จากเสียงสะท้อน “นักวิชาการสาธารณสุข” หนึ่งในบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขด่านหน้าที่ปฏิบัติงานโควิด19 สู่การเคลื่อนไหวร้องความเป็นธรรม ความก้าวหน้า การบรรจุข้าราชการโควิดที่ยังตกหล่น ค่าเสี่ยงภัยทำงาน การผลักดันตำแหน่งใหม่เป็น “นักสาธารณสุข” ที่มีใบประกอบวิชาชีพครั้งแรก ข้อเรียกร้องที่เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
นักวิชาการสาธารณสุข กับการทำงานด่านหน้าสู้วิกฤตโควิด19
สำนักข่าวออนไลน์ Hfocus (www. hfocus.org) นำเสนอปัญหาบุคลากรสาธารณสุขมาตลอด โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาด....หากยังจำกันได้ช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด19 เห็นได้ชัดช่วงปี 2565 กับภาพ “นักวิชาการสาธารณสุข” และ “เจ้าพนักงานสาธารณสุข” ซึ่งดั้งเดิมเป็นกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ แต่ด้วยภาวะวิกฤตการณ์โรคระบาด ทำให้พวกเขาต้องเป็นหนึ่งในบุคลากรด่านหน้าในการเข้าไปชุมชนเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK การให้ข้อมูลประชาชนในพื้นที่ การเฝ้าระวัง และภารกิจอีกมากมาย...
หลายคนรู้จักพวกเขาผ่านการทำงานด่านหน้าช่วงโควิด และหลายคนรู้จักพวกเขาจากการออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องความก้าวหน้าในสายงาน รวมไปถึงการบรรจุข้าราชการโควิด19 ที่นับเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
แต่ปรากฎว่า ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มนักวิชาการสาธารณสุข โดยสภาการสาธารณสุขชุมชน และชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) เป็นกลุ่มแรกๆที่ออกมาเรียกร้องรัฐบาลช่วง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ขอความเป็นธรรมทั้งความก้าวหน้า การบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง เงินค่าเสี่ยงภัยโควิด19 ความก้าวหน้าในสายงาน การกำหนดตำแหน่งใหม่จากนักวิชาการสาธารณสุข เป็น “นักสาธารณสุข” เพื่อสอดคล้องกับพ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ที่มีกฎหมายมาเป็น 10 ปี แต่ช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการกำหนดตำแหน่งชัดเจน กระทั่งเกิดโควิด19 ระบาด และวิชาชีพอื่นๆทยอยได้รับความก้าวหน้า ทางสภาการสาธารณสุขฯ จึงมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมาเรามีการขับเคลื่อนมาตลอด โดยเฉพาะช่วงโควิด กลุ่มนักสาธารณสุข ทำงานด่านหน้าเผชิญกับโรคระบาด หลายคนทำงานเสี่ยง หลายคนติดเชื้อ แต่ก็ต้องปฏิบัติงาน ซึ่งทุกคนเต็มใจปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ เพียงแต่ต้องการให้กระทรวงมีการพิจารณาความก้าวหน้า และดูแลสิทธิอันชอบธรรมที่พวกเราพึงมีพึงได้ด้วย” นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) กล่าว
ริซกี สาร๊ะ
รวมพลเรียกร้องความเป็นธรรม ขณะที่ภาครัฐให้ความสนใจมากขึ้น
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนมีตั้งแต่รวบรวมรายชื่อร้องทุกข์ไปยังกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ที่ทำเนียบรัฐบาล และร้องทุกข์ต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ผ่านนพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ปชป. เลขานุการคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภ ที่มีนพ.เจตน์ สิรธรานนท์เป็นประธาน คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ทั้งสองสภา รับเรื่องทั้งการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” และประเด็นอื่นๆ เช่น ความก้าวหน้าสายงานการขึ้นชำนาญการ การบรรจุข้าราชการโควิดรอบสองที่ยังมีกลุ่มตกหล่น ค่าเสี่ยงภัยการปฏิบัติงานโควิด หรือเงินเสี่ยงภัยโควิด โดยมีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันช่วยเหลือเรื่องนี้
นายริซกี ให้ข้อมูล Hfocus เพิ่มเติมว่า จากการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆให้กับ “นักวิชาการสาธารณสุข” ก้าวขึ้นสู่ “นักสาธารณสุข” และข้อเรียกร้องอื่นๆ เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนเรียกร้องจนถึงปัจจุบัน ถือว่ามีข่าวดีที่ภาครัฐ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) หรือแม้แต่ท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่รับถ่ายโอนภารกิจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ก็ให้ความสำคัญกับบุคลากรมากขึ้น แยกได้ดังนี้
1.ความคืบหน้าการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข”
หลังจากมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) มีประกาศเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 กำหนดตำแหน่งใหม่ “นักสาธารณสุข” ให้ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องจัดกรอบอัตรากำลังให้เหมาะสม ซึ่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) ครั้งที่ 7/2566 เห็นชอบกำหนดตำแหน่งดังกล่าวภายใต้โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และให้สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นหรือ ก.ถ. กำหนดตำแหน่งให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2566
“ส่วนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ทราบว่ากำลังดำเนินการ แต่เรายังไม่ทราบถึงไทม์ไลน์ว่าเป็นอย่างไร แต่ด้วยความที่สธ.มีหลายกรม อาจต้องมีการพิจารณาข้อมูลหลายส่วนหรือไม่ ขณะที่ท้องถิ่นที่ถ่ายโอนไปแล้วกว่า 10,000 คน บางส่วนไม่ใช่นักสาธารณสุข เป็นแพทย์แผนไทย เป็นพยาบาล และอื่นๆ ซึ่งกระบวนการ ก.ถ.จะเร็วกว่า ขยับได้ง่ายกว่า เพราะตัวเลขบุคลากรที่ถ่ายโอนน้อยกว่าภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข จึงอาจทำได้สะดวกกว่า แต่ทั้งหมดถือเป็นทิศทางที่ดี” นายริซกี กล่าว
เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ กล่าวอีกว่า ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขอาจต้องรอ ก.พ.อีกครั้งหนึ่งว่า นักสาธารณสุข เมื่อกำหนดตำแหน่งแล้ว จะประกาศในกฎ กพ.ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งเมื่อไหร่ และการจัดโครงสร้างตรงนี้จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ รวมถึงเลขตำแหน่งของนักสาธารณสุขนั้น ไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้เลขเดิมได้หรือไม่ และกลุ่มเจ้าพนักงานสาธารณสุขที่จบปริญญาตรีที่มีใบประกอบวิชาชีพฯ จะต้องขอยกเว้นการยุบตำแหน่ง เหมือนกับความก้าวหน้าของพยาบาลในปัจจุบันที่มีการยกเว้นการยุบตำแหน่งเช่นกัน
เมื่อได้ตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” สิ่งที่ต้องพิจารณาตามมาคือ ทั้งเงินประจำตำแหน่ง และเงิน พ.ต.ส. (เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข) ซึ่งนักสาธารณสุขที่มีใบประกอบวิชาชีพจะได้รับเงินดังกล่าวด้วยนั้น ขณะนี้ยังต้องรอหลักเกณฑ์ขั้นตอนการทำงานของ กพ. และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางสภาฯ กำลังติดตามเช่นกัน
2.ความก้าวหน้า เช่นการเลื่อนระดับที่สูงขึ้นของ “นักสาธารณสุข”
“ล่าสุดเห็นข่าวครม.รับทราบการแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรสาธารณสุขของ สธ.และก.พ. ซึ่งยินดีกับพยาบาลที่มีการปรับเกณฑ์ให้ได้ชำนาญการพิเศษ มากขึ้น แต่ยังมีวิชาชีพอื่นๆที่ทำงานเกิน 10 ปีก็ควรได้สิทธิ์เลื่อนระดับให้ได้ชำนาญการพิเศษแบบเลื่อนไหลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้หากว่ากระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับทุกวิชาชีพด้วย คิดว่าน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีให้กับบุคลากรทุกคนในกระทรวงฯ” นายริซกี กล่าว
