอดในเพศชาย ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยการจัดตั้งกองทุนมะเร็ง และจัดตั้งทีมเชิงรุก CA Warrior เพื่อลดป่วยลดตาย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
5.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ถือเป็นภารกิจสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงของระบบสุขภาพ โดยสนับสนุนบุคลากรทุกคนทุกระดับ ให้มีความก้าวหน้า มั่นคง อยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการประชาชนด้วยความสุข ที่สำคัญคือ การสื่อสารรูปแบบใหม่กับผู้ป่วย ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อความเข้าใจของผู้รับบริการ
6.การแพทย์ปฐมภูมิ เพิ่มความครอบคลุมการดูแลที่บ้านและชุมชน พัฒนาระบบนัดหมายพบแพทย์ ตรวจเลือด รับยาในหน่วยบริการใกล้บ้าน เสริมสร้างอนามัยโรงเรียนให้เข้มแข็ง และพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล
7.สาธารณสุขชายแดน พื้นที่เฉพาะ และกลุ่มเปราะบาง จะเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ชายแดนชายขอบ พื้นที่เฉพาะ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ มอร์แกน กลุ่มไร้รัฐ และกลุ่มเปราะบาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน
8.สถานชีวาภิบาล พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward) จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รองรับสังคมผู้สูงอายุและลดภาระบุตรหลาน
9.พัฒนา รพ.ชุมชนแม่ข่าย มีระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ เพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยและรักษาทั้ง CT Scan/ICU จัดให้มี Mobile Stroke Unit เพื่อลดการส่งต่อ
10.ดิจิทัลสุขภาพ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ และพัฒนาเป็น รพ.อัจฉริยะ One ID Card Smart Hospital ให้บริการสุขภาพยุคใหม่ ตรงความต้องการของประชาชน เข้าถึงได้ง่าย
11.ส่งเสริมการมีบุตร โดยผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพิ่มอัตราการเกิดของเด็กที่มีคุณภาพ สร้างความเข้าใจการมีบุตรเมื่อพร้อม สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม “มีลูก มีแต่ได้”
12.เศรษฐกิจสุขภาพ สร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) “หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืน” ในทุกจังหวัด พัฒนาสู่ศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง ดูแลสุขภาพครบวงจร ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
13.นักท่องเที่ยวปลอดภัย ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร สถานที่ ผู้ให้บริการ ระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคให้ทันสมัย ทันเวลา และง่ายต่อการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีเกิดโรคระบาด เพิ่มบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับดูแลผู้ป่วยวิกฤตอย่างครอบคลุม เป็นหลักประกันความปลอดภัย ให้ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว
- 5800 views