สธ.กำชับแพทย์ อย่าสั่งจ่ายยากลุ่มเอ็นเสดผู้ป่วยมีไข้ช่วงฤดูฝน อาจเป็น "ไข้เลือดออก" เพิ่มเสี่ยงช็อกเสียชีวิต ส่วนประกาศพื้นที่ระบาดไข้เลือดออกให้พื้นที่เสนอ "อธิบดีกรมควบคุมโรค" พิจารณาเห็นชอบ ย้ำ!ประกาศควบคุมเฉพาะพื้นที่ได้ ภาพรวมโรคติดต่อโดยยุงลายเพิ่มขึ้นทั้งหมด แต่ไข้เลือดออกป่วยสูงสุดกว่า 4 หมื่นราย ไข้ปวดข้อยุงลาย-ซิกายังอยู่หลักร้อย
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สธ. ร่วมกันทำกิจกรรม MOPH Big Cleaning Day ปลูกต้นรวงผึ้งหน้าอาคารสำนักงานปลัด และทำความสะอาดพื้นที่บริเวณอาคารสำนักงานปลัดและถนนหลวงวิเชียรแพทยาคม สำรวจแหล่งลูกน้ำยุงลายและใส่ทรายอะเบท เพื่อร่วมกันรณรงค์ควบคุมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
เตือน 3 โรคหลักจากยุงลาย
นพ.โอภาสให้สัมภาษณ์ว่า โรคติดต่อที่มาจากยุงลายที่เจอในไทยมี 3 โรคหลัก คือ 1.โรคไข้เลือดออกเดงกี ซึ่งอยู่ในช่วงการระบาด มีผู้ป่วย 4 หมื่นกว่าคน เสียชีวิต 40 กว่าคน การระบาดในปีนี้เปลี่ยนไปจากเดิม เดิมเป็นในเด็กเล็กและเด็กโต แต่พบว่าเจอในผู้ใหญ่มากขึ้น ปีนี้เห็นชัดเจนมากขึ้น ผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กเล็ก จึงต้องระมัดระวังโดยเฉพาะหากมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดจุกแน่นในท้อง ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นที่แยกยากจากโรคอื่นที่ระบาดในฤดูฝนเหมือนกัน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคฉี่หนู ระยะแรกจะวินิจฉัยยากโดยเฉพาะผู้ใหญ่ จากนั้นอาการไข้จะมีอย่างต่อเนื่อง 3-4 วันก็จะลดลง จะเริ่มมีอาการเลือดออกทั้งที่เห็นและไม่เห็น จะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตในที่สุด ฉะนั้น การควบคุมโรคที่ดีที่สุดคืออย่าให้ยุงลายกัด หรือมียุงลายในบ้านและบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากยุงลายชอบอยู่ในบ้านและกับคน วางไข่ในภาชนะต่างๆ เช่น อ่างเลี้ยงปลา กระถางต้นไม้น้ำต่างๆ ตุ่มน้ำในบ้านหรือสุขา ขอให้ระมัดระวัง ยุงลายวางไข่จะมีวงชีวิต 7 วัน หากกำจัดเทน้ำออกเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ หรือใช้ทรายอะเบทหรือสารต่างๆ เพื่อให้ไม่เหมาะกับลูกน้ำยุงลายก็จะเป็นการควบคุมที่ดี
"ถ้ามีอาการสงสัยคืออย่าไปรับประทานยาที่มีผลให้อาการแย่ลงถ้าเป็นไข้เลือดออกเดงกี เช่น แอสไพริน หรือระยะหลังที่มีการให้ยาลดไข้แก้ปวดที่ค่อนข้างแรงเรียกว่ากลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน พบว่าคนเสียชีวิต 10% มีอาการกินยาพวกนี้ ต้องย้ำเตือนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วยว่า ถ้าไม่แนย่ใจช่วงนี้หากเป็นไข้อย่าพยายามจ่ายยาพวกนี้ให้คนไข้จะทำให้อาการหนักลง และหากมีอาการสงสัยและระยะแรกคุณหมอวินิจฉัยไม่ได้ ยังไม่ดีขึ้น อย่านิ่งนอนใจให้กลับไปพบคุณหมอครั้งที่สองหรือสาม กำชับเจ้าหน้าที่ในรายที่สงสัยถ้าไม่มีเหตุอื่นควรอยู่ใน รพ.