ประธานอสม.แห่งประเทศไทย ดูท่าทีจัดตั้งรัฐบาล ใครเป็นรมว.เพื่อทวงถาม “ค่าป่วยการ” หลังครม.เห็นชอบเพิ่มจาก 1 พันเป็น 2 พันบาท เข้าใจหากต้องรอพิจารณางบประมาณปี 67 ด้านอธิบดีสบส.เผยทุกอย่างอยู่ในขั้นตอน แต่ต้องรอเห็นชอบ พรบ.งบประมาณฯ จากรัฐสภา พร้อมตอบประเด็นจ่ายย้อนหลังได้หรือไม่
ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับค่าป่วยการเพิ่มจาก 1,000 เป็น 2,000 บาท โดยจะเริ่มจ่ายในปีงบประมาณ 2567 หรือวันที่ 1 ต.ค. 2566 นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มี ครม. ชุดใหม่ที่มาทำหน้าที่พิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทำให้งบประมาณยังไม่ผ่านความเห็นชอบนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 66 นายจำรัส คำรอด ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า ขณะนี้หลายจังหวัด อสม. กำลังทวงถามเรื่องค่าป่วยการที่จะเพิ่มให้เป็น 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเรากำลังดูท่าทีการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ว่าพรรคการเมืองไหนจะมาเป็นรัฐบาล เราจะตามเรื่องที่ใครหรือที่พรรคไหน แต่ในส่วนของกรมสนันบสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เราได้มีการพูดคุยกันเรื่องค่าป่วยการอยู่แล้ว
“เรายังไม่มีการทำหนังสือไปเรียกร้องอะไร เพราะการที่มีรัฐบาลรักษาการจะทำอะไรได้ไม่เต็มที่ เราพยายามบอกพี่น้อง อสม.ให้รอก่อน เพราะการเพิ่มค่าป่วยการจะต้องใช้เงินเยอะ ซึ่งในขณะเดียวกัน อสม.ก็มีงานเยอะขึ้นทุกเดือน มีงานหลากหลายเข้ามารออยู่แล้ว แต่ค่าป่วยการก็ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นค่าเฉลี่ยของที่เราทำเดือนนึงตก 3,000 กว่าบาท แต่ทั้งนี้การทำงานเราไม่ได้เอาเงินมาเป็นตัวตั้ง” นายจำรัส กล่าว
นายจำรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้างบประมาณไม่ทันในปี 2567 เราก็รอได้เพราะเราก็เคยรอมาอยู่แล้ว ส่วนเรื่องทวงถามคาดว่าหลังจากจัดตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว เราถึงจะทำหนังสือส่งไปถามว่า เรื่องค่าป่วยการ อสม. มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว
ขณะที่ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นกรอบงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ว่า ตามที่มีการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 เห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการให้ อสม. จาก 1,000 เป็น 2,000 บาท นั้น ตามหลักการแล้วจะต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบ พรบ.งบประมาณฯ จากรัฐสภาก่อน แต่ด้วยตอนนี้ยังไม่มีการเปิดประชุมสภา จึงต้องรอให้มีการพิจารณาก่อน
“หากยังไม่มีการพิจารณา พรบ.งบประมาณฯ อสม. จะต้องรับค่าป่วยการ 1,000 บาทไปก่อน ส่วนที่ขอเพิ่มไปนั้น จะต้องรอเปิดประชุมสภา เพื่อให้มีการตั้งกรรมาธิการพิจารณา พรบ.งบประมาณฯ จากนั้น จะต้องมีการชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า ทำไมจะต้องขอเพิ่มเป็น 2,000 บาท” นพ.สุระ กล่าว
นพ.สุระ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิม อสม. ได้รับค่าป่วยการ 1,000 บาท กับภาระงาน 4 วันใน 1 เดือน พร้อมกับงาน 9 ด้าน แต่เมื่อการขอเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 บาท ก็ต้องดูข้อเท็จจริงประกอบว่า อสม. ไม่ได้ทำงานเพียง 4 วัน ทั้งยังมีภาระงานอื่นๆ ที่ช่วยดูแลประชาชนในชุมชนด้วย และการเพิ่มค่าป่วยการขึ้นมา เราก็การันตีภาระงาน 8 วันใน 1 เดือน และเพิ่มงานคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ งานดูแลเรื่องยาเสพติดรวมถึงงานอื่นๆ ที่ อสม. ต้องถ่ายทอดสู่ประชาชน
“การเพิ่มเงินขึ้นมา 1,000 บาท ก็เป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท ถือเป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควร ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ ก็จะเกิดการหมุนเวียนในชุมชน เพราะ อสม. เองก็จะต้องจับจ่ายใช้สอยในชุมชน ” อธิบดีสบส. กล่าว
เมื่อถามต่อว่าโดยปกติแล้ว หากมีการพิจารณา พรบ.งบประมาณฯ ล่าช้า จะมีการจ่ายย้อนหลังหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า โดยปกติหากอนุมัติงบประมาณมาแล้ว ก็จะสามารถนำมาใช้ตามแผน 1 ปีงบประมาณนั้นก็จะนับตั้งแต่ ต.ค. - ก.ย. ของปีถัดไป ซึ่งก็จะมีการใช้งบประมาณย้อนหลังภายในปีงบประมาณนั้นๆ ได้ เว้นแต่หากมีการประกาศ พรบ.งบประมาณฯ แล้วมีการระบุว่าให้ใช้นับจากวันที่มีประกาศ ก็จะไม่สามารถใช้งบฯ ย้อนหลังได้
- 14912 views