รองเลขาธิการ สปสช. เดินทางลงพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เยี่ยมชมร้านยา Model 3 Plus ผู้ป่วยพบแพทย์ผ่านระบบเทเลเมดิซีนที่ร้านยา ไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล พบแพทย์เสร็จรับยากลับบ้านได้เลย 
 
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อม นายสุรพล สา ยพันธ์ ประธาน อปสข.เขต 10 /นพ.ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 และ นางมลุลี แสนใจ ผอ.สปสช.ขต 10 อุบลราชธานี  ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี  เพื่อเยี่ยมเสริมพลังการจัดบริการรูปแบบใหม่ของเครือข่ายร้านยาโดยใช้รูปแบบร้านยาโมเดล 3 ในพื้นที่ อ.วารินชำราบ

ลดความแออัดและลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาล

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า นโยบายรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน เป็นหนึ่งในโครงการลดความแออัดและลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาลที่ สปสช. ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยร่วมกับเครือข่ายร้านยาที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมบริการด้านเภสัชกรรมในระบบบัตรทอง ในการร่วมดูแลกลุ่มผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคที่มีอาการคงที่ ให้สามารถไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน โดยเริ่มจากโมเดล 1 ที่จะเป็นการให้โรงพยาบาลจัดยารายรายบุคคลแล้วส่งไปที่ร้านยาใกล้บ้านผู้ป่วย จากนั้นมีการดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นโมเดล 2 โรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา และรูปแบบโมเดล 3 ร้านยา จัดซื้อและสำรองยาเพื่อจ่ายให้กับผู้ป่วยด้วยตัวเอง หรือการให้แพทย์ออกใบสั่งยาแล้วให้ผู้ป่วยไปรับ ยาที่ร้านยาด้วยตัวเองเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งใน อ.วารินชำราบ มีร้านยาร่วมโมเดล 3 จำนวน 13 แห่ง

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากโมเดล 3 แล้ว ที่ จ.อุบลราชธานี ยังมีต่อยอดการจัดบริการในรูปแบบพิเศษ หรือเรียกว่า”โมเดล 3 พลัส “กล่าวคือ ผู้ป่วยสามารถเลือกวันนัดที่ประสงค์จะขอพบแพทย์ในวันหยุด (โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)  ผ่านระบบสาธารณสุขระบบทางไกล (Telemedicine) ซึ่งทางร้านยาได้จัดพื้นที่เพื่อเติมสำหรับการขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ไว้เป็นสัดส่วน เมื่อพบแพทย์แล้วผู้ป่วยก็สามารถรับยาจากร้านยาได้เลย ซึ่งจะช่วยเพิ่ม  ความสะดวกแก่ประชาชน ลดระยะเวลารอคอยไปได้อีกระดับหนึ่ง เบื้องต้นในพื้นที่  อ.วารินชำราบ มีร้านขายยานำร่องให้บริการ 2 แห่ง คือ ร้านเมืองทองเภสัช และ ร้านบ้านยาวาริน  โดยมีโรงพยาบาลวารินชำราบเป็นแม่ข่ายในการดำเนินการฯ

สปสช.มีบริการเทเลเมดิซีน และมีบริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน

 

 "ที่ผ่านมา สปสช.มีบริการเทเลเมดิซีน และมีบริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน นวัตกรรมร้านยาโมเดล 3 พลัส คือ การรวมจุดเด่นของทั้ง 2 บริการเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างมากในแง่ที่สามารถพบแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล ไม่เสียเวลาเดินทาง ไม่เสียเวลาไปรออยู่หลายชั่วโมง และพอพบแพทย์เสร็จก็รับยาที่ร้านยาได้เลย ในจุดนี้ผู้ป่วย จะได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากเภสัชกร สามารถใช้เวลาซักถามได้อย่างเต็มที่ไม่เร่งรีบเหมือนในโรงพยาบาล และด้วยความที่ร้านยาอยู่ใกล้บ้าน หากผู้ป่วยมีปัญหาอะไรก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาที่ร้านยาได้สะดวก ทางร้านยาก็ช่วยในเรื่องการติดตามอาการและผลการใช้ยาได้สะดวกเช่นกัน"ทพ.อรรถพร กล่าว

