ปลัดสธ.ขานรับนโยบายนายกฯ แก้ไขปัญหายาเสพติด เผยปัจจุบันมีผู้ป่วย 1.9 ล้านคน แบ่งดูแล 3 กลุ่ม “สีแดง-สีเหลือง-สีเขียว” เดินหน้า Quick Win 100 วัน ทำทะเบียนผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดเสี่ยงสูงก่อเหตุรุนแรง จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ทั่วประเทศ พร้อมขยายระบบบำบัดผ่านเทเลเมดิซีนใน 6 เดือน เสนอตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ซี 8 และกำหนดกรอบอัตรากำลังนักจิตวิทยาคลินิก
เมื่อวันที่ 18 กันยายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี มีดำริชัดเจนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ชักชวน จูงใจให้เข้ารับการบำบัดรักษา และให้การช่วยเหลือเพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้ จึงนับเป็นบทบาทสำคัญที่ สธ.ขับเคลื่อนมาต่อเนื่อง มีสถาบันบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เป็นสถาบันเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และรพ.ธัญญารักษ์ 6 แห่งในภูมิภาคร่วมดูแล และรพ.ในสังกัดสำนักงานปลัดฯ และกรมสุขภาพจิตเปิดวอร์ดดูแลด้านจิตเวชและยาเสพติดโดยเฉพาะ
ตั้งศูนย์คัดกรองทั่วประเทศ 9,852 แห่ง แบ่งดูแลผู้ป่วย 3 กลุ่ม
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ได้รายงานที่ประชุมถึงระบบบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยยาเสพติดในประเทศไทยมีประมาณ 1.9 ล้านคน มีการตั้งศูนย์คัดกรองทั่วประเทศ 9,852 แห่ง ทำหน้าที่คัดกรองและแบ่งการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง อาการรุนแรง หรือผู้ติดยาเสพติด มีประมาณ 2% หรือ 38,000 คน มีสถานพยาบาลกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์ 27 แห่ง ดูแลแบบผู้ป่วยในระยะยาว 3-6 เดือน มีศักยภาพรองรับประมาณ 3,500 ราย เมื่ออาการดีขึ้นจะจัดเป็นกลุ่มสีส้ม มีสถานฟื้นฟูฯ ของกองทัพและกรมการปกครอง 61 แห่ง และได้เปิดมินิธัญญารักษ์ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้การดูแลอีก 42 แห่ง มีศักยภาพรองรับประมาณ 20,000 คน
2.ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ มีประมาณ 24% หรือ 4.56 แสนคน มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปดูแลแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในระยะสั้น 120 แห่ง และระดับปฐมภูมิคือโรงพยาบาลชุมชนดูแลเฉพาะผู้ป่วยนอก 935 แห่ง ทั้งหมดมีศักยภาพรองรับ 120,000 ราย
3.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด มีประมาณ 74% หรือ 1.4 ล้านคน จะบำบัดยาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีประมาณ 10,000 แห่ง และเมื่อทุกกลุ่มอาการดีขึ้น จะมีศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง ดูแลเพื่อคืนคนดีสู่สังคม
Quick Win ทำทะเบียน คัดกรอง บำบัดรักษาและฟื้นฟู ‘ผู้ป่วยยาเสพติด’
ปลัดสธ.กล่าวอีกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส โดยมี 12 ประเด็น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องจิตเวช/ยาเสพติด มี Quick Win ในระยะ 100 วัน ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยจะจัดทำทะเบียน คัดกรอง บำบัดรักษา และฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ทั่วประเทศ
เสนอตำแหน่งพยาบาลซี 8 “มินิธัญญารักษ์” 42 แห่ง กำหนดอัตรากำลังนักจิตวิทยาคลินิก
นอกจากนี้ เร่งรัดจัดตั้ง 4 สหายและมินิธัญญารักษ์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะเสนอกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษในโรงพยาบาลที่เปิดมินิธัญญารักษ์ 42 แห่ง และกำหนดกรอบอัตรากำลังนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อรองรับการดำเนินงาน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานบำบัดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐานให้ครอบคลุมทุกตำบล/ชุมชนทั่วประเทศ ร้อยละ 50 ส่วนในระยะ 6 เดือน จะใช้เทเลเมดิซีนและปรับระบบบำบัดให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมาย พัฒนา System Manager และ Care Manager ในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติด และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลผู้ป่วย Long Term Care และผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว
- 2148 views