คณะแพทย์ ศิริราช จับมือภาคเอกชน ดึงความอัจฉริยะข้อมูล หนุน “เมดิคัล เอไอ สตาร์ทอัพ” ชู 4 นวัตกรรม ทั้งตรวจจีโนม ระบบAI เพิ่มความล้ำกับการตรวจรักษาระดับไฮเทค พร้อมปั้นศิริราชสู่ผู้นำด้านสตาร์ทอัพการแพทย์
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ห้องประชุมศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กับ บริษัทแคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด ในการใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล ว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของชุมชนเมือง และรพ.ศิริราชมีคนไข้เข้ามารับบริการมากที่สุดในประเทศไทย เป็นสิ่งรพ.ต้องปรับแนวทางการให้บริการด้านสุขภาพให้มีคุณภาพประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเป็นอีกกลไกในการรังสรรค์สิ่งใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพในทุกมิติ
ศิริราชดึง 4 นวัตกรรมใช้ทางการแพทย์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ซึ่งมีข้อมูลและองค์ความรู้ จึงร่วมกับบริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อยกระดับการบริการด้านสุขภาพผ่าน AI เริ่มจาก 4 โครงการแรก ได้แก่ โครงการ SiCAR Ai Lab : แพลตฟอร์มทดสอบ และพัฒนาเเบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์ โครงการพัฒนา AI อ่านและวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ โครงการพัฒนาบริการการตรวจยีนส์ เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคในอนาคต และโครงการแหล่งพัฒนาสตาร์ทอัพ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์สู่ธุรกิจจริงกับศูนย์ VDC
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ เพิ่มศักยภาพการรักษาพยายาล สามารถวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายและเกิดความคุ้มค่า แก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด ตลอดจนเป็นแหล่งบ่มเพาะ Medical AI Startup MedTech Startup ช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยมีความทันสมัย มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางบริการการแพทย์ของโลก
นวัตกรรมเทคโนโลยี AI ร่วมวินิจฉัยรักษาโรคทำให้เกิดความรวดเร็วแม่นยำ
ด้านรศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า การนำนวัตกรรมเทคโนโลยี AI มาร่วมวินิจฉัยรักษาโรคทำให้เกิดความรวดเร็วแม่นยำ สามารถออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคล ซึ่งคณะฯ ได้มีการพัฒนาต่อยอดสู่การวิจัยด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่าต่อการรักษาพยาบาล รวมถึงการผลักดันเข้าสู่สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้คนไข้ได้รับประโยชน์สูงสุด
ด้านนายศิวดล มาตยากูร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ข้อมูลองค์ความรู้ของศิริราชร่วมกับความเชี่ยวชาญ AI ของบริษัทจะช่วยแก้โจทย์ปัญหาการรักษาพยาบาล ที่ผ่านมาในเชิงเทคนิคการพัฒนา AI ทางการแพทย์เราอาศัยข้อมูลส่วนใหญ่จากต่างประเทศ จึงยังมีข้อจำกัดความแม่นยำเฉพาะบุคคล แต่ความร่วมมือกับศิริราชครั้งนี้จะเพิ่มความแม่นยำยิ่งขึ้นทั้งยังป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลได้
4 โครงการไฮเทคทางการแพทย์
สำหรับรายละเอียด 4 โครงการที่ได้ร่วมกันจัดทำและพัฒนา ได้แก่
1.โครงการ SiCAR Ai Lab
แพลตฟอร์มทดสอบ และพัฒนาเเบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลสุขภาพแบบนิรนามพร้อมใช้ร่วมกับศิริราช ผสมผสานกับการสร้าง AI model ของ CARIVA รวมถึงการสร้างชุดข้อมูลเสมือนทางการแพทย์โดยใช้ AI (Synthetic data) ช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพแบบนิรนามได้มากขึ้น สามารถปรับปรุง AI กับฐานข้อมูลที่คัดสรรโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับสตาร์ทอัพ นำไปสู่การยกระดับการดูแลสุขภาพและการรักษาทางด้านการแพทย์ และส่งเสริมระบบนิเวศของ Medical AI start up ของประเทศไทย
