ผอ.รพ.รามาธิบดี เผยแนวทางรักษาโควิด ยกเลิกใช้  LAAB  เหตุข้อมูลล่าสุดสายพันธุ์เปลี่ยนตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ แต่อาการไม่รุนแรง สถานการณ์ไม่ได้น่ากลัว  ออกหนังสือเพื่อรองรับช่วงสงกรานต์ วันหยุดยาว ขณะที่ผู้ป่วยเพิ่มเข้ารักษาไม่ถึง 10 ราย ส่วนใหญ่ป่วยไม่รุนแรง เว้นผู้สูงอายุ ป่วยโรคเรื้อรังจึงเตรียมยา เตียงรองรับ

ผอ.รพ.รามาธิบดีเผยเหตุผลปรับไกด์ไลน์รักษาโควิด

เมื่อวันที่ 16 เมษายน รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ถึงหนังสือของโรงพยาบาลรามาธิบดีเกี่ยวกับมาตรการรองรับกรณีโรคโควิด19 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ใจความสำคัญให้เตรียมการรักษาหลังพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้น และอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูปหรือ LAAB จนเกิดข้อกังวลว่า สายพันธุ์นี้มีความรุนแรงหรือไม่ ว่า  จริงๆ หนังสือที่ออกไปเป็นการแจ้งภายในเพื่อให้แพทย์ผู้ทำการรักษารับทราบถึงเชื้อโควิดที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เนื่องจากได้มีการประสานข้อมูลกับทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ตลอด ทำให้ทราบว่าโควิดสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับแนวทางการรักษาให้สอดคล้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า เชื้อมีความรุนแรงหรือระบาดมากขึ้นแต่อย่างใด

“หนังสือดังกล่าว เป็นแนวทางการรักษาที่ออกมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ก็มีการแจ้งให้หน่วยงานภายในโรงพยาบาลรับทราบถึงการรักษา อย่างช่วงสงกรานต์คนจะทำกิจกรรมกันมากก็อาจมีการติดเชื้อและเข้ารับการรักษา เราก็เตรียมพร้อม แต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาล่าสุดมีผู้เข้ารับการรักษาไม่ถึง 10 ราย ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว  อาการไม่ได้น่าห่วง สามารถรักษาได้ สถานการณ์ไม่ได้แย่ เพียงแต่เราเตรียมพร้อม อย่างเดือนก่อนเราเพิ่งยกเลิกวอร์ดโควิด แต่เมื่อเข้าเทศกาลสงกรานต์เราก็เตรียมพร้อม แต่ไม่ได้มีการตั้งวอร์ดโควิดอะไร แค่เพิ่มเตียงรองรับ” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

รพ.รามาฯ ตัด LAAB รักษาโควิด  

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะอะไร รพ.รามาธิบดี จึงไม่ใช้ LAAB ส่วนโมลนูพิราเวียร์ (MoInupiravir) ยังใช้รักษาโควิดหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า การตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ เพราะเชื้อเปลี่ยนไป  สมัยก่อนโมลนูฯ มีประสิทธิภาพดีมาก แต่ตอนนี้เชื้อเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงอะไร ทาง รพ.รามาฯ ยังไม่ต้องเปิดวอร์ดโควิดอีก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เหมือนไข้หวัด เพียงแต่ผู้สูงอายุ กลุ่มโรคประจำตัวบางท่านอาจมีอาการมากกว่าคนอื่น ส่วนโมลนูฯยังมีบ้าง

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ผู้เชี่ยวชาญประชุมไกด์ไลน์รักษาโควิด19 สัปดาห์หน้า ส่วน LAAB มีประสิทธิภาพคนภูมิคุ้มกันน้อย)

รายละเอียดแนวทางรักษาโควิดของรพ.รามาธิบดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือแนวทางการรักษาโควิดของโรงพยาบาลรามาธิบดี ใจความระบุว่า เนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฎจำนวนผู้ป่วยโควิด ที่แอดมิทในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และพบมีสายพันธุ์ลูกผสม XBB  เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย Long-acting antibody (LAAB) และเพื่อให้บริการผู้ป่วยมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ จึงขอปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ดังนี้

1. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ : ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยรักษาตามอาการ ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง

2. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ หรือภาพถ่ายรังสีปอดปกติ : ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยรักษาตามอาการ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง

3. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบ (pneumonia) เล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน : ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยพิจารณาให้ ยาต้านไวรัส ภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ดังนี้

ยา Nirmatrelvir+ritonavir และให้ตรวจสอบ drug interaction ก่อนใช้ยาตาม QR code

ยา Remdesivir โดยสั่ง เIV drip ที่ห้องแยก อ.4 เป็นเวลา 3 วันต่อกัน

4. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีปอดอักเสบรุนแรงและมี hypoxia (resting O2 saturation s94%) : ให้การรักษาแบบผู้ป่วยใน และให้ยาต้านไวรัส Remdesivir ร่วมกับ corticosteroid หรือ ยากลุ่มอื่น ตามดุลยพินิจแพทย์ โดยให้ admit ที่หอผู้ป่วยตามความรุนแรง ดังต่อไปนี้

4.1 ผู้ป่วยที่รักษาด้วย High flow oxygen/ Respirator ให้ admit ที่หอผู้ป่วย SDICU95 (3 เตียง)

4.2 ผู้ป่วยที่รักษาด้วย oxygen cannula/ oxygen mask ให้ admit โดยใช้ห้อง AIIR ที่หอผู้ป่วย (2TP,4NW, 4TW, 5SE, 5SW, 6NW และ 6NE) หรือห้องแยกเดี่ยวหรือห้องพิเศษอื่น ๆ

4.3 กรณีหอผู้ป่วยตามข้อ 4.1 หรือข้อ 4.2 เริ่มเต็ม ให้พิจารณาประสานส่งต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ หรือโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย

ข่าวเกี่ยวข้อง : โควิด  XBB.1.16  ในไทย 6 รายอาการไม่รุนแรง ยังไม่มีรายงานเยื่อบุตาอักเสบเหมือนอินเดีย

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org