ปลัดสธ.พิจารณาทุกฝ่ายเกี่ยวข้องจัดระดับโรงพยาบาลในสังกัดใหม่ จาก 4 ระดับ เป็น 3 ระดับ เรียกว่า SAP มี Standard- Academy- Premium/Professionnal เน้นทุกแห่งมีมาตรฐานกลาง พร้อมยกระดับความเชี่ยวชาญ
เมื่อวันที่ 21 เมษายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับระดับใหม่ของ รพ.ในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. ว่า หากแบ่งระดับของโรงพยาบาล(รพ.) ตามกฎหมายในการสื่อสารภายนอกจะเป็น รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน และมี รพ.สต. แต่การแบ่งระดับเพื่อสื่อสารกันภายในกระทรวงฯ เดิมเราจะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ F : Fundamental , M : Middle , S : Standard และ A : Advance ซึ่งเราปรับระดับตามจำนวนเตียงและศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย แต่เมื่อไปดูตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไม่ได้ขาดมาก อย่าง รพ.ชุมชนเล็กๆ มีแพทย์อย่างต่ำ 4-5 คนขึ้นไป บางโรงก็มีเป็น 10-20 คน แต่ที่ยังไม่ได้พัฒนาเนื่องจากเตียงและประชากรในพื้นที่มีเท่านี้ จึงไม่ได้พัฒนาปรับระดับ กระทรวงฯ จึงมีแนวคิดใหม่ว่า เราจะเป็น รพ.ของประชาชน ก็ต้องยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก อย่าไปยึดศักยภาพของเราเป็นหลัก และจริงๆ ตอนนี้ศักยภาพของเรามีมากกว่าสิ่งที่เราควรจะทำ เช่น ฟอกไตจริงๆ ก็สามารถทำได้ทุกที่ และเราก็มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้น
"จากเดิมเรามีระดับ อย่าง F แบ่งเป็น F3 F2 F1 โดย F3 หากพัฒนาก็ต้องขยับไปเป็น F2 สักขั้นหนึ่ง ก็เลยเกิดแนวคิดใหม่ว่าเรามาปรับระดับ รพ.เราใหม่ เราไม่เอา F M S A แล้ว เพราะเข้าใจยาก ก็เลยเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเหลือเพียง 3 ระดับ เรียกว่า SAP หรือแซ่บ ซึ่งทางอีสานแปลว่าอร่อย บางคนเอามาใช้สื่อว่าเผ็ด หรือคนยุคใหม่ก็สื่อในทำนองว่าดี ซึ่งก็จะจำง่าย" นพ.โอภาสกล่าว
ปรับระดับ รพ. เป็น 3 ระดับ "SAP"
ทั้งนี้ ระดับ รพ.แบบใหม่ SAP ประกอบด้วย
S : Standard
รพ.แบบมาตรฐาน โดยทุก รพ.ต้องมีมาตรฐานก่อน ซึ่งจะมีมาตรฐานกลางก่อนคืออะไร รพ.ชุมชนก็ต้องมีมาตรฐานแบบ รพ.ชุมชน ส่วน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปก็ต้องมีมาตรฐานแบบ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป อีกแบบหนึ่ง
A : Academy
คือการสอนคนอื่นได้ เนื่องจาก รพ.ของ สธ.หลายแห่ง โดยเฉพาะ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปมีนักศึกษาแพทย์ มีแพทย์มาฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทาง มีพยาบาลมาฝึก ถือเป็นอีกภารกิจของกระทรวงฯ เนื่องจากเวลากระทรวงฯ ฝึกบุคลากรก็เหมาะกับการมาใช้งานของเรา เดิมมหาวิทยาลัยผลิตก็ไม่ได้ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เอา รพ.ของ สธ.เป็นแหล่งผลิตนักศึกษาแพทย์และพยาบาลของเขาด้วยซ้ำ ทำไมเราไม่พัฒนาของเรา เวลาเราสอนคนมันก็เพิ่มศักยภาพ ดังนั้น เมื่อมี Standard แล้ว หากมีสอนคนอื่นด้วยก็แสดงว่าศักยภาพคุณต้องเพิ่มขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นระดับ Academy
P : Premium/Professional
ซึ่งจะขอสรุปคำอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นระดับสุดยอด ต้องเทียบเท่ากับ รพ.มหาวิทยาลัย ซึ่งหลายที่มีศักยภาพแบบนั้น เช่น รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ศูนย์ระดับใหญ่ที่รับนักศึกษาแพทย์ได้เยอะ เป็นต้น ซึ่งแม้แต่ รพ.ชุมชนก็สามารถพัฒนาเป็นระดับ Premium ได้หากทุกอย่างดเข้าเกณฑ์
ยกระดับ รพ. เพื่อการบริหารอย่างมีศักยภาพ
"เรายกระดับใหม่เป็น 3 ระดับ เพื่อดูกำลังคน งบประมาณ ศักยภาพที่จะทำ โดยให้ทุก รพ.ยกระดับการให้บริการประชาชน อย่าไปยึดกรอบกับจำนวนประชากรในพื้นที่ สำหรับการดำเนินงานในเรื่องนี้ คนเรามีอยู่แล้ว หมอ พยาบาล ฯลฯ เครื่องไม้เครื่องมือ หากยกระดับขึ้นไปก็หางบประมาณ ซึ่งตอนนี้เงินบำรุงก็มีอยู่ ซึ่งแผนเงินบำรุงก็คือดูเรื่องสวัสดิการเจ้าหน้าที่ ดูความต้องการประชาชน อย่างที่จอดรถ ศาลาพักญาติ และเพิ่มศักยภาพ รพ. เช่น เปิดห้องผ่าตัด เปิดห้องฟอกไต เปิดศูนย์ฉายรังสี งบประมาณส่วนหนึ่งก็ใช้เงินบำรุง อีกส่วนของบประมาณพวกสร้างตึกต่างๆ" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงของการพูดคุยนโยบายให้ตกผลึกกันก่อน พูดคุยกัน 2-3 รอบแล้ว โดย 3 ชมรมก็มาคุยแล้ว ก็จะเชิญ 5 ชมรมมาคุย ทั้งชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรม ผอ.รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ชมรม ผอ.รพ.ชุมชน ชมรมสาธารณสุขอำเภอ และชมรม ผอ.รพ.สต. จากนั้นจะให้เริ่มดำเนินการทันที ซึ่งในส่วนของ รพ.สต.ก็จะรวมอยู่ในนี้ด้วย ถึงได้มาคุยกัน ทุกอย่างต้องมีพัฒนาการ รูปแบบจะเป็นอย่างไรก็ต้องคุยกันไป
ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ.ชูฉากทัศน์กระทรวงฯใหม่ มอบนพ.สสจ.บริหาร รพ.ในจังหวัดหนึ่งเดียวทุกแห่ง เน้นบริการไร้รอยต่อ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 32016 views