กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดประชุมวิชาการกุมารเวชศาสตร์ “สุขภาพเด็กแห่งชาติ” ครั้งที่ 24 ในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการบูรณาการการขับเคลื่อนดูแลรักษาโรคเด็กระดับชาติ วันที่ 9-11 ส.ค. 2566 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเยี่ยมชมความพร้อมด้าน Critical Care Unit ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การประชุมปีนี้ถือว่าเป็นการริเริ่มการบูรณาการการขับเคลื่อนการดูแลรักษาโรคเด็กระดับชาติ (Service Plan) ด้านแม่และเด็กในเขตสุขภาพ และยังคงมุ่งมั่นจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ การประเมินความคุ้มค่าและการตรวจรักษาแบบใหม่ (Precision Child Health) เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยส่งมอบต่อผู้กำหนดนโยบายและผลักดันให้เกิดการบริการทางการแพทย์ เข้าไปสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อให้คนไทยจะได้รับบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมถึงมุ่งเน้นความร่วมมือทางวิชาการและพัฒนาการดูแลรักษาสุขภาพเด็กกับเครือข่ายสุขภาพระดับชาติและนานาชาติ เพื่อต่อยอดให้เกิดการขยายผลและความร่วมมือทางวิชาการด้านโรคเด็กระดับชาติ
ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เป็นการจุดประกายความคิด เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในการส่งเสริมสุขภาพและดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านระบบบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งมั่นให้การดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพประชาชนโดยถ้วนหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ปัจจุบันสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ด้านแม่และเด็ก ในเขตสุขภาพและยังคงมุ่งมั่นจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ การประเมินความคุ้มค่าและการตรวจรักษาแบบใหม่ (Precision Child Health) เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยส่งมอบต่อผู้กำหนดนโยบายและผลักดันให้เกิดการบริการทางการแพทย์ เข้าไปสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อให้คนไทยจะได้รับบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมถึงมุ่งเน้นความร่วมมือทางวิชาการและพัฒนาการดูแลรักษาสุขภาพเด็กกับเครือข่ายสุขภาพระดับชาติและนานาชาติ เพื่อต่อยอดให้เกิดการขยายผลและความร่วมมือทางวิชาการด้านโรคเด็กระดับชาติต่อไป
ดังนั้น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ที่ให้บริการส่งเสริมสุขภาพการเจริญเติบโตและพัฒนาการ การป้องกันโรค และให้การรักษาโรค โดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเด็กทุกสาขา และเป็นสถานที่ให้การรักษาในระดับตติยภูมิที่ส่งต่อมาจากทั่วประเทศ จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นและเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมบูรณาการการขับเคลื่อนดูแลรักษาโรคเด็กระดับชาติ ในนามกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขต่อไป
"สถาบันสุขภาพเด็กฯ อยู่ในสังกัดกรมการแพทย์ มีหน้าที่ในด้านวิชาการ จัดการองค์ความรู้ นวัตกรรม วิชาการต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ โดยจัดงานเช่นนี้มาตลอดทุกปี เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศเกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพราะเรื่องทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีการรักษาพยาบาล จึงต้องมีการประชุมวิชาการตลอดเวลา ซึ่งในกระทรวงสาธารณสุขทุกภูมิภาคจะแบ่งเป็น 12 เขต โดยมีโรงพยาบาลศูนย์ หน้าที่ของเรา คือ ไปเป็นพี่เลี้ยง ช่วยดูแล เป็นที่ปรึกษา ฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางต่าง ๆ และถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อที่จะส่งกลับไปในภูมิภาค" นพ.ธงชัย กล่าวและว่า สถาบันสุขภาพเด็กฯ ที่แห่งนี้ก็เทียบเท่า โรงเรียนแพทย์ มีการสอนและอบรมแพทย์ จึงต้องพัฒนาอยู่ตลอด เพราะสถาบันสุขภาพเด็กฯ รักษาโรคหายากที่โรงพยาบาลอื่น ๆ รักษาไม่ได้ แม้จะจำนวนไม่ได้มาก แต่ทุกชีวิตมีคุณค่า โดยเฉพาะเด็กที่เป็นอนาคตของประเทศต่อไป นอกจากนี้ ด้วยแนวโน้มเด็กเกิดใหม่น้อยลง ในปีนี้เด็กเกิดเพียง 500,000 คน จากเดิม 1 ล้านคน อัตราการเกิดลดน้อยลงเรื่อย ๆ จึงต้องดูแลให้เด็กมีคุณภาพ ไม่เจ็บป่วย สุขภาพดี เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ธงชัย ยังกล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า โรคไข้เลือดออก ไม่ได้เป็นโรคของเด็ก เพียงแต่พบมากในเด็ก แต่ที่อันตราย คือ โรคนี้เป็นได้ทุกกลุ่มวัยอายุ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว 6.6 เท่า ทุกบ้านจึงต้องกำจัดลูกน้ำยุงลาย ระยะเวลาที่เป็นลูกน้ำนานประมาณ 17 วัน หากกำจัดได้ทุกสัปดาห์ จะไม่มียุงลายที่บ้าน ซึ่งบ้านที่มีแต่ผู้ใหญ่มักละเลยไม่คิดว่าเป็นโรคของผู้ใหญ่ พอไม่มีเด็กก็ไม่ดูแลเรื่องลูกน้ำยุงลาย จึงอันตราย ดังนั้น หากมีอาการเจ็บป่วยไข้สูงลอย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต้องระวังยา อย่าไปซื้อยากินเอง
โดยเฉพาะกลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs : ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ บรรเทาอาการอักเสบ ช่วยแก้อาการปวด ลดไข้) เช่น
- แอสไพริน (Aspirin)
- ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
ยากลุ่มนี้ลดไข้ได้เร็ว แต่ถ้าเป็นโรคไข้เลือดออกจะอันตราย ทำให้เลือดออกมากขึ้น อาจทำให้มีเลือดออกในอวัยวะภายใน และมีอาการรุนแรงได้
ด้าน นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ในปีนี้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้ดำเนินการจัดประชุมสัมมนาวิชาการประจำปีกุมารเวชศาสตร์ ในชื่อเรื่อง “Transforming Pediatric Healthcare: Challenges and Opportunities” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการดูแลรักษาโรคเด็กให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้อง สร้างเครือข่ายการดูแลรักษาด้านโรคเด็กอย่างเป็นรูปธรรม พัฒนารูปแบบแนวทางการให้บริการรักษาโรคเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งกับเครือข่ายในส่วนภูมิภาคและพัฒนาความร่วมมืออย่างมีคุณภาพ ตลอดจนเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการด้านสุขภาพเด็กแห่งชาติ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานของตน และสร้างความตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ โดยมีผู้เข้าประชุมในห้องประชุม จำนวน 190 คน แบบประชุมทางไกล จำนวน 263 คน รวม 453 คน
"ช่วงนี้ในส่วนของเด็กผู้ป่วยนอก จะมีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากอากาศเปลี่ยนแปลง และที่เจอมากก็จะเป็นโรคภูมิแพ้ มีเรื่องของโรคทางเดินอาหาร ส่วนโรคอื่น ๆ ด้วยความที่โรงพยาบาลดูแลเด็กที่เป็นโรคหายาก น้ำหนักน้อย โรคพิการแต่กำเนิด รวมถึงการพยากรณ์โรคของเด็ก ติดตามอาการของเด็กที่เป็นโรคหายาก พิการแต่กำเนิด รักษาตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี และที่ทำเพิ่มตอนนี้ คือ ดูแลประคับประคองโรคเรื้อรัง และการส่งเสริมป้องกันโรค ส่วน Home Ward (แนวทางและมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน) สิ่งที่รับนโยบายมาจากกรม ก็ต้องทำในส่วนของเด็กด้วย แต่เรื่องนี้พ่อแม่ยังกังวล อยากให้ลูกมาที่โรงพยาบาลมากกว่า จึงต้องค่อย ๆ ดำเนินการต่อไป" นพ.อัครฐาน กล่าว
การสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยการบรรยาย อภิปรายปัญหาและการนำเสนอผลงานทางวิชาการ โดยผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่
- กุมารแพทย์
- แพทย์ทั่วไป
- พยาบาล
- ทันตแพทย์
- เภสัชกร
- นักวิชาการสาธารณสุขจากเขตสุขภาพ 13 เขตสุขภาพ
มีรูปแบบการจัดประชุมแบบ Hybrid การบรรยายได้รับเกียรติจากวิทยากรกรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลชลบุรี สถาบันพยาธิวิทยา และจากสถาบันที่ได้ลงนาม MOU ร่วมกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เช่น Shikoku Medical Center for Children and Adults, Hospital Rehabilitasi Cheras, Malaysia, Sibu Hospital, Malaysia , Philippine General Hospital, Philippines, Vietnam National Children's Hospital, Vietnam, National University of Singapore, Singapore โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์พร้อมทั้งผู้แทนเขตสุขภาพในด้านทารกแรกเกิด ด้านพัฒนาการเด็กและด้านโรคหัวใจในเด็ก
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีพันธกิจหลักในการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเด็กกลุ่มโรคยุ่งยากซับซ้อนระดับตติยภูมิและสูงกว่าจากทั่วประเทศ โดยประมาณการให้บริการผู้ป่วยนอกปีละ 370,000 ราย ผู้ป่วยในปีละ 17,000 ราย ผ่าตัดปีละ 5,000 ราย ในทารกและเด็กพิการแต่กำเนิด เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สถาบันฯ มีบุคลากรการแพทย์ที่มีความชำนาญรองรับและมีการถ่ายทอดความรู้สะสมจากรุ่นสู่รุ่น ประกอบกับวิทยาการและเครื่องมือที่ทันสมัยและชี้นำเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาสุขภาวะเด็กของประเทศได้ อีกทั้งมีผลงานวิจัยในทุกอนุสาขาด้านโรคเด็กและความร่วมมือในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความพร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือทางการแพทย์ สนองนโยบายขับเคลื่อน การสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่าย คู่ความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ อีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รพ.เด็กเปิด 4 ความพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยสุดในทารก ชี้ 70% ป้องกันและรักษาหายขาดได้
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 294 views