กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก อย่างใกล้ชิด ซึ่ง WHO กำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตราย พร้อมชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่าง “โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก” และ “โรคไข้เลือดออก” ซึ่งโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทย
วันนี้ (27 กรกฎาคม 2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก พื้นที่ระบาดอยู่ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียกลาง และเอเชียใต้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตราย และขอย้ำว่า โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทย โรคดังกล่าวมีความแตกต่างจากโรคไข้เลือดออกที่พบผู้ป่วยในประเทศไทย ดังนี้
โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก พบรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2487 ที่บริเวณแหลมไครเมียน ต่อมาเกิดการระบาดในประเทศคองโก สาเหตุเกิดจากเชื้อไนโรไวรัส (Nairovirus) เชื้อดังกล่าวพบในตัวเห็บที่อาศัยอยู่บนตัวสัตว์เท้ากลีบ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น พบระบาดในประเทศในแถบแอฟริกา อเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแถบแปซิฟิกตะวันตก ติดต่อโดย
- ถูกเห็บที่มีเชื้อไนโรไวรัสกัด
- สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ
- สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของผู้ป่วยไครเมียนคองโก
เมื่อป่วยจะเริ่มด้วยอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง มีภาวะเลือดคั่ง ตาอักเสบบวมแดง อาจมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง เกิดขึ้นบริเวณหน้าอกและท้องแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย อาจมีเลือดออกที่บริเวณเหงือก จมูก ปอด มดลูก ทางเดินปัสสาวะ และทางเดินอาหาร อัตราการป่วยตายจะอยู่ที่ ร้อยละ 30-40 หากพบผู้ติดเชื้อให้แยกผู้ป่วยให้อยู่ในห้องเดี่ยว และควรเป็นห้องความดันลบ ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย หากกลับจากต่างประเทศและสงสัยโรคนี้ ให้พบแพทย์และให้ประวัติการเดินทางและปัจจัยเสี่ยง
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ติดต่อโดยมียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร บางรายมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตได้
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 19 ก.ค. 2566 พบรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 41,527 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 2.8 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 41 ราย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 5,057 ราย
ทั้งนี้ หากประชาชนสงสัยหรือมีอาการเข้าได้กับโรคไข้เลือดออก ห้ามกินยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน และยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย ประเมินอาการ และการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว พร้อมทั้งป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัวไม่ให้ถูกยุงกัด โดยยึดหลักมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่
- เก็บบ้าน ให้สะอาดเป็นระเบียบ ปลอดโปร่ง ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้สนิท และหมั่นเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์
- เก็บขยะ หรือเศษวัสดุที่มีน้ำขังทั้งภายในและบริเวณรอบบ้านเพื่อเป็นการกำจัดแหล่งวางไข่ยุงลาย
ทั้งหมดนี้จะสามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกพุ่ง! 30 อำเภอ 18 จังหวัด เล็งใช้กฎหมายควบคุมโรคเพื่อลดอัตราป่วย/ตาย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 575 views