อย่างข่าวล่าสุด ที่มีการเลื่อนระดับที่สูงขึ้นสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ของพยาบาล กว่าหมื่นตำแหน่ง ส่วนหนึ่งมีการขับเคลื่อนโดยกองการพยาบาล เชื่อมต่อกับองค์กรพย่าบาลที่เกี่ยวข้อง ช่วยดูแลจึงทำให้ขับเคลื่อนได้เร็ว เครือข่ายนักสาธารณสุข จึงขอเสนอให้มีกองการสาธารณสุขชุมชน หรือ กลุ่มงานสาธารณสุขชุมชน โดยเฉพาะที่อยู่ร่วมกับสำนักปฐมภูมิ(ซึ่งอาจยกระดับเป็นกรมปฐมภูมิในอนาคต) เพื่อให้เป็นตัวเชื่อมการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และสภาการสาธารณสุขชุมชน เพื่อดูแลนักสาธารณสุข และบุคลากรในระดับปฐมภูมิ เช่น รพ.สต.ที่เหลืออีกกว่า 6,000 แห่งที่ยังไม่ได้ถ่ายโอน รวมทั้งการดูแลนักสาธารณสุขในหน่วยงานระดับต่างๆภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการทำงานตามนโยบาย ที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าในตำแหน่งและวิชาชีพ เป็นต้น อย่างน้อยนักสาธารณสุข ในส่วนที่ยังไม่ถ่ายโอนไปท้องถิ่น เมื่อมีแรงจูงใจและขวัญกำลังใจในการทำงานที่ดี ก็จะไม่สมองไหล ยังคงปฏิบัติงานสนองนโยบาย และเป็นหนึ่งในสหวิชาชีพที่ร่วมดูแลสุขภาพประชาชนในฐานะบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
3. ค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุข
ที่ผ่านมาชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯได้เข้ามาที่ส่วนกลางเพื่อเรียกร้องขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุข จ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 10 ให้แก่บุคลากรชายแดนใต้สายงานอื่นๆนอกเหนือจาก 4 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ซึ่งเป็น่บุคลากรที่ทำงานเช่นกัน และต่างรอคอยได้รับค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานชายแดนใต้มานาน ที่ผ่านมาเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2559 โดยล่าสุดกระทรวงฯอนุมัติแล้ว ซึ่งจะแบ่งจ่ายเป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขระดับปริญญาตรีได้รับค่าตอบแทนจำนวน 1,000 บาท และผู้ปฏิบัติงานที่วุฒิต่ำกว่าป.ตรีได้ 500 บาท ขณะนี้กำลังทยอยได้รับ ในสามจังหวัด ชายแดนใต้ และสี่อำเภอของสงขลา
นายริซกี กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นการจ่ายตามระดับพื้นที่ เช่น ทุรกันดาร รวมทั้งหลักเกณฑ์อายุราชการ เป็นต้น เรื่องนี้กำลังรอกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขให้แล้วเสร็จ ซึ่งกลุ่มนักสาธารณสุขจะได้รับค่าตอบแทนในสหวิชาชีพ หรือควรมีการขยับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตรงนี้ก็จะเป็นอีกขึ้นตอนที่ทางสภาฯ จะมีการติดตามต่อไป
นายริซกี กล่าวเพิ่มเติม ว่า นักสาธารณสุข ไม่ได้ปฏิบัติงานเพียง รพ.สต.เท่านั้น แต่ยังมีส่วนที่ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) และสำนักงานสาธาณสุขจังหวัด(สสจ.) ซึ่งพวกเขาควรได้รับค่าตอบแทนด้วย เนื่องจากช่วงแรกถูกตีความว่าไม่ใช่หน่วยบริการ แต่ตอนนี้มีระเบียบเงินบำรุง และสามารถบริการสุขภาพประชาชนได้แล้ว ประกอบกับ สสอ.หลายแห่งกลายเป็นหน่วยงานด้านสุขภาพด่านหน้าของพื้นที่ แทนรพ.สต.ที่ถ่ายโอนแล้ว ทำให้ต้องปรับบทบาทของสสอ.ที่ต้องมีโครงสร้างดานบริการสุขภาพด้วย และทั้ง สสอ สสจ.ก็น่าจะได้รับค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขฉบับที่ 11 เหมือนบุคลากรอื่นๆเช่นกัน
ส่วน “ค่าเสี่ยงภัยโควิด19” ที่ยังตกค้างในบางกลุ่ม หวังว่ากระทรวงฯคงช่วยดูแล และดำเนินการต่อ เพื่อให้บุคลากรทุกสายงานได้รับสิทธิดังกล่าวต่อไป
“จริงๆ นักวิชาการสาธารณสุข หรือนักสาธารณสุข ได้รับความสนใจและรู้จักมากขึ้น ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิดด้วย แต่อยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยเติมนักสาธารณสุขที่เป็นวิชาชีพใหม่ ตำแหน่งใหม่ ให้มีอัตรากำลังในระบบให้มากขึ้น สอดคล้องตามกรอบโครงสร้าง และในตอนนี้การผลิตนักสาธารณสุข ไม่ได้ป้อนแค่ตลาดของกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังต้องป้อนตลาดในท้องถิ่นด้วย และกระทรวงอื่นๆด้วย”
กระทรวงสาธารณสุข -ก.พ. -ท้องถิ่นให้ความสำคัญมากขึ้น
