ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร
ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร อันตรายไหม เป็นได้เฉพาะผู้ชายหรือไม่ สาเหตุและความเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคไส้เลื่อน การป้องกันและการรักษา เป็นแล้วต้องผ่าตัดใช่หรือไม่
นพ.กสานติ์ เมฆสวัสดิ์ชัย นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานศัลยกรรมโรงพยาบาลราชวิถี2 (รังสิต) กรมการแพทย์ อธิบายถึง ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร กับ Hfocus ว่า ไส้เลื่อน เป็นการยื่นของอวัยวะภายในช่องท้อง อาจเป็นลำไส้หรืออาจเป็นไขมันในช่องท้องก็ได้ ไส้เลื่อนโดยปกติจะเกิดได้หลายตำแหน่ง แต่ 75 เปอร์เซ็นต์ ของไส้เลื่อนจะเกิดที่บริเวณขาหนีบ ซึ่งเป็นก้อนที่ยื่นเข้าหรือหดกลับได้ แต่ในบางกรณีไส้อาจออกมาข้างนอกแล้วเกิดอุดตันหรือการรัดของลำไส้ ทำให้ลำไส้ขาดเลือดจนเกิดอันตราย ทั้งนี้ ไส้เลื่อนในผู้ชายเป็นก้อนนูนที่ยื่นเข้ายื่นออกได้ จะเป็นบริเวณขาหนีบหรือหัวหน่าว มีบางส่วนที่ลงไปในถุงอัณฑะ บางรายอาจเป็นความรู้สึกปวดหน่วง โดยไส้เลื่อนจะเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ผู้หญิงพบได้น้อยกว่า ไส้เลื่อนในผู้หญิงจะเกิดที่บริเวณขาหนีบเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่เป็นโรคไส้เลื่อนจะพบได้ 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่พบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี จากความผิดปกติของพัฒนาการ ร่างกายของเด็กจะมีรูเชื่อมจากช่องท้องออกมาด้านนอก ปกติรูนี้ต้องปิดไปหลังจากคลอดออกมา แต่เด็กบางคนรูนี้ไม่ปิด จึงเกิดเป็นโรคไส้เลื่อนในเด็ก
- กลุ่มผู้ใหญ่ พบได้หลายช่วงอายุ แต่อายุ 40 ปีขึ้นไป จะพบไส้เลื่อนได้มากที่สุด
สาเหตุ ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร
สาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน จะเกิดจากผนังหน้าท้องบริเวณนั้นมันหย่อน รวมถึงการเพิ่มความดันในช่องท้อง
- เกิดได้กับผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง หรือคนที่สูบบุหรี่และเป็นโรคถุงลมโป่งพอง เวลาไอจะเพิ่มความดันในช่องท้อง ทำให้มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้
- การยกของหนักไปเพิ่มความดันในช่องท้อง
- การเบ่งปัสสาวะบ่อย ๆ โดยเฉพาะคนที่ต่อมลูกหมากโต ทำให้ปัสสาวะลำบาก
- การเบ่งอุจจาระบ่อย ๆ โดยเฉพาะคนที่ท้องผูก
- คนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีภาวะอ้วน หรือหญิงตั้งครรภ์ ก็มีความเสี่ยงในการเพิ่มของความดันในช่องท้องได้
อาการของไส้เลื่อน
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ จะมีก้อนยื่นบริเวณขาหนีบ เวลาไอหรือเบ่ง ก้อนจะนูนออกมามากขึ้น ส่วนใหญ่เวลานอนหรือเอามือดัน ก้อนดังกล่าวก็จะยุบกลับไปได้ปกติ ซึ่งไส้เลื่อนในผู้ชายจะพบก้อนที่บริเวณขาหนีบ หัวหน่าว และถุงอัณฑะ
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ จะมีก้อนยื่นเข้าออกบริเวณสะดือ
- ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด ผู้ที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน บริเวณแผลผ่าตัดตรงช่องท้องก็จะอ่อนแอมากกว่าจุดอื่น ทำให้เกิดไส้เลื่อนได้ในบริเวณนี้
ในผู้ป่วยไส้เลื่อนบางรายอาจมีอาการปวดหน่วง แต่ที่อันตรายคือ ภาวะแทรกซ้อน เพราะลำไส้ยื่นออกมาแล้วโดนรัดโดยผนังหน้าท้องที่เป็นรู ทำให้เกิดลำไส้อุดตันหรือลำไส้ขาดเลือด ตัวอย่างอาการ เช่น
- ลำไส้อุดตัน : ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ไม่สามารถถ่ายหรือผายลมได้
- ลำไส้ขาดเลือด : ปวดท้อง หรือปวดบริเวณก้อน
วิธีรักษาไส้เลื่อน
นพ.กสานติ์ แนะนำว่า เมื่อรู้สึกปวดหน่วงมาก อาการไส้เลื่อนรบกวนชีวิตประจำวัน การรักษาด้วยการผ่าตัดจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ปัจจุบันการผ่าตัดแบบเปิดแผลทางด้านหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบ ใช้การดมยาสลบหรือบล็อคหลัง ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1-2 วัน หรือการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลผ่าตัดเล็กกว่า อาการเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดน้อยกว่า หากไส้เลื่อนทิ้งไว้นานและไม่พบแพทย์ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ค่อนข้างรุนแรง เกิดเป็นลำไส้อุดตันหรือลำไส้ขาดเลือดได้
การป้องกันไส้เลื่อน
นพ.กสานติ์ กล่าวถึงการป้องกันไส้เลื่อนว่า ทำได้ด้วยการควบคุมน้ำหนัก ไม่ควรยกของหนัก หากออกกำลังกายที่เพิ่มความดันในช่องท้องก็ต้องระวัง ควรออกกำลังกายอย่างถูกต้องโดยรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หมั่นดูแลสุขภาพให้ดี งดสูบบุหรี่ เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ไอเรื้อรังอาจเป็นโรคปอดหรือติดเชื้อในปอดได้ ท้องผูกเรื้อรัง หรือปัสสาวะลำบาก ควรปรึกษาแพทย์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์แนะวิธีเลี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง”
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 27557 views