ไว้ก่อนเพื่อติดตามอาการ" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า 2.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย จากเชื้อชิกุนคุนยา มีอาการไข้ บางคนมีผื่น หลังจากนั้นจะหายสักพักจะมีอาการปวดตามข้อต่างๆ บางรายจะมีอาการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้ และมีผลแทรกซ้อนทำให้เกิดอาการข้ออักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน แม้ไม่ถึงขั้นเสียชีวิตแต่ทำให้ทุกข์ทรมานเจ็บป่วยปวดข้อเป็นเวลานานๆ ได้ บ้านเรามีการระบาดประปรายไม่ค่อยมีแหล่งโรคที่ชัดเจน จะเวียนสลับกันไป แต่สังเกตว่าบางจังหวัดที่มีการติดต่อจะพบโรคนี้ได้อย่างต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน ถ้าเรากำจัดลูกน้ำยุงลายก็จะกำจัดแหล่งพาหะเชื้อชิคุนกุนยาได้ด้วย และ 3.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา จะมีอาการไข้ ผื่น ขึ้นตามตัว แขนขาหรือใบหน้าได้ ภาพรวมโรคไม่รุนแรงจะหายได้เอง แต่ที่ห่วงคือเป็นในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กได้รับเชื้อด้วย โดยเฉพาะช่วงที่อวัยวะเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่อาจมีอาการสมองเล็ก อาจทำให้เด็กมีความพิการทางสมองและพัฒนาการล่าช้า หากรุนแรงก็เสียชีวิตได้ ย้ำเตือนว่าผู้หญิงตั้งครรภ์รอบบ้านควรมีการควบคุมลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มงวด หรือหากจำเป็นอาจต้องแจกยาทากันยุงต่างๆ วิธีที่ดีที่สุดคือการควบคุมลูกน้ำยุงลายและอย่าให้ยุงกัด
ปลัดสธ.ประชุมอีโอซีกำชับนพ.สสจ. กรณีควบคุมไข้เลือดออก
ถามว่ามีการย้ำกับ รพ.และแพทย์หรือไม่ถึงเรื่องการวินิจฉัยที่อาจจะทำให้ล่าช้า นพ.โอภาสกล่าวว่า มีการประชุมอีโอซีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ได้กำชับให้ทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ใช้การสื่อสารไปยังชมรมนพ.สสจ.และชมรมผู้อำนวยการ รพ.ศูนย์รพ.ทั่วไป และให้กรมควบคุมโรค เลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติทำหนังสือแจ้งเตือนและคำแนะนำไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อให้ผู้ว่าราชการบูรณาการการทำงานร่วมกันอีกระดับหนึ่ง เพราะหากไข้เลือดออกระบาดเยอะๆ จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ ในการบูรณาการทำงานร่วมกัน
ยากลุ่มเอ็นเสดอันตรายทำอาการไข้เลือดออกยิ่งทรุด!
