บุคลากร รพ.สต. เผย บทเรียนถ่ายโอน รพ.สต.สู่ ท้องถิ่น พบ "ขอโอนกลับสธ." เหตุโอกาสก้าวหน้าเท่าเดิม ระบบการทำงานยุ่งยากซับซ้อน นโยบายก่อนและหลังโอนย้ายทำไม่ได้จริง ส่วน "ไม่ขอโอนกลับ" เหตุมีบุคลากรตรงสายงานเพิ่มขึ้น งบประมาณคล่องตัวขึ้น และแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลแม่ข่ายได้ ท้องถิ่นสามารถเข้ามาช่วยดูแลระบบสุขภาพได้มากขึ้น
ตามที่มีกระแสเรื่องบุคลากรขอโอนกลับเป็นจำนวนมาก และมีทั้งบุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้วประสบความสำเร็จ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 บุคลากร รพ.สต.ที่ถ่ายโอนในรอบแรกปีงบประมาณ 66 แต่ละภูมิภาค เปิดเผยกับ Hfocus ถึงกรณีบทเรียนถ่ายโอน รพ.สต.สู่ ท้องถิ่น โดยเล่าถึงเหตุและสภาพปัญหาต่างๆ ในการจัดการการบริการประชาชาชน รวมถึงความสำเร็จ กับการถ่ายโอนฯ มาแล้วเกือบ 1 ปี
ทั้งนี้ หนึ่งในบุคลากรที่ถ่ายโอนฯ รอบแรก(ปีงบประมาณ 66) ให้ข้อมูลดังต่อไปนี้
ภาคกลาง...
- จริงๆไม่ได้ขัดขวางการถ่ายโอนฯ เห็นดีด้วยกับการถ่ายโอนฯ แต่ปัจจุบันเมื่อถ่ายโอนไปอำนาจทุกอย่างขึ้นอยู่กับ อบจ. ทำให้การทำงานไม่ว่าจะเป็น การจัดซื้อ ฯลฯ ระเบียบขั้นตอนช้าทำให้การเบิกจ่ายช้าลง สำหรับเรื่องค่าตอบแทนปัญหาคือ ห้ามควงเวรให้เบิกเป็นรายคาบ แต่ก่อนอาจจะอยู่เช้าถึงบ่ายได้เลย แต่ระเบียบไม่สามารถทำได้ ซึ่งทำให้ค่าตอบแทนก็ลดลง อีกทั้งความก้าวหน้าไม่เป็นไปตามโครงสร้าง การปรับเงินเดือนขึ้นน้อยกว่า เงินเวรน้อยกว่า สวัสดิการและเงินค่าตอบแทนต่างๆ ได้ไม่เท่าเดิม
ส่วนเรื่องงบประมาณในการสนับสนุนอุดหนุนต่างๆ ยังเบิกไม่ได้ครบ ทำให้ไม่สามารถวางแผนในเรื่องใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการจ้างลูกจ้าง การจัดหาวัสดุ อย่างเช่น จะทำห้องฉุกเฉินวางแผนไว้ แต่ตอนนี้งบประมาณยังไม่มา ก็ไม่สามารถทำได้เลย ซึ่งทำให้การบริการล่าช้าออกไป อีกเรื่องคือการทำเอกสารเบิกจ่ายต่างๆ ต้องผ่านหลายกองหลายขั้นตอน แล้วที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์ว่าถ่ายโอนมาแล้วจะได้บุคลากรเพิ่มแต่ปัจจุบันยังอยู่เท่าเดิมยังไม่ได้บุคคลากรเพิ่มมาเลย ยิ่งโดยเฉพาะเป็นพื้นที่ห่างไกล ซึ่งการทำงานภาระงานก็เพิ่มขึ้นด้วย มองว่าถ้าสนับสนุนเรื่องบุคลากรได้จริง สนับสนุนงบประมาณได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เลย ยังอยู่เหมือนเดิมและน้อยกว่าเดิมด้วย ที่ไหนอยู่ได้ก็อยู่ที่ไหนอยู่ไม่ได้ก็ดิ้นรนกันเอง สุดท้ายมองว่าคนที่อยู่รอดคือคนที่เข้ากับนักการเมืองได้จะได้รับการดูแลที่ดี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...
