ปลัดสธ.เผยจัดสรรตำแหน่งว่างอยู่ระหว่างเคลียร์ คาดเสร็จ ก.ย.- พ.ย.66 ก่อนหารือสำนักงาน ก.พ.ตัวเลขบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง เหลือเท่าไหร่ ลั่นให้ความสำคัญทุกสาขาวิชาชีพในกระทรวงฯ พร้อมแก้ปัญหาพื้นที่หมอขาดแคลน ชี้เขตสุขภาพ 8 ขาดแคลนแพทย์มากสุด

ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มอบนโยบายโรงพยาบาล(รพ.) สังกัดทั่วประเทศลงทุนโดยใช้เงินบำรุงในการยกระดับศักยภาพ รพ.ด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบไอที ระบบความปลอดภัยไซเบอร์ การส่องกล้องอวัยวะต่างๆ การปรับปรุงห้องผ่าตัด  เครื่องฉายรังสี เป็นต้น เพื่อรองรับการบริการประชาชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งเป้าปี 2567 มีงบลงทุนภาพรวม 2 หมื่นล้านบาท จากปี 2566 งบลงทุนใช้ไปแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันต้องเพิ่มศักยภาพบุคลากร และเพิ่มกรอบอัตรากำลังมารองรับด้วยนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ตั้งเป้าปี 67 ใช้งบลงทุน 2 หมื่นล้าน ยกระดับ รพ.สังกัดทั่วประเทศ รองรับบริการประชาชน)

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงกรณีการเพิ่มอัตรากำลังรองรับการลงทุนและพัฒนาเพื่อยกระดับ รพ.ด้านต่างๆ ว่า  อัตรากำลังก็ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งเรายังค้างเรื่องการบรรจุโควิด19 รอบสองอีกประมาณ 3 หมื่นอัตรา ซึ่งก็ต้องหารือกับทาง ก.พ.เป็นอันดับถัดไป โดยที่ผ่านมาทาง ก.พ.ให้กระทรวงสาธารณสุข ไปจัดสรรเรื่องตำแหน่งว่างก่อน ตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้  อย่างช้าก็ประมาณเดือนพฤศจิกายน ซึ่งหากเคลียร์ตำแหน่งว่างแล้วเสร็จก็จะหารือกับ ก.พ.อีกครั้งว่า ยังมีตำแหน่งอะไรที่เรามีความจำเป็นต้องการเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสองตัวเลข 3 หมื่นกว่าอัตราจะต้องลดลงหลังเคลียร์ตำแหน่งว่างภายในหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องหารือกันก่อน เบื้องต้นรอให้การจัดสรรตำแหน่งว่างแล้วเสร็จและจะมีการหารือร่วมกันต่อไป

เขตสุขภาพ 8 ขาดแคลน “หมอ” มากที่สุด ส่วนเขต 13 มีแพทย์เยอะสุด

ทั้งนี้ นพ.โอภาส  กล่าวถึงอัตรากำลังบุคลากรสาธารณสุขตอนหนึ่ง ในการปาฐกถาพิเศษ "ทศวรรษที่ 2 ยกระดับศักยภาพบริการสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ" ภายในงานประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า หากพูดถึงบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญต้องกระจายแพทย์ให้เหมาะสม

ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า เขตสุขภาพที่ 8 (อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ) ขาดแพทย์มากที่สุด แม้จะกระจายเท่าไหร่ก็ตาม ส่วนเขตที่ได้บุคลากรทางการแพทย์เยอะสุด คือ เขต 13 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สาเหตุเพราะการกระจายตัวเป็นไปตามระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เน้นกระจายบุคลากร Sharing อย่างเหมาะสม

“ดังนั้น  โจทย์การกระจายบุคลากรจะต้องทำอย่างไรให้มีการ Sharing อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขให้สอดคล้องกัน โดยต้องมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้น้องๆไปอยู่เขต 8 ไปอยู่แม่ฮ่องสอน ไปอยู่บึงกาฬมากขึ้น” นพ.โอภาส กล่าว

สธ.แก้ปัญหาให้ บุคลากรสาธารณสุข อยู่ในระบบได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า เมื่อโจทย์เป็นแบบนี้ ระบบสาธารณสุขจะทำอย่างไร หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า รพ.ขับเคลื่อนด้วยสตาฟ ก็คงจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งหากดูข้อมูลภาพรวมการเพิ่มขึ้นของแพทย์นั้น หากดูจากข้อมูลมีแพทย์เพิ่มขึ้นปีละ 1,000 คน โดยกระทรวงฯ ดูแลประชาชน 85%ของประเทศ โดย 5 ปีที่ผ่านมามีแพทย์เพิ่มขึ้นจาก  7,400 คน เป็น11,000 คน เพิ่มขึ้นเป็น 50% โดยเพิ่มมากที่สุดเป็นโรงพยาบาลชุมชน และอันดับสองคือโรงบาลศูนย์ ถัดมาคือโรงบาลทั่วไป จริงๆ เรื่องบุคลากรไม่ใช่แค่แพทย์ แต่รวมทุกวิชาชีพ ซึ่งในระบบปัจจุบันเราไม่ได้ขาดแคลนเหมือนเก่า แต่ยังต้องการเพิ่มขึ้น และต้องกระจายตัวให้เหมาะสม ที่สำคัญต้องให้พวกเขาอยู่ได้ จึงต้องมีทั้งเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ และภาระงาน

“เรากำลังแก้ทุกโจทย์ และสุดท้าย คือ ภาระงาน จะทำอย่างไรให้ภาระงานเกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งการยกระดับรพ.ต่างๆ และต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรด้วย บุคลากรของเราต้องไปด้วยกันได้   กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทุกสาขาวิชาชีพ ซึ่งมีประมาณ 63 สาขาวิชาชีพโดยสำคัญ” ปลัดสธ.กล่าว

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : บรรจุข้าราชการโควิดรอบ 2 อีกเรื่องใหญ่รอลุ้น! บุคลากร ขอ สธ.แจ้งไทม์ไลน์ชัดเจน

 

ข่าวอื่นเกี่ยวข้อง :

- งบค่าเสี่ยงภัยโควิดถึง สธ.แล้ว ส่ง สสจ.เบิกจ่ายแล้วเสร็จในก.ย.นี้

ปลัดสธ.ย้ำไทม์ไลน์จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด19 เหมือนเดิม ไม่เคยหักเงินเสี่ยงภัยนอกสังกัด