นพ.ธีระพงษ์   แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี  มีร้านยา ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งหมด 67 ร้าน เป็นร้านยาที่ขึ้นทะเบียนให้บริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กๆน้อย 16 กลุ่มอาการ สำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง จำนวน 14 ร้าน ใน 3 อำเภอ และมีโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายร้านยาในโครงการลดความแออัดและลดระยะเวลารอคอยในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และ โรงพยาบาลวารินชำราบ

สำหรับโรงพยาบาลวารินชำราบ ได้มีบริการพิเศษให้กับผู้ป่วย ผ่านระบบสาธารณสุขระบบทางไกล (Telemedicine) ไปยังร้านยา ที่มีเภสัชกร และผู้ป่วยที่นัดไว้  ซึ่งนำร่องในร้านยาเครือข่าย 2 แห่ง โครงการดังกล่าวทำให้ผู้ป่วย ลดระยะเวลารอคอย มีแพทย์ และเภสัชกร ที่คอยติดตามผลการรักษา และให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี จะขยายผลไปยังโรงพยาบาลที่มีผู้รับบริการหนาแน่น  เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เพิ่มทางเลือกให้ประชาชน สามารถเข้าถึงการรักษาที่สะดวกมากขึ้น ซึ่งประโยชน์จะเกิดกับผู้ป่วยในที่สุด

ด้าน นพ.อนุชิต หิรัญกิตติ นายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.วารินชำราบ กล่าวว่า  เดิมมีความสนใจศึกษาในระบบสุขภาพ เคยมีโอกาสได้ศึกษาระบบสุขภาพต่างประเทศแล้ว และได้เห็นความแตกต่างของระบบสุขภาพในประเทศไทยที่เป็นเอกลักษณ์ คือ คนไทยใจดี มีจิตใจเมตตากัน มีความเอื้ออารีกัน  ซึ่งตรงกับหลักการ หมอครอบครัว เป็นอย่างมาก ที่ประชาชนจะมีหมอประจำดูแลสุขภาพทุกเรื่อง ประชาชนรู้สึกชอบและถามว่าเมื่อไหร่จะมีหมอประจำตัวแบบนี้จริงๆสักที อันนี้ตนจึงมีความคิดจะนำ ระบบสาธารณสุขระบบทางไกล (Telemedicine) มาใช้เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางในการดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด

นอกจานี้ ยังเห็นว่าคนไข้ที่มารับบริการที่ รพ. เกิดความแออัด รอนาน บางรายเป็นวัน เลยคิดต่อยอดให้คนไข้รับยาใกล้บ้านพร้อมกับได้พูดคุยกับหมอได้ด้วย รวมถึงสามารถนัดวันเวลาที่สะดวกได้ เหมือนกับในต่างประเทศ จึงนำทักษะที่ตัวเองมีมาใช้เป็นทางเลือก ซึ่งได้เริ่มจากคนไข้ที่หมอดูแลต่อเนื่องและมีอาการคงที่เป็นหมอประจำตัว ตั้งแต่ ดูแลวินิจฉัยโรค ฯลฯ ซึ่งจากการทำโครงการมาสามารถช่วยลดการจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้มาก โดยแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตประจำวันที่สามารถปฏิบัติได้ หลายครั้งพบว่าคนไข้อยากได้คนแนะนำอยากมีหมอประจำตัวที่สามารถปรึกษาได้ จะทำให้คนไข้มีความสุขมากทุกครั้ง และมีความเข้าใจชีวิตเขามากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยหลายคนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอ เป็นเหตุให้สามารถหยุดยาได้จากการช่วยเหลือดูแลพฤติกรรมเบื้องต้นนั่นเอง