แนวทางการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ
“หมอประกิต” ยื่นเสนอข้อเสนอต่อพรรคการเมือง แนวทางการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ ชูมาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ หนุนเปลี่ยนอาชีพ ปลูกพืชทดแทน สร้างรายได้มั่นคงกว่าเดิม ชี้ทั่วโลกสูบบุหรี่ลดลง กระทบรายได้ชาวไร่ยาสูบถ้วนหน้า
ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบไทย ขอให้พรรคการเมืองต่าง ๆ กำหนดนโยบาย มาตรการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากรายได้การปลูกใบยาสูบลดลงนั้น ชาวไร่ยาสูบไทยประสบปัญหาความเดือดร้อนมาหลายปี จากการที่การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ลดโควตาการซื้อใบยาจากชาวไร่ยาสูบลงติดต่อกัน 5 ปี ตามที่เปิดเผยโดยตัวแทนชาวไร่ยาสูบ ที่ระบุสาเหตุว่ามาจากการปรับโครงสร้างภาษี ทำให้บุหรี่ของ ยสท. ถูกบุหรี่ต่างประเทศแย่งส่วนแบ่งการตลาด ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาบุหรี่เถื่อน และผลิตภัณฑ์บุหรี่ชนิดใหม่โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบที่ถูกลดโควตาด้วยการให้เงินชดเชย อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้เกิดขึ้นกับชาวไร่ยาสูบในประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ปริมาณต้องการใบยาสูบโดยรวมของโลกลดลง 20% ระหว่าง ปี ค.ศ. 2013-2018 เพราะทั่วโลกมีการสูบบุหรี่ลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้นิโคตินสังเคราะห์แทนนิโคตินที่สกัดจากใบยา
ศ.นพ. ประกิต กล่าวว่า มีตัวอย่างประเทศที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทยคือ รัฐบาลมาเลเซียช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010-2012 ทำโครงการปลูกพืชตระกูลปอ (Kenaf) ทดแทนครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การแปรรูปเป็นวัสดุทางอุตสาหกรรม มีการขึ้นภาษียาสูบและนำภาษีที่เก็บได้มาสนับสนุนชาวไร่ยาสูบ 23,000 ครัวเรือน ล่าสุดมีชาวไร่ยาสูบเหลือเพียง 100 ครัวเรือน เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ มีบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมาตั้งฐานผลิตบุหรี่ขายทั้งในฟิลิปปินส์และส่งออกทั่วอาเซียน โดยมีการประกาศใช้กฎหมายภาษีบาป เก็บภาษีเพิ่มจากสุราและยาสูบ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และปัจจุบันมีการขึ้นภาษีทุกปี พร้อมกำหนดให้นำเงินภาษี 5 % แต่ไม่เกิน 4 พันล้านเปโซต่อปี (ราว 2,400 ล้านบาท) จัดสรรให้จังหวัดที่ปลูกพืชยาสูบ เพื่อใช้สนับสนุนการปลูกพืชทดแทน และการพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนอาชีพของชาวไร่ยาสูบ และสนับสนุนประกันสุขภาพคนจนทั่วประเทศ
“กรณีศึกษาทั้ง 2 ประเทศนี้ สำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก นำไปเป็นตัวอย่างให้แก่สมาชิกประเทศช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบตามข้อกำหนดข้อ 17-18 ว่าด้วยการแก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบให้ออกจากอาชีพทำไร่ยาสูบ ที่นับวันอาชีพชาวไร่ยาสูบจึงนับวันจะอยู่ยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะคนสูบบุหรี่ลดลง ยากที่จะคงสภาพความมั่นคงของอาชีพนี้ไว้ได้ ทั้งนี้ หวังว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ของไทยจะได้พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องอย่างจริงจังตามที่มีหลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว ซึ่งประเด็นรณรงค์วันไม่สูบบุหรี่โลกปีนี้ ที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกคือ “Grow foods, not tobacco” หรือ “ปลูกพืชที่เป็นอาหาร ไม่ใช่ยาสูบ” ซึ่งผมยินดีสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาให้ชาวไร่ยาสูบมีอาชีพมั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาพดี” ศ.นพ. ประกิต กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : บุหรี่...ภัยร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบทุกขั้นตอน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 175 views