- เหตุที่สมัครใจถ่ายโอนมาคาดหวังว่าจะทำงานเต็มที่ แต่เมื่อมาแล้วเหมือนโดนหลอกมา เพราะในตอนแรกบอกว่าเมื่อถ่ายโอนมาจะได้อัตรากำลังเต็มกรอบตามขนาด SML จริงๆไม่ได้คาดหวังว่าถ่ายโอนมาเพื่อเอาซี 8 แต่เห็นแนวคิดกระบวนการถ่ายโอนฯ ถือเป็นการตอบโจทย์การให้บริการประชาชนได้เต็มที่มีเจ้าหน้าที่พร้อมทุกสาขาวิชาชีพที่ให้บริการประชาชน แต่เมื่อถ่ายโอนมาแล้วบุคลากรไม่มีเลย ลดน้อยลงด้วยซ้ำ ภาระงานเพิ่มขึ้นด้วย ต้องมาเหนื่อยมาคิดว่าจะมีเงินเดือนให้ลูกน้องหรือไม่ ระเบียบต่างๆไม่เอื้อต่อการทำงานเลย ทำโน่นทำนี่ก็ไม่ได้
ส่วนเรื่องสิทธิที่บอกว่าถ่ายโอนมาแล้วจะไม่ลิดรอนสิทธิใดใดเลย แต่ปรากฏว่าไม่ได้ค่าตอบแทนมา 8 เดือนแล้ว ซึ่งความจริงเป็นสิ่งที่เราเคยได้มา ส่วนในเรื่องบริการ อย่างเช่นแต่ก่อนพยาบาลจะให้บริการประชาชนเต็มที่ได้เลย แต่ตอนนี้ต้องมายุ่งวุ่นวายกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างการทำระเบียบต่างๆที่ขั้นตอนยากไปหมด ซึ่งหลักๆเราคาดหวังว่าการถ่ายโอนมาเราอยู่ใกล้ประชาชนให้บริการประชาชนได้เต็มที่และอยู่ใกล้บ้าน และที่บอกว่าพร้อมรองรับ 100% ไม่จริงเลย ปัจจุบันมีความประสงค์ที่จะขอกลับไปอยู่กระทรวงสาธารณสุขแล้ว เพราะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะตอนนี้เจ้าหน้าที่เราเท่าเดิมแต่ภาระงานรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น อนาคตวางแผนว่าถ้ากลับกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้อาจจะลาออก
ภาคตะวันออก...
- ในพื้นที่พบปัญหาการถ่ายโอนว่าก่อนไปได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ได้แต่ข้อมูลด้านบวก แต่พอย้ายมาจริงๆ อย่างเรื่องความก้าวหน้า ที่จะได้ชำนาญการพิเศษทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้จริงหรือไม่ สำหรับเรื่องอัตราเงินเดือนค่าตอบแทน แต่ก่อนอยู่ที่เดิมอัตราเงินเดือนขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ย้ายมาแล้วขึ้นเป็นขั้น ซึ่งเป็นเหตุให้บุคลากรขอกลับกันเยอะ เพราะระดับนักวิชาการปฏิบัติการหรือเจ้าพนักงานปฏิบัติการเงินเดือนขึ้นแค่ 200-300 บาทต่อรอบ ซึ่งเหมือนย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และเมื่อเทียบกับบุคลากรที่ไม่ได้ถ่ายโอนอายุราชการเท่ากัน คนที่ถ่ายโอนกลับได้น้อยกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งบอกไว้ว่าเมื่อถ่ายโอนมาสิทธิสวัสดิการความก้าวหน้าต้องไม่ต่ำกว่าเดิมและมากกว่าเดิม แต่มาแล้วความเป็นจริงไม่สามารถขยับได้เลย ยิ่งโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีนักการเมืองครอบงำทั้งจังหวัดจะเป็นปัญหา ซึ่งตอนนี้เราคิดอย่างเดียวว่าจะทำยังไงถึงจะได้กลับไปกระทรวงสาธารณสุขเหมือนเดิม
ความสำเร็จกับการถ่ายโอนฯ มาแล้วเกือบ 1 ปี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...