2.โครงการร่วมมือกับภาควิชารังสีวิทยา
ในการพัฒนา AI อ่านและวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ประเภทต่างๆ อาทิ AI วัดปริมาตรอวัยวะ และเนื้องอก และ Imaging study recommender
AI วัดปริมาตรอวัยวะ และเนื้องอก : ทางเเคริว่า ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยทั้งในการแยกชิ้นส่วน ระบายสี และแสดงผลออกมาในรูปแบบสามมิติ ซึ่งสามารถช่วยลดระยะเวลาการเตรียมภาพ (Label) และการคำนวณโดยเฉลี่ยไปได้กว่าครึ่ง โดยข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝนในขั้นต้นนั้นเป็นข้อมูลจากต่างประเทศ ความร่วมมือกับภาควิชารังสี จะเป็นการต่อยอดโมเดลให้เหมาะสมกับข้อมูลของคนไข้ภายในประเทศไทย และเปิดโอกาสให้รังสีแพทย์ในศิริราชได้ทดสอบและลองใช้งาน เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้รังสีแพทย์ทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ช่วยลดภาระงานและนำไปสู่ผลลัพท์ของการประเมิน หรือการวินิจฉัยอาการของคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น
Imaging study recommender: ร่วมกันพัฒนา AI ที่จะช่วยแนะนำการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น
X-ray และ CT ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยอ้างอิงจากข้อมูลต่างๆ อาทิ ประวัติสุขภาพ ประวัติการตรวจภาพถ่ายทางรังสี ปัจจุบันระบบต้นแบบสามารถคาดการณ์ประเภทการตรวจของคนไข้ได้แม่นยำถึง 96% ระบบนี้นอกจากจะเป็นเสมือนผู้ช่วยของรังสีแพทย์ในการเลือกการตรวจที่เหมาะสมแล้ว ยังสามารถต่อยอดเครื่องมือดังกล่าวกับการบริการด้านอื่นๆ ของโรงพยาบาล เช่น การตรวจแล็บ การสั่งยาได้อีกด้วย
3.โครงการธุรกิจด้านจีโนมิกส์
โดยร่วมกับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งด้วยรหัสพันธุกรรม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความแม่นยำสูง และความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read lab ผลักดันผลงานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยี Long-Read Sequencing ไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยร่วมกันพัฒนากับแคริว่า 2 ผลิตภัณฑ์แรก คือ NanoPGx (Nanopore-based pharmacogenomics) เป็นการตรวจยีนแพ้ยาแบบความละเอียดสูงและแตกต่างจากการวิธีดั้งเดิม กล่าวคือ เป็นการตรวจยีนแพ้ยาที่ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ (population-independent) ทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถให้บริการทั้งผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ ยกระดับการตรวจยีนแพ้ยาให้เข้าสู่ระดับสากล
ผลิตภัณฑ์ที่สองคือ Preemptive-101 เป็นการตรวจยีน 101 ยีน ที่คัดเลือกมาแล้วว่าลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนให้กับลูกค้าได้ เช่น ตรวจยีนที่เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการแพ้ยาสลบ หรือภาวะ Malignant Hyperthermia โดยแคริว่าจะร่วมพัฒนาระบบการประมวลผลที่ใช้งานง่าย เพื่อให้บริการเเก่กลุ่มลูกค้า B2B อย่างโรงพยาบาล หรือคลินิก ที่สนใจ (ทั้งสองผลิตภัณฑ์อยู่ระหว่างการวิจัยเเละพัฒนา)
4.โครงการความร่วมมือกับศูนย์ขับเคลื่อนคุณค่าการบริการ (VDC)
แหล่งพัฒนาสตาร์ทอัพ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์สู่ธุรกิจจริง โดยร่วมกันบ่มเพาะ สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรม Design Thinking ให้เข้าใจถึงปัญหาอย่างแท้จริง และสามารถพัฒนานวัตกรรมที่จะเข้ามาตอบโจทย์ ตลอดจนการให้คำแนะนำทั้งด้านธุรกิจ และเทคโนโลยี หรือการปรับปรุงโมเดลผ่านแพลตฟอร์ม SiCAR Ai Lab เพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับแต่ละทีม และต่อยอดสู่ธุรกิจในระยะยาว
- 878 views