ถามว่าการกินยากลุ่มเอ็นเสดทำให้โรครุนแรงขึ้นรวดเร็วแค่ไหน นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคไข้เลือดออกจะเกิดอาการเลือดออกได้ง่าย เกล็ดเลือดต่ำ ยาพวกนี้มีผลทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ ยิ่งเพิ่มโอกาสเลือดออกได้ง่าย และเลือดออกก็จะเสียเลือดมากจนช็อกเสียชีวิตในที่สุด ย้ำเตือนว่ายาพวกนี้ในรายที่การวินิจฉัยไม่แน่ชัดโดยเฉพาะช่วงการระบาดของไข้เลือดออกไม่ควรสั่งจ่าย ประชาชนไม่ควรไปหาซื้อกินเอง
เกณฑ์พิจารณาพื้นที่ไข้เลือดออก
ถามว่าการประกาศพื้นที่ระบาดไข้เลือดออกของแต่ละพื้นที่มีเกณฑ์พิจารณาอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า การประกาศพื้นที่ระบาดไม่ว่าไข้เลือดออกหรือโรคใดก็ตาม โรคใดที่มีการระบาดมากจนทรัพยากรในจังหวัดหรือพื้นที่หรืออำเภอนั้นรับมือไม่ไหว เช่น ขาดงบประมาณ ขาดยา ขาดหมอ จำเป็นต้องใช้งบประมาณพิเศษหรือวิธีการบูรณาการพิเศษ ให้แต่ละพื้นที่นำเรื่องขึ้นมายังกรมควบคุมโรคให้อธิบดีกรมควบคุมโรคพิจารณา โดยใช้กลไกคณะกรรมการวิชาการประกาศ ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีกรมควบคุมโรค ประกาศได้ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอหรือทั้งจังหวัด ไม่จำเป็นต้องประกาศทั้งจังหวัดหรือทั้งอำเภอ ประกาศเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งก็ได้ เช่น จุดนี้มีลูกน้ำยุงลายหนาแน่น ประชาชนป่วยเยอะ ก็ประกาศจุดนั้นให้ระดมกำลังลงไปช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย เข้าไปบ้านคนที่เป็นแหล่งของโรค วึ่งบางครั้งแหล่งนำโรคเป็นบ้านที่ไม่มีเจ้าของ การเข้าไปบ้านเขาโดยไม่มีเหตุสมควรก็สุ่มเสี่ยงกับการผิดกฎหมาย แต่ถ้าใช้กลไกประกาศเขตโรคระบาด ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะมีอำนาจเข้าไปบ้านนั้นๆ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายได้ หรือการใช้งบประมาณ ซึ่งสาธารณภัยอยู่ใน พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยโรคระบาดในคนถือเป็นสาธารณภัยอีกแบบหนึ่ง ก็จะมีปัญหาว่าใครเป็นคนประกาศ กลไก 2 พ.ร.บ.นี้จะสอดคล้องกันคือ กรมควบคุมโรคประกาศ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นคนเอาประกาศไปดำเนินการ
3 จังหวัดไข้เลือดออกสูงขึ้นกับจังหวัดประกาศเป็นกฎหมายควบคุมหรือไม่
ถามว่าตราด จันทบุรี น่าน ที่มีอัตราการป่วยไข้เลือดออกสูงเกินร้อยต่อแสนประชากร จะมีการประกาศพื้นที่ระบาดหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ต้องให้แต่ละจังหวัดไปพิจารณาดูว่า ประกาศแล้วด้วยเหตุใด เช่น ทรัพยากรไม่พอ ต้องระดมคน งบประมาณ ตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หากจำได้มีผู้ว่าฯ ประกาศระบาดไข้เลือดออก ระดมเงินที่ใช้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้ ปรากฏมีการตีความว่าประกาศไม่ถูก สตง.เรียกเงินคืน จึงต้องให้พิจารณาและเสนอกรมควบคุมโรคออกประกาศ จะได้มั่นใจว่าผู้ว่าฯ ประกาศได้โดยไม่มีประเด็นปัญหาตามมา ตรงนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาคือคนประกาศคือกรมควบคุมโรค ผู้ว่าฯ เป็นคนใช้อำนาจ จะได้ไม่ถูกข้อกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ในการใช้งบประมาณของตนเอง
ถามว่าพื้นที่ที่มีดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงมีข้อหรือไม่ว่า โรคติดต่อนำโดยยุงลายทั้ง 3 โรคมีแนวโน้มระบาดสูงเหมือนกัน นพ.โอภาสกล่าวว่า ไม่ถึงขั้นนั้น เพราะโรคไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เมื่อเทียบกับไข้เลือดออกจำนวนผู้ป่วยถือว่าน้อยกว่าเยอะ ไข้เลือดออกจะเป็นหลักหมื่น แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนไข้ปวดข้อยุงลายหรือซิกาจะเป็นหลักร้อย ถ้าสูงขึ้นก็หลักพัน ดูว่าสอดคล้องกันไหม ไข้เลือดออกเป็นตัวสะท้อนที่ดีที่สุด ซึ่งหลายจังหวัดก็จะเป้นเช่นนั้น มีดัชนีลูกน้ำยุงลายไข้เลือดออกก้จะมากตาม แต่ภาพรวมประเทศตอนนี้ถือว่าสูงหมดเกือบทุกพื้นที่
- 279 views