ผู้สื่อข่าว Hfocus ถามว่า จากการเรียกร้องความก้าวหน้าในการทำงานของนักวิชาการสาธารณสุข จนมีการกำหนดตำแหน่งเป็น “นักสาธารณสุข” ขณะนี้ถือมาถึงครึ่งทางใกล้ความจริงหรือยัง... นายริซกี กล่าวว่า เป็นสัญญาณที่ดี เพราะหลายเรื่องตั้งแต่มีการเรียกร้องมีการขับเคลื่อนเห็นผล เพียงแต่ก็ต้องรอขั้นตอน แต่ถือว่ากระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ. ฝั่งท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับพวกตนมากขึ้น อาจเพราะเห็นถึงการทำงานช่วงโควิดระบาด ที่ต้องลงพื้นที่อยู่ด่านหน้า แต่จริงๆ ก่อนโควิด นักสาธารณสุขทำงานอยู่กับชุมชนมาตลอด ขึ้นเขาลงห้วย คอยดูแลชาวบ้านเหมือนครอบครัว แต่ตอนนี้การทำงานอาจถูกเปรียบเทียบว่า ระหว่างรพ.สต.ในสังกัดท้องถิ่นและ รพ.สต.ในสังกัด สธ.เดิม รพ.สต.สังกัดใดจะมีการพัฒนาการดูแลสุขภาพประชาชนและยกระดับขวัญกำลังใจและความก้าวหน้าของนักสาธารณสุขได้มากกว่ากัน ทั้งนี้ยอมรับว่า เมื่อเกิดการเปรียบเทียบ กระทรวงสาธารณสุขก็เริ่มรับเรื่องราวในการแก้ปัญหาได้เร็วและให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม”
วอนสธ.ตั้งกองการสาธารณสุขชุมชนรองรับวิชาชีพ "นักสาธารณสุข"
“สิ่งสำคัญเมื่อนักสาธารณสุข ได้รับการยอมรับมากขึ้น มีการกำหนดตำแหน่งและเริ่มเข้าสู่กระบวนการชัดเจนขึ้น ประกอบกับเรามีกฎหมาย คือ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.2556 ทำให้มีกรอบการทำงานชัดเจนขึ้น แต่ทางที่ดีที่สุด กระทรวงฯควรตั้งกองการสาธารณสุขชุมชน กองนี้จะสามารถรับนโยบายกระทรวงฯ และรับข้อเสนอจากพื้นที่และนำมาทำให้สมดุลกันได้ ซึ่งหากสำนักปฐมภูมิฯ ถูกผลักดันเป็นกรมปฐมภูมิขึ้น โดยมีกองสาธารณสุขชุมชนไปอยู่ในสังกัด ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ระหว่างหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อท่านปลัดสธ.ต่อไป”
นายริซกี กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญเราต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะมีโรคระบาดใหญ่อีกหรือไม่ ดังนั้น หากเรามีกองการสาธารณสุขชุมชนโดยเฉพาะ จะเข้าใจงานและยังให้ความสำคัญกับบุคลากร เหมือนกองการพยาบาล ก็ยิ่งจะทำให้การทำงานระดับปฐมภูมิเป็นรูปธรรมขึ้น
“หากโรคระบาดมาอีกครั้ง หลายจังหวัดไม่มีรพ.สต.ในสังกัดสธ.เหมือนที่ผ่านมา ตรงนี้การเชื่อมต่อในการทำงานอาจจะเป็นปัญหา ดังนั้น ต้องมีการเตรียมรับมือให้เหมาะสม ซึ่งท้องถิ่นก็อาจมีหน่วยงานที่เตรียมการรับการระบาดในระดับหนึ่ง แต่ก็จะเป็นการทำงานในมุมมองของท้องถิ่น หากสธ.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ที่ดูแลสุขภาพประชาชน มีการดูแลพัฒนา รพ.สต.ที่ยังอยู่ในสังกัดให้ดีขึ้นและสามารถดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรที่มีอยู่ให้มากขึ้น ก็จะเกิดผลดีกับทุกฝ่าย” เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ กล่าวทิ้งท้าย
เป็นอีกการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของบุคลากรสาธารณสุขที่หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่พวกเขานับเป็นหนึ่งในบุคลากรที่ทำงานโควิดมาตลอด ครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่า ข้อเรียกร้องต่างๆเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว...
อนึ่ง: ข้อมูลจากสภาการสาธารณสุขชุมชน ณ ปัจจุบันมีสมาชิกนักวิชาการสาธารณสุขประมาณ 50,000 กว่าคน แต่ที่สอบใบประกอบวิชาชีพนักสาธารณสุขผ่านแล้วมีประมาณ 26,000 คน ขณะนี้สภาฯกำลังประสานข้อมูลร่วมกับกองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในการรวบรวมข้อมูลนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุขว่า มีจำนวนเท่าไหร่ที่อยู่ในกระทรวงฯ และถ่ายโอนไปท้องถิ่น
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-นักวิชาการสาธารณสุข ยื่นทำเนียบ 14 มี.ค. พร้อมชูสัปดาห์ขอความเป็นธรรม
-นักวิชาการสาธารณสุข ร้องนายกฯ ทำเนียบรัฐบาล ขอความเป็นธรรม 4 ประเด็น
-นักสาธารณสุข ยื่นหนังสือถึงสธ.ถามไทม์ไลน์ตำแหน่งใหม่ “กรอบจัดสรร ขรก. - บรรจุโควิดรอบ 2- ค่าตอบแทน”
-เฮ! มติ ก.พ.เห็นชอบตำแหน่งใหม่ “นักสาธารณสุข” ส่ง สธ.กำหนดกรอบอัตรากำลัง
- 3435 views