ข่าวปลอม! ห้ามผู้ป่วยมะเร็งกินปลาหมึก หอย ปลาที่เลี้ยงในกระชัง
อย่าแชร์! ห้ามผู้ป่วยมะเร็งกินปลาหมึก หอยทุกชนิด และปลาที่เลี้ยงในกระชัง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ยังไม่มีข้อมูลหรือข้อแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งงดอาหารดังกล่าว
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีการแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องผู้ป่วยมะเร็งควรงดปลาหมึก หอยทุกชนิด และปลาที่เลี้ยงในกระชัง ว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลดังกล่าว ไม่มีคำแนะนำห้ามผู้ป่วยมะเร็งงดอาหารเหล่านี้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างครบถ้วน เพียงพอโดยคำนึงถึงความต้องการของพลังงานตามอายุ กิจกรรม และระดับความรุนแรงของโรค เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร น้ำหนักลด การสูญเสียกล้ามเนื้อ รวมถึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรค
ผู้ป่วยมะเร็งควรรับประทานอาหารในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น
- จำกัดการบริโภคอาหารทะเลบางชนิดที่อาจมีคอเลสเตอรอลสูง
- เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด
- ควรรับประทานอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ
แม้ว่าโปรตีนจะเป็นสารสำคัญและมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรเลือกรับประทานโปรตีนจากแหล่งอาหารที่หลากหลาย เช่น ปลา ไก่ ไข่ และนม ซึ่งอาหารในกลุ่มปลาหมึก หอย และปลา เป็นอาหารที่ให้สารอาหารในกลุ่มโปรตีน ถือเป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกายมีส่วนในการช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพออาจส่งผลให้กล้ามเนื้อถูกสลายไปใช้เป็นพลังงานส่งผลเสียต่อร่างกายได้
ผู้ป่วยโรคมะเร็งห้ามกิน "เนื้อสัตว์" จริงหรือไม่
นอกจากนี้ กรณีคำแนะนำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งห้ามกิน "เนื้อสัตว์" ควรเลือกกินมังสวิรัติ รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งแล้ว และกำลังทำการรักษา ทั้งการรักษาแบบเคมีบำบัด (คีโม) ผ่าตัด หรือฉายแสง โดยเชื่อว่าต้องเลือกรับประทานอาหาร มะเร็งจะได้ขาดอาหารแล้วตาย ซึ่งไม่เป็นความจริง เซลล์มะเร็งก็เป็นเซลล์ของร่างกายเหมือนกัน เพียงแต่มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ยีนต่าง ๆ เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง มีความต้องการอาหาร ต้องการอากาศเหมือนกัน ไม่ต่างกับเซลล์ปกติ ถ้างดอาหาร เซลล์ปกติหรือร่างกายก็จะขาดอาหารไปด้วย
รศ.นพ.เอกภพ ยืนยันว่า การอดอาหารจึงไม่ได้ทำให้เซลล์มะเร็งโตช้าลง เพราะมะเร็งมีความสามารถในการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตด้วยตัวมันเอง แม้เราจะไม่ให้อาหารเลย มะเร็งก็ไปแย่งอาหารจากร่างกายเรา สังเกตได้ว่า ผู้ป่วยมะเร็งร่างกายจะซูบผอมเนื่องจากถูกแย่งอาหารไปการงดอาหารในการรักษามะเร็งไม่ได้ช่วย นอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังมีโทษ สภาพร่างกายทั่วไปจะผอมลง เวลาได้รับเคมีบำบัดจะมีผลข้างเคียง และต้องฟื้นตัวเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ทันเวลาที่จะรับเคมีบำบัดรอบต่อไป หากได้รับอาหารไม่เต็มที่ ร่างกายผู้ป่วยจะฟื้นตัวช้า การได้ยา รับการรักษาก็จะไม่เต็มที่ตามแผนการที่วางไว้ ประสิทธิภาพการรักษาก็จะแย่ลง การไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือเนื้อวัว จึงไม่มีผลทั้งในแง่ของการป้องกันและรักษามะเร็ง ทั้งนี้ การศึกษาในประเทศอังกฤษยังพบว่า คนไข้มะเร็งเต้านมในกลุ่มที่ทานเนื้อสัตว์รักษาตัวได้ดีกว่ากลุ่มที่งดทานเนื้่อสัตว์
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 80,000 คน โรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก คือ
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งปากมดลูก
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่สำคัญ 3 ประการ คือ
- ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและพยาธิบางชนิด
- ปัจจัยจากพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือเค็มจัด อาหารที่มีส่วนผสมดินประสิวและไหม้เกรียม
- ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ความผิดปกติของยีน และความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
ปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลเท็จด้านโรคมะเร็งจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยที่หลงเชื่อตัดสินใจผิดพลาด จนได้รับการรักษาที่เหมาะสมล่าช้า ขาดโอกาสที่จะหายขาด และอาจซ้ำเติมให้โรคมะเร็งที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้นได้ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งควรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ / ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง หรือ Anti Fake Cancer News (AFCN) และยังสามารถอ่านข้อมูลจากข่าวปลอมได้ที่เฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 1.4 แสนคน หรือ 400 คนต่อวัน ขยายการรักษาให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 5189 views