สธ.เตรียมรับโรคโควิด-ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ชี้มีระบบรองรับครบถ้วน ชวนประชาชนฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนมารับเข็มกระตุ้น ป้องกัน XBB ได้  “อนุทิน” ลั่นไม่เชื่อบุคลากรโอด! ไม่ได้ค่าเสี่ยงภัยจะไม่ปฏิบัติงาน   ทุกวันนี้แม้ไม่มีค่าฉีดวัคซีน ก็ต้องทำงานอยู่แล้ว ขณะที่ปลัดสธ.ไม่เคยนิ่งเฉยหางบฯ บริหารจัดการได้ก็ให้บุคลากรตลอด ชี้คนพูดไม่ทำงานไม่ใช่ในกระทรวงสาธารณสุขแน่นอน

 

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โควิด19 ว่า  กรณีสายพันธุ์โควิด XBB ที่มองว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ เกิดการกลายพันธุ์นั้น แต่ทางการแพทย์บอกว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสต่างๆ เกิดได้ตลอดเวลา  แต่วัคซีนที่ประชาชนได้รับ และจะมารับในฐานะเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่น 2 ไบวาเลนท์ ยังคงมีประสิทธิผล ลดความรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเดิม 608 และผู้ไม่ได้รับวัคซีนผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ ควรเข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้น นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปหากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน ทางกระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญชวนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และในที่สุดโรคโควิด ก็เป็นโรคประจำถิ่น การฉีดวัคซีนจะเกิดขึ้นทุกปี  

สั่งการรพ.สังกัดตั้งแผนกฉีดวัคซีน โควิด-ไข้หวัดใหญ่

“วันนี้ได้มีการสั่งการหน่วยงานในสธ. รพ.ต่างๆ ทั้งในกทม. และทั่วประเทศ ให้มีการตั้งแผนกฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันโควิด ซึ่งที่ประชุมได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลจากคณะกรรมการวิชาการ เช่น อาจารย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ อาจารย์กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ  และ อาจารย์กำธร  มาลาธรรม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ให้ข้อมูลว่า ช่วงนี้ก่อนเข้าฤดูฝน ประชาชนจะมารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็ให้มาฉีดวัคซีนโควิดด้วย เป็นการฉีด 2 เข็มพร้อมกัน ซึ่งไม่ต้องกังวลว่า จะฉีดพร้อมกันไม่ได้ เพราะอาจารย์แพทย์ฝ่ายวิชาการยืนยันฉีดได้พร้อมกัน เพื่อให้เกิดความสะดวก” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ผู้ที่ให้บริการสาธารณะ จะมารับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น พร้อมกับไข้หวัดใหญ่ ทางสธ.ก็จะให้บริการ

 

“อนุทิน” มอบสปสช.ชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน 2 โรคในเวลาเดียวกัน

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า  ที่ประชุมได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  ไปคิดแพคเกจที่จะทำให้ประชาชนลดความวิตกกังวล สบายใจในการมารับวัคซีน ไม่อยากใช้คำว่า โปรโมชั่น แต่ให้ประชาชนพิจารณาว่า หากมาตอนนี้ก็ดีได้ฉีด 2 เข็มในเวลาเดียวกัน เพราะถือว่า ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง เสี่ยงรับโควิด และเชื้อไข้หวัดใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามว่าแพคเกจฉีดวัคซีน 2 ชนิดทั้งป้องกันไข้หวัดใหญ่และโควิด จะเป็นลักษณะเชิญชวนหรือจูงใจประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่อยากใช้คำว่า จูงใจ แต่เป็นการให้ความสะดวก อย่างหากไม่มีโควิด ช่วงนี้คนส่วนใหญ่ก็เริ่มเข้ามารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แต่ตอนนี้เรามีโควิด ในเมื่อเราให้บริการวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่น 2 เพราะเราได้รับการมอบจากประเทศต่างๆ มากมาย  ซึ่งเย็นวันนี้จะไปขอบคุณท่านทูตเยอรมันในการให้วัคซีนรุ่น 2 และทางอิตาลีก็แสดงความประสงค์เช่นกัน และปีนี้ก็ไม่ต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อ เรามีเพียงพอ ส่วนการบริการเราก็เตรียมพร้อมหมด มีเตียง มีเวชภัณฑ์ไม่ต้องกังวล

