กรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือ มจพ. เผยความคืบหน้า นำ AI แปลตำรับ ตำรายาโบราณ สู่ Big Data รองรับบริการการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกและสมุนไพรอัจฉริยะ แบบครบวงจร

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)เผยความคืบหน้าการดำเนินการแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) นำ AI แปลตำรับ ตำรายาโบราณซึ่งเป็นสมบัติชาติ เพื่อนำเข้าสู่ Knowledge-based และ Big Data ใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ เพื่อวางแผนด้านสุขภาพ การใช้บริการ หรือการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเพื่อต่อยอดมูลค่าเศรษฐกิจสมุนไพร ในอนาคต 

วันนี้ (15 สิงหาคม 2566) ณ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.เพียรพูล กมลจิตร์ประภา คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ดร.รัชนี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) ภายหลังดำเนินการ MOU ร่วมกันมาครบ 2 ไตรมาส กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ผลิตภัณฑ์ สมุนไพร การบริการการดูแลสุขภาพมากมาย จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) โดยร่วมกันพัฒนาใน 4 โมดูล จนปัจจุบันมีความคืบหน้า ดังนี้  

  • โมดูลที่ 1 Digital TTM Knowledge Management กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้รวบรวมตำรับตำราการแพทย์แผนไทยที่มีบันทึกในสมุดไทย ใบลาน ศิลาจารึกกว่า 50,000 รายการ โดยส่งต่อให้ มจพ. พัฒนาระบบ Smart TTM Library เพื่อรองรับการจัดการภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และจะจัดเก็บต้นฉบับในรูปแบบภาพดิจิทัลและข้อมูลที่ได้รับการถ่ายถอด-ปริวรรตแล้ว รวมทั้งองค์ความรู้ที่ได้จากหมอพื้นบ้าน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ จะใช้ความรู้จากการศึกษาวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ เช่น Ontology, Knowledge Graph เป็นต้น มาใช้ในการพัฒนา ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วนั้นจะทำให้เกิด Knowledge-based เพื่อให้บริการองค์ความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง และนักวิชาการ โดยผ่านระบบสืบค้นข้อมูลอย่างอัจฉริยะ 
  • โมดูลที่ 2 TTM Expert & Recommendation Systems กรมฯ มีการวิเคราะห์ เตรียมข้อมูลจากตำรับ ตำราการแพทย์แผนไทยที่ประกาศเป็นของชาติแล้ว กว่า 7,000 รายการ และที่มีการลงทะเบียนตามมาตรา 15 จากนายทะเบียนจังหวัดไม่น้อยกว่า 200,000 ตำรับ นำมาถ่ายถอด-ปริวรรตภาษาโบราณ ที่บันทึกในสมุดไทย ใบลาน ศิลาจารึก แต่กระบวนการแปล หรือถ่ายถอดต้องใช้เวลานานและต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญมีจำนวนน้อย จึงร่วมกันวิจัย และพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญและระบบช่วยแนะนำ (TTM Expert and Recommendation Systems) โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น OCR (Optical Character Recognition), NLP (Natural language processing) และ Speech Recognition เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายถอด-ปริวรรต และสังคายนาตำรับ/ตำราการแพทย์แผนไทย ให้การดำเนินการแปลอักษรโบราณออกมาได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูง 
  • โมดูลที่ 3 Herbal Product & Service Big Data Management การพัฒนา Big Data ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ โดยอาศัยการศึกษาและวิจัยด้าน AI และ Deep learning ในวิเคราะห์ สังเคราะห์ องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย สมุนไพร ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต ใช้ในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจอย่างครบห่วงโซ่คุณค่า 
  • โมดูลที่ 4 Smart TTM Herbal Product & Service Innovation การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับการสร้างความรอบรู้และบริการทางการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรอัจฉริยะ ซึ่งได้แก่ 
  1. ระบบ Panthai Chatbot สามารถตอบคำถาม ประเมินสุขภาพ วิเคราะห์ข่าวปลอมด้านการแพทย์แผนไทยและระบุชนิดสมุนไพรด้วยภาพ  
  2. ระบบ Panthai Good Doctor ตรวจรักษาด้วยแพทย์แผนไทย AI โดยใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรให้แก่ประชาชน เพื่อให้เข้าถึงการบริการได้อย่างสะดวก และ มีประสิทธิภาพ (Anywhere, Anytime and Anydevice)
  3. ระบบ Thailand Herbal Expo & Garden Metaverse ที่สามารถเยี่ยมชมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยและสวนสมุนไพรในสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริง รวมถึงสามารถซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านทางระบบได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะนำเทคโนโลยี Virtual Reality/Augmented Reality: VR/AR, NLP, และ Deep learning มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพต่อไป

การดำเนินการร่วมกันดังกล่าวนั้น จะทำให้ ปีพ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน ได้ใช้ประโยชน์จากการดำเนินการทั้ง 4 โมดูล คือ 

  1. มีระบบคลังความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart TTM Library) ที่รวบรวมตำรับ/ตำรายาแผนไทย ที่มีการแปลจากต้นฉบับแล้วมีข้อมูลเชิงพฤกษศาสตร์ของพืชสมุนไพรที่เชื่อมโยงระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรในทุกมิติจากหมอพื้นบ้านและผู้ทรงคุณวุฒิ และหลักฐานเชิงประจักษ์ จำนวน 70,000 รายการ ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในด้านการศึกษาวิจัย และใช้ประโยชน์ทางด้านสุขภาพ 
  2. มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและบริการทางการแพทย์แผนไทย (Herbal Product & TTM Service Big Data) ที่เชื่อมโยงข้อมูลการผลิต การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการตรวจรักษาด้วยยาสมุนไพรพร้อมทั้งสามารถวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ (Predictive Analytics) โดยแสดงในรูปแบบแผนภูมิรูปภาพ แผนที่ กราฟ ตาราง วิดีโอ และอินโฟกราฟิก (Data Visualization) แสดงแนวโน้มของการผลิต การจำหน่าย และ พฤติกรรมผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการตรวจรักษาด้วยยาสมุนไพร 
  3. มีแอปพลิเคชันโต้ตอบอัตโนมัติ (Panthai Chatbot) เพื่อตอบคำถาม และประเมินสุขภาพให้กับประชาชน สร้างความรอบรู้ สามารถวิเคราะห์ข่าวปลอมด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรได้ไม่น้อยกว่า 200 คำถาม (Intent) และสามารถวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยได้ไม่น้อยกว่า 5 กลุ่มโรค เช่น  1.นอนไม่หลับ และเจ็บปวดเรื้อรัง 2.ผู้ป่วยที่มีการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาตระยะกลาง 3.สะเก็ดเงิน 
  4. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และ 5.บำบัดยาเสพติด พร้อมทั้งสามารถระบุชนิดไพรด้วยภาพได้ไม่น้อยกว่า 300 ชนิด

นอกจากนี้ภายในงานแถลงข่าวยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ ต้นแบบ Panthai Chatbot (แผนไทยแชทบอท) เพื่อทดสอบการตอบคำถามสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรด้วย AI  รวมทั้ง แนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะทั้ง 4 โมดูลผลงานนวัตกรรมดิจิทัลรางวัลชนะเลิศ Digital Transformation Award 2019 สาขา Emerging Technology โครงการระบุชนิดสมุนไพรด้วยภาพ (Herb ID) ซึ่งเป็นผลงานของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกด้านนวัตกรรมดิจิทัลที่ได้รับรางวัล และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM)  อีกด้วย

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org