สปสช. เยี่ยมชมบริการ ‘Telemedicine-Home ward’ ที่ดำเนินการโดย รพ.ขลุง ซึ่งเป็นการเชื่อม 4 รพ.สต. ช่วยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองกว่า 500 คนที่อยู่ห่างไกลได้เข้าถึงบริการสุขภาพ แถมช่วยลดแออัดในหน่วยบริการ ลดการครองเตียงใน รพ. เป็นตัวอย่างของโรงพยาบาลชุมชน ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมการทำงาน เพิ่มการเข้าถึงของประชาชนที่ยากลำบากในการเข้าถึงโรงพยาบาล
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่ไปยัง จ.จันทบุรี เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และบริการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน (Home ward) ให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลขลุง โดยมี นพ.พรมมินทร์ ไกรยสินธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขลุง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บุคลากรการแพทย์ของโรงพยาบาลให้การต้อนรับ
นพ.พรมมินทร์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลขลุงได้จัดบริการสุขภาพที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เกาะ เดินทางเข้าถึงโรงพยาบาลได้ลำบาก ค่าใช้จ่ายสูงมาก ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล ระหว่างโรงพยาบาลขลุง และโรงพยาบาลส่งเสริมาสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ 4 แห่ง ประกอบด้วย รพ.สต.บางชัน รพ.สต.เกาะจิก รพ.สต.บ่อเวฬุ และ รพ.สต.โชคดี โดยเชื่อมต่อระบบจากห้องตรวจของโรงพยาบาล มายัง รพ.สต. เพื่อให้แพทย์สามารถให้บริการกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางอื่นๆ
นอกจากนี้ รพ.ขลุง มีการให้บริการร่วมกับ รพ.สต. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดบริการดูแลผู้ป่วยในที่ปกตินอนที่โรงพยาบาล แต่มีเงื่อนไขที่ด้านสุขภาพและข้อจำกัดการนอนที่โรงพยาบาลไม่สะดวก เพื่อให้ไปดูแลรักษาที่บ้านแทนโรงพยาบาล สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ รวมถึงโรคอื่นๆ และ รพ.รับค่าใช้จ่ายจาก สปสช. โดยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล สามารถมารักษาตัวต่อเนื่องที่บ้านได้ โดยจะมี 3 หมอเข้ามาช่วยดูแล คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยบาลขลุง) ที่ดูแลผู้ป่วยร่วมกัน
“ประชากรกลุ่มเป้าหมายใน 4 ตำบลนี้มีประมาณ 500 คนที่เป็นผู้ป่วยในแบบ Home ward ซึ่งจากการดำเนินการจนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยได้รับการตรวจโดยแพทย์ 154 คน ผลที่ได้รับคือช่วยลดการส่งต่อจาก รพ.สต. มายังโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่าย และเวลาในการเดินทาง อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนผู้มารับบริการที่คลินิกโรคเรื้อรังในโรงพยาบาล” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขลุง กล่าว
นพ.พรมมินทร์ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลขลุงได้พัฒนาบริการสุขภาพ ด้วยการยกระดับการให้บริการเพื่อความสะดวกต่อประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทั้งการพบแพทย์ทางไกล โดยคนไข้สามารถรับบริการเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ที่ รพ.สต. หรือมีพยาบาลไปให้บริการเทเลเมดิซีนที่บ้านผู้ป่วย การส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ การส่งยาให้ผู้ป่วยผ่านทาง อสม. รวมไปถึงให้ญาติรับยาแทนหรือรับยาที่ รพ.สต. ใกล้บ้าน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการบริการสุขภาพลักษณะนี้ ยังคงมีอุปสรรคการดำเนินงาน เช่น ต้องจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเอง ซึ่งทาง สปสช. ได้ประสานให้ทาง รพ.ของบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นให้ได้รับอุปกรณ์มาให้บริการประชาชนได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาระบบซอฟต์แวร์ยังไม่เสถียร การเชื่อมต่อกับระบบ HIS ยังไม่สมบูรณ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมหรือไม่เสถียรในบางพื้นที่ รวมทั้งบริการเทเลเมดิซีนก็ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถตรวจร่างกายจริงได้ จึงอยากให้ สปสช. ช่วยในการสนับสนุนระบบซอฟแวร์ หรือระบบกลางสำหรับจัดบริการเทเลเมดิซีน
ด้าน รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บริการเทเลเมดิซีนเป็นนโยบายที่ สปสช. ให้การสนับสนุนและมีบริการนี้ตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหลังจากที่ผ่านการระบาดใหญ่ไปแล้ว สปสช. ยังสนับสนุนให้มีการต่อยอดบริการเหล่านี้ ดังจะเห็นได้ว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ขยายผลจากการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบเทเลเมดิซีนมาเป็นการดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไป โดยคลินิกเวชกรรม จำนวน 42 กลุ่มโรค และบริการโดยร้านยาในกลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ รวมทั้งขยายผลในเชิงพื้นที่จาก กทม. ไปใน 5 จังหวัดปริมณฑล
ขณะเดียวกันในส่วนของพื้นที่ต่างจังหวัด บริการเทเลเมดิซีนก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่เดินทางมาโรงพยาบาลลำบาก สปสช. คาดหวังให้โรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่จัดบริการในลักษณะนี้ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชนและลดความแออัด ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย ทว่า ก็ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลแต่ละแห่งด้วยว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด
"โรงพยาบาลขลุงเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าบริการใหม่ๆ เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แต่โรงพยาบาลชุมชนก็สามารถนำเทคโนโลยี มาช่วยในการจัดบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับปัญหาและบริบทในพื้นที่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ จะนำปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอจากพื้นที่ เพื่อนำไปพัฒนานโยบายให้เอื้อต่อการจัดบริการมากยิ่งขึ้นต่อไป" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
วันเดียวกัน รศ.ภญ.ยุพดี พร้อมคณะยังได้ลงพื้นที่ไปยัง รพ.สต.บางชัน เพื่อเยี่ยมชมการให้บริการกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองผ่านระบบเทเลเมดิซีน และบริการ Home ward ในชุมชนหมู่บ้านไร้แผ่นดิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่บ้านเรือนประชาชนตั้งอยู่บนผิวน้ำ ซึ่งเมื่อเจ็บป่วยจะต้องเดินทางด้วยเรือเพื่อมายังหน่วยบริการที่อยู่ในฝั่งแผ่นดินอย่างยากลำบาก รวมไปถึงมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับมายังหน่วยบริการบนฝั่ง
พร้อมกันนี้ ยังได้เยี่ยมบ้านที่ได้รับบริการผู้ป่วยในที่บ้าน รวม 2 ราย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง ซึ่ง รพ.สต.บางชัน ได้ให้ยาและพบว่าน้ำตาลในเลือดสูง โดยเป็นการดูแลร่วมระหว่างแพทย์ รพ.ขลุง และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. บางชัน ซึ่งมีผลช่วยควบคุมโรค และช่วยสนับสนุนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 2 รายนอกจากมีทีม 3 หมอคอยดูแลแล้ว ยังมีชุมชน และครอบครัวให้การดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมกับได้รับคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยในที่บ้านอย่างถูกต้องด้วย
- 315 views