เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) ของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ย้ำเป็นนโยบายสำคัญที่ สปสช. พยายามผลักดันให้มีการใช้เครื่อง APD ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 4 สระบุรี นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. เขต 4 สระบุรี ลงพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเยี่ยมชมโครงการบำบัดทดแทนไตผ่านการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตลอดจนเยี่ยมบ้านผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ใช้สิทธิบัตรทองและได้รับการรักษาด้วยเครื่อง APD
การบำบัดทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบบัตรทอง
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การบำบัดทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบบัตรทอง จะมีทั้งหมด 4 รูปแบบ คือ 1.การล้างไตทางเส้นเลือดหรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) 2. การล้างไตทางหน้าท้อง แบบผู้ป่วยทำเอง (CAPD) ซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ย 3-4 รอบต่อวัน 3. การล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) และ 4. การปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่สามารถปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้เพียง 600 รายต่อปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักได้รับการบำบัดทดแทนไตใน 2 วิธีคือการฟอกเลือดและการล้างไตผ่านทางหน้าท้อง
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่อง APD เป็นทางเลือกล่าสุดที่ สปสช. ได้เพิ่มเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์ โดยมีหลักการทำงานแบบเดียวกันกับการล้างไตทางหน้าท้องที่ผู้ป่วยต้องทำเอง เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ ใช้เวลา 8-12 ชั่วโมงในเวลากลางคืน ผู้ป่วยสามารถเปิดให้เครื่องล้างแล้วนอนหลับได้เลย เมื่อตื่นขึ้นมาเครื่องก็จะล้างไตเสร็จพอดี ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากยิ่งขึ้น
วิธีการล้างไตด้วยเครื่อง APD จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่สุขสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น
“วิธีการล้างไตด้วยเครื่อง APD จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่สุขสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ สปสช. พยายามผลักดันให้มีการนำเครื่อง APD ไปใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงบริการนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ใช้เครื่อง APD ประมาณ 2,500 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ใช้เครื่อง APD เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 170-200 รายต่อเดือน” นพ.จเด็จ กล่าว
ด้าน พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยากล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ผู้ป่วยใช้เครื่อง APD จะมี 2 ส่วนหลักๆ คือ 1. ปัจจัยทางการแพทย์ โดยพิจารณาจากความพร้อมของผู้ป่วย โดยมักจะเป็นผู้ป่วยที่ใช้วิธีการล้างไตผ่านทางหน้าท้องแล้วเกิดอาการผนังหน้าท้องเริ่มเสื่อมไม่สามารถแลกเปลี่ยนของเสียได้ดีเท่าที่ควร มีภาวะปัสสาวะออกน้อย หรือผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำท่วมปอดบ่อย มีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง
2. ปัจจัยทางสังคม โดยพิจารณาจากวิถีชีวิตของผู้ป่วย เช่น หากเป็นนักเรียนนักศึกษา การล้างไตผ่านทางช่องท้องด้วยตนเองต้องเปลี่ยนน้ำยาล้างไตทุกๆ 4-6 ชั่วโมงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียน หรือผู้ป่วยที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจำเป็นจะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก หรือผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตัวเองได้ และไม่มีคนดูแลในช่วงเวลากลางวัน ฯลฯ
การล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่อง APD
พญ.เสาวลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับการพิจารณาแล้วว่าสามารถใช้เครื่อง APD ได้ ผู้ป่วยจะได้รับฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจนกว่าจะใช้งานเครื่องได้ และเมื่อนำเครื่องไปใช้ที่บ้านจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามเยี่ยมไข้ เพื่อสอบถามปัญหาต่างๆ ในส่วนของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ใช้วิธีฟอกเลือด 79 ราย วิธีล้างไตทางหน้าท้องด้วยตนเอง 98 ราย ส่วนการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่อง APD เริ่มจัดบริการในปี 2564 ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD จำนวน 46 รายซึ่งผู้ป่วยที่ล้างไตด้วยวิธีนี้มีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อน้อยลง ที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยามีผู้ป่วยเพียง 2 รายที่เกิดอาการติดเชื้อจากทั้งหมด 46 ราย อีกทั้งการใช้เครื่อง APD ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ได้มาก เพราะสามารถลดโอกาสติดเชื้อและลดอาการน้ำท่วมปอดได้เป็นอย่างดี
นายวัชระ คุ้ยด่วน อายุ 27 ปี ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 ผู้ได้รับการบำบัดทดแทนไตผ่านเครื่อง APD มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เปิดเผยว่า ปัจจุบันใช้สิทธิบัตรทองรักษาที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา หลังจากป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังมานานกว่า 10 ปี ช่วงแรกใช้เวลารักษาตามอาการ 3 ปีแต่อาการไม่ดีขึ้นจึงเปลี่ยนวิธีการรักษามาเป็นการฟอกเลือด หลังจากนั้นได้เปลี่ยนเป็นการล้างไตผ่านทางหน้าท้องด้วยตนเอง ซึ่งมีความยุ่งยากและกระทบกับชีวิตประจำวันมาก ทำให้ไม่สามารถหางานเลี้ยงชีพได้เพราะต้องกลับมาล้างไตที่บ้านทุกๆ 4 ชั่วโมง
“หลังจากได้เครื่อง APD มาชีวิตก็ดีขึ้นมาก มีความสะดวกสบาย สามารถทำตอนนอนแล้วตื่นขึ้นมาก็ฟอกไตเสร็จ เวลาไปต่างจังหวัดก็สามารถยกเครื่องไปฟอกได้ถึงที่ ทำให้ตอนนี้สามารถออกไปสมัครงานเพื่อหาเลี้ยงชีพได้แล้ว” นายวัชระ กล่าว
- 391 views