สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานเปิดข้อมูล กรณีมีผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลระนอง...กับคำพูดของพยาบาลที่ว่า "เดี๋ยวหมอมาแล้วถามเลยว่าไปดูคนไข้ตึกไหนบ้าง" สะท้อนอะไร? ชี้การที่แพทย์คนเดียวอยู่เวรและดูผู้ป่วยจำนวนมากสร้างความเสี่ยงให้กับทุกคน

วันที่ 16 มิถุนายน 2566 เพจเฟสบุ๊ค สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ได้โพสเรื่องเกี่ยวกับกรณีที่มี เหตุการณ์สาวปวดท้องรุนแรงไปรักษาที่โรงพยาบาลระนอง แต่ขาดแพทย์มาวินิจฉัย จนช็อกเสียชีวิตคารถเข็นหน้าห้องฉุกเฉินนั้น ได้มีคำพูดของพยาบาลที่ว่า "เดี๋ยวหมอมาแล้วถามเลยว่าไปดูคนไข้ตึกไหนบ้าง"

ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าว เพจเฟสบุ๊ค สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ได้ระบุข้อความดังนี้

เหตุการณ์ผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลระนอง...กับคำพูดของพยาบาลที่ว่า "เดี๋ยวหมอมาแล้วถามเลยว่าไปดูคนไข้ตึกไหนบ้าง" สะท้อนอะไร?
.
จากข่าวดังกล่าว เบื้องต้น ทาง สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ความสูญเสียนี้ เป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

จากเนื้อหาข่าว จะพบว่ามีข้อจำกัดในการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อได้ข้อวินิจฉัยทั้งเครื่องมือการตรวจและแพทย์เฉพาะทาง แต่นอกเหนือไปจากนั้น เมื่อเราดูคลิปนี้ดีๆ ประโยคดังกล่าว "เดี๋ยวหมอมาแล้วถามเลยว่าไปดูคนไข้ตึกไหนบ้าง" เป็นประโยคสำคัญ ชวนให้นึกถึงตอนที่ต้องดูคนไข้ลำพังหลายวอร์ด หลายชั้น บางคนต้องดูผู้ป่วยในหลายตึกคนเดียว หลายครั้งที่ได้รับแจ้งอาการจากพยาบาล และบีบให้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้อง "เลือก" ว่าเราจะไปดูใครก่อนตามความด่วน เพราะมีเพียงเราเท่านั้น ที่จะเลื่อนความตายออกจากผู้ป่วยในเวลานั้นได้

น่าเศร้าที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลายที่ หลายแห่ง และขณะที่คุณอ่านข้อความนี้ มันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ เราอาจจะไม่ทราบว่าเหตุการณ์นี้ เกิดอะไรขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่แพทย์คนเดียวอยู่เวรและดูผู้ป่วยมากเกินจะรับไหวนี้ สร้างความเสี่ยงให้กับทุกคน

ภาวะ "แพทย์ลาออก" และ "แพทย์ขาดแคลน" จึงเป็นเรื่องเดียวกัน หากเราต้องเจอค่ำคืนแบบนี้ซ้ำๆ รับผิดชอบหลายชีวิต วิ่งหลายตึก แต่ได้ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับความกดดัน (150 บาท/ชั่วโมง และเป็นเวลานอกราชการ ตั้งแต่ 16.00-24.00 ต่อไปถึง 24.00-08.00 เช้า) และวันต่อมา ยังต้องทำงานต่อในวันถัดไปจนถึงช่วงเย็นโดยอาจจะไม่ได้นอนเลยแม้แต่นาทีเดียว ก็คงไม่ยากที่จะบีบให้แพทย์คนหนึ่ง ต้องหนีจากระบบนี้อย่างจำใจ

#คืนความเป็นคนให้หมอ เพื่อที่หมอจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยง รวมถึง #เพิ่มกรอบอัตรากำลังบุคากรทางการแพทย์ เพื่อไม่ให้แพทย์คนเดียวต้องวิ่งวุ่นทั้งโรงพยาบาล ดั่งคำพูดของพยาบาลท่านนี้

 

เร็วๆนี้ ยังเปิดเผยข้อมูลอีกว่า 

ได้รับการแจ้งข่าวว่า รพ.ระนองมี intern 1 เพียง 9 คนและต้องวนโรงพยาบาลชุมชน 1 คน ทำให้เหลือในโรงพยาบาลระนองเพียง 8 คนเท่านั้น แต่ละเวรห้องฉุกเฉินมี intern คนเดียว

เวรอายุรกรรมมี intern 1 คนดูแลวอร์ด icu อายุรกรรมชาย,หญิง แผนกโควิด และรับปรึกษานอกแผนก นอกจากนี้ มีการขอความร่วมมือจากรพช. ส่งแพทย์มาช่วยที่รพศ.อีกด้วย

 

 

 

อ้างอิงข้อมูล : เพจเฟสบุ๊ค สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน