สธ.ร่วม INET พัฒนา ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน ดึง Data ด้านการเงินทุก รพ. เชื่อมข้อมูลสุขภาพ ช่วยรู้ใช้เงินรักษาโรคอะไร ได้ผลอย่างไร หวังใช้เงินตรงเป้าหมาย จ่อเชื่อมต่อแต่ละกองทุน มหาวิทยาลัย และเอกชนในอนาคต พร้อมวางแผนพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล รองรับนโยบายดิจิทัลการเงินของรัฐบาลใหม่ ย้ำข้อมูลทั้งหมดมีความปลอดภัยทางไซเบอร์
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นางมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub) ของ สธ.
นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อมูลของ สธ.ด้านสุขภาพมีจำนวนมหาศาล มีความครอบคลุมประชาชนคนไทยเกินกว่าร้อยละ 70-80 ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้อย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงของประชาชนจึงต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลด้านสุขภาพตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ซึ่งหน่วยงานราชการยังมีความชำนาญด้านนี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้น การจะเอาข้อมูลที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์โดยคำนึงความปลอดภัยทั้ง 2 ด้านนี้ ต้องมีผู้ที่มีความรู้ความชำนาญมาร่วมสนับสนุน จึงได้ร่วมกับ INET มาเป็นเกตเวย์เชื่อมข้อมูลตรงนี้
เชื่อมโยงข้อมูลการเงินและสุขภาพ
นพ.โอภาสกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ หากข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรามี แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ เช่น ข้อมูลการเงินก็จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนน้อย วันนี้เราจึงร่วมมือดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการเงินและข้อมูลสุขภาพของประชาชนมาเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุข อย่างไรก็ต้องมีการขับเคลื่อนโดยเงินงบประมาณ ถ้าเรามีข้อมูลสองด้านนี้ ก็สามารถเอาเงินงบประมาณไปใช้จ่ายได้ตรงเป้าหมาย ตรงกลุ่ม และเกิดผลดีต่อประเทศและประชาชน
"เราจะมี ครม.ใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ ก็มีนโบยายเรื่องดิจิทัลโดยเฉพาะเรื่องการเงิน อย่างดิจิทัลวอลเลตทั้งหลาย จะเห็นว่าเงิน กับดิจิทัล และสุขภาพก็ไปด้วยกันไป ไปในทิศทางเดียวกัน ก็สอดคล้องกัน โดยเฉพาะเรื่อง Financial Data Hub ก็เป็นเรื่องสำคัญสิ่งที่ดำเนินการก็สอดคล้องกับผลประโยชน์ประเทศและประชาชน รวมทั้งทำให้เกิดมาตรฐานในระบบสุขภาพและระบบการเงินประเทศก็จะพัฒนาสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ซึ่งแต่ละประเทศก็มุ่งไปทางนี้" นพ.โอภาสกล่าว
INET พัฒนาเกตเวย์เชื่อมเครือข่ายข้อมูล
ด้าน นางมรกตกล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมดำเนินการโครงการศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงินของ สธ. โดยจะพัฒนาเกตเวย์ ที่เชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ ให้หน่วยบริการส่งข้อมูลมาประมวลผลที่ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน สธ. และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทจะทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลตามข้อตกลงการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลกับ สธ.
เมื่อถามว่าที่จะมีการเชื่อมข้อมูลและประมวลผลด้านการเงินจะเป็นในส่วนของรายรับรายจ่าย รพ.ใช่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ใช่ ก็จะเป็นรายรับรายจ่าย ประชาชนใช้เงินที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไร เงินเอาไปใช้ในกลุ่มไหนอย่างไร ป้องกันโรคเท่าไร รักษาอะไรโรคอะไร ก็จะเป็นข้อมูลออกมาทั้งหมด ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีข้อมูลระดับนี้ เช่น โรคความดันเสียรายจ่ายการรักษาเท่าไร ในอนาคตก็จะตอบได้ ซึ่งระบบ Financial Data Hub เริ่มดำเนินการแล้วเรียบร้อย ที่เหลืออยู่ที่ว่าจะเอาข้อมูลไปวิเคราะห์อะไรอย่างไร ส่วนเรื่องความปลอดภัยเราก็ทำตามมาตรฐานและกฎหมายทั้งการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างเข้มข้น
Financial Data Hub ใช้เงินได้ตามวัตถุประสงค์
ถามว่าระบบ Financial Data Hub จะเข้ามาช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ลดภาวะวิกฤตทางการเงินของ รพ.ด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อมูลเราจะได้ตรงมากขึ้น อาจจะยังไม่ต้องไปคำนึงเรื่องลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ แต่เราจะใช้เงินได้ตรงตามวัตถุประสงค์ และจะบอกได้ว่าเรื่องนี้ใช้เงินไปเท่าไรและเกิดผลอย่างไร จะเป็นประโยชน์ในเบื้องแรก แต่เบื้องต่อไปอย่างที่ทราบเรายังขาดการเชื่อมโยงกับหลายหน่วย เช่น มหาวิทยาลัย เอกชน ถ้าหากพร้อมก็จะมาร่วมกันเป็นภาพรวมประเทศต่อไป และสามารถนำข้อมูลไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์
ถามต่อว่าจะเชื่อมโยงข้อมูลการเงินไปกับทางกองทุนสุขภาพแต่ละกองทุนด้วยเลยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ก็สามารถทำได้ ถ้าใครอยากมาเชื่อมต่อกับเราในอนาคตก็ยิ่นดีให้เชื่อมต่อได้ เจ้าของข้อมูลหรือ Data Controller ก็ต้องยินยอมให้ข้อมูลมาเชื่อมต่อกัน และต้องมีกิตกาเดียวกัน ความปลอดภัยคำนึงถึงอะไร ไม่ให้ใครมาแฮกข้อมูลหรือทำให้ข้อมูลรั่วไหลไม่ได้ มาตรฐานต้องมีก่อนและถึงมาเชื่อมกันได้
ถามต่อว่าระบบการเงินตรงนี้จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาเรื่องภาวะหนี้ของบุคลากรด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า น่าจะยัง หนี้บุคคลเป็นเรื่องการเงินอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ
- 2635 views