- ได้ถ่ายโอนมาในรอบแรกพบว่าการดำเนินงาน เช่น การเบิกจ่าย การทำแผนงาน การทำโครงการ มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงการบริการประชากร มีบุคลากรตรงสายงานเพิ่มมากขึ้น จากที่มีแค่ 3 คน สามารถเพิ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพของรพ.สต. เองได้ด้วย โดยการคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติตรงสาย อย่าง แพทย์แผนไทย เวชศาสตร์การออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นใน รพ.สต. เราเองสามารถสรรหามาได้ และในเรื่องงบประมาณก็คล่องตัวขึ้น เพราะถ้าเราจะทำอะไร ไม่ต้องไปนำเสนอที่อื่น เพราะจะอนุมัติจบอยู่ที่ รพ.สต. เลย แต่ก็มีติดขัดเล็กน้อยในเรื่องการซ่อมแซม การซื้อครุภัณฑ์ ค่อนข้างจะล่าช้า รวมถึงการก้าวหน้าในขนาดนี้ก็ยังล่าช้าอยู่ ส่วนในเรื่องเอกสารแบบฟอร์มต่างๆตอนนี้ทางฝั่ง อบจ. มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขบ่อย ไม่มีแบบฟอร์มที่แน่นอนทำให้การทำรายงานล่าช้า
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้การบริการประชาชนมีความพร้อมเพราะมีบุคลากรให้บริการอย่างเต็มที่บุคลากรยังไม่มีใครอยากถ่ายโอนกลับในตอนนี้ การทำงานค่อนข้างราบรื่นมีการสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆได้ดีขึ้นและ อบจ. ให้ความร่วมมือและสนับสนุนได้เต็มที่มาก และ อสม. ในพื้นที่เราเองก็ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้วให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด
ภาคเหนือ...
- การถ่ายโอนในครั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ ข้อดีในการถ่ายโอนคือสายบังคับบัญชามันสั้นลง ทุกอย่างการจัดการบริหารอยู่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ผ่านมาอาจผ่านหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ มองว่าในแง่การบริการทำให้ทุกภาคส่วนมาดูแลระบบสุขภาพร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันท้องถิ่นเข้ามาช่วยดูแลระบบสุขภาพได้มากขึ้น จากที่เห็นได้ชัดคืองบประมาณ โดยเฉพาะ น่าน ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ รายได้หลักได้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่พอถ่ายโอนมาแล้ว เราได้งบประมาณจากสำนักงบมาเพิ่มอีก ตามขนาด SML มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนเรื่องบุคลากรกรอบอัตรากำลังที่เขียนไว้ว่า 7,12, 14 ตามขนาด รพ.สต. เชื่อว่าถ้าสำนักงบประมาณเติมเงินและให้บุคลากรมาตามกรอบยิ่งเป็นเรื่องที่ดีขึ้นไปอีก จะทำให้การบริการประชาชนทั่วถึงมากขึ้น
สุดท้ายมองว่า การถ่ายโอน รพ.สต. เป็นการแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลแม่ข่ายได้ โดยเฉพาะ การบริการปฐมภูมิถ้าเราให้ท้องถิ่นเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ลดการแออัดของโรงพยาบาลลง จังหวัดน่านค่อนข้างเข้มแข็งเรามีการรวมกลุ่มกันได้ดี น่านมีหน่วยบริการปฐมภูมิ 147 แห่ง มีรพ.สต. ทั้งหมด 124 แห่ง มีสถานบริการสุขภาพชุมชน 23 แห่ง ถ่ายโอนรอบแรกทั้งหมด 95 แห่ง โดยรวมแล้วอาจมีปัญหาเล็กน้อยแต่ตอนนี้ถือว่าไม่กระทบการบริการประชาชนมากนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่สามารถเอ่ยชื่อผู้ให้ข้อมูล เหตุแหล่งข่าวต่างกังวลผลกระทบในพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้มีข้อคิดเห็นแตกต่างกันมาก
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- สธ.เผย 6 เหตุผลบุคลากรกว่า 400 คน ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ขอย้ายกลับกระทรวงสาธารณสุข
- จับตา! กลไกช่วยเหลือบุคลากร รพ.สต.โอนไปอบจ.ขอย้ายกลับกว่า 400 คน - รอบปี 67 ขอย้ายอีก 103 คน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 4131 views