ลดค่าฉีดวัคซีนหน่วยบริการ เหมาจ่ายทั้งโควิดและไข้หวัดใหญ่เหลือ 20 บาท

เมื่อถามว่ากรณีการคาดการณ์ว่าปีนี้จะระบาดทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด จะเตรียมพร้อมอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ไข้หวัดใหญ่ก็เป็นโรคประจำถิ่น เรามียา มีวัคซีน เรามีสถานที่ตั้งจุดฉีดต่างๆ โดย สปสช.มีเหมาจ่ายฉีดวัคซีนโควิดและไข้หวัดใหญ่ มีค่าเหมาจ่ายฉีดวัคซีนสำหรับหน่วยบริการวัคซีนโควิด 40 บาท ค่าฉีดวัคซีนหวัดใหญ่ 20 บาท  แต่ตนบอกว่า เมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ควรลดให้ทั่วไป ค่าฉีดเพื่อขวัญกำลังใจให้เป็น 20 บาทฉีด 2 เข็ม แต่ตรงนี้เป็นเรื่องของหน่วยบริการ แต่ประชาชนไม่ต้องจ่ายอะไร

 

“อนุทิน” ไม่เชื่อบุคลากรโอดไม่ได้ค่าเสี่ยงภัย จะไม่ทำงาน

เมื่อถามว่าขณะนี้บุคลากรสาธารณสุขบางส่วนตัดพ้อว่า สธ.มีสัญญาณว่าโรคโควิดและไข้หวัดใหญ่จะระบาดปีนี้ และบุคลากรก็จะต้องรับมือทำงาน ขณะที่ค่าเสี่ยงภัยยังไม่ได้รับ บางส่วนไม่อยากทำงานอีก เพราะเหมือนรัฐไม่สนใจ   

“ผมไม่เชื่อหรอก เป็นการพูดไปของน้องๆผู้สื่อข่าวเอง ทุกวันนี้แม้ไม่มีค่าฉีดวัคซีน ก็ต้องทำงานต้องฉีดวัคซีนอยู่แล้ว แต่ตรงไหนที่เราสามารถบริหารจัดการค่าเสี่ยงภัยคนทำงานโควิดได้ ท่านปลัดสธ.ไม่เคยปล่อยผ่านไป ท่านคิดตลอดว่า เมื่อไหร่งบประมาณมา เมื่อไหร่บริหารจัดการได้ และผมไม่เชื่อว่า บุคลากรสาธารณสุขจะพูดว่า หากไม่ได้ค่าเสี่ยงภัย ไม่ได้ค่าบริการต่างๆ จะไม่ให้บริการประชาชน ไม่ใช่ที่กระทรวงสาธารณสุขแน่นอน” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ช่วงนี้มีการเปิดประเทศ โอกาสที่คนไทยจะได้รับเชื้อ XBB มีแน่นอน แต่เชื้อนี้ส่วนหนึ่งเป็นโอมิครอน จึงไม่ได้รุนแรง ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเชื้อ XBB ดื้อยา ส่วนความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มเดิม คือ กลุ่ม 608 หรือผู้ไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มสุดท้ายมาแล้ว 6 เดือนถึง 1 ปี และวัคซีนไบวาเลนท์ก็เชื้อว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนรุ่นก่อนๆ สุดท้ายโควิดก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ.หารือนำงบกลาง 3 พันล้าน จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดทุกสายงาน ทั้งในและนอกสังกัด

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : อัปเดตไกด์ไลน์รักษาโควิด19 ล่าสุด ปรับการให้ยาต้านไวรัสกลุ่มปัจจัยเสี่ยงรุนแรง และ LAAB

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org