รมช.สธ. ฝาก สตช.บังคับใช้กฎหมายช่วง “สงกรานต์” อย่างเคร่งครัด  ฝากนักการเมืองอย่าช่วยเหลือคนทำผิด "เมาแล้วขับ" งดช่วยประกันตัว ร่วมกันลดอุบัติเหตุสงกรานต์ปีนี้  สธ.มอบ อสม.ร่วมทุกฝ่ายคัดกรองผู้ขับขี่ดื่มแล้วขับที่ด่านชุมชน ใครขายเหล้าให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี หากพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจะสอบสวนย้อนกลับเอาผิดหนัก! 

 

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ว่า  ที่ผ่านมา สธ.มีการตรวจเลือดวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุและไม่สามารถตรวจด้วยการเป่าลมหายใจได้ พบว่าผู้ขับขี่เกินครึ่ง หรือประมาณ 52.6% มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกฎหมายกำหนด เรียกว่า "ดื่มแล้วขับ" ยังเป็นปัญหาสำคัญ โดยปีนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   สนับสนุนงบประมาณ ค่าตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 7 วันสงกรานต์ ตั้งแต่ 11 - 17 เมษายน 2566 ทั้งนี้ อุบัติเหตุป้องกันได้ขอให้ทำตามคำแนะนำในเรื่องการเดินทางหรือการปฏิบัติตัวช่วงสงกรานต์ หากต้องรับผิดชอบขับรถต้องไม่ดื่มสุรา หรือดื่มไปแล้วต้องห้ามขับรถ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ"

 

นายสาธิต กล่าวว่า ขอฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) บังคับใช้กฎหมายช่วงนี้อย่างเคร่งครัด ไม่ประนีประนอม ใน 4 ข้อหาหลักตามนโยบายรัฐบาล คือ 1.ขับรถเร็วเกินกำหนด 2.ตรวจแอลกอฮอล์ทั้งเป่าและตรวจเลือด 3.คาดเข็มขัดนิรภัย ใส่หมวกกันน็อก และ 4.การจำหน่ายแอลกอฮอล์กับเด็ก และช่วงเวลาห้ามขาย โดยอยากให้ทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศให้เคร่งครัด

“อยากเชิญชวนนักการเมืองที่ลงเลือกตั้งทั่วประเทศ หากมีหัวคะแนนหรือมีคนมาขอความร่วมมือ ช่วยเหลือผู้กระทำผิด เช่น การประกันตัว ขอให้ปฏิเสธอย่างเต็มที่ ร่วมกันลดการเสียชีวิตของประชาชน  อยากย้ำจิตสำนึกนักการเมืองด้วยกัน ส่วนใครจะประกาศก่อน โพสต์ข้อความปฏิเสธการช่วยเหลือกรณีเหล่านี้ก่อนก็สามารถทำได้ อย่างที่มีการโพสต์ปฏิเสธให้การช่วยเหลือกรณียาเสพติด ซึ่งก็จะเป็นการช่วยลดความสูญเสียได้” รมช.สธ.กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้อง คัดกรองผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับที่ด่านชุมชน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ออกไปขับรถบนถนน เนื่องจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดในถนนสายรอง โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ถึงวิธีการประเมินอาการมึนเมา รวมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินบนท้องถนนได้อย่างถูกวิธี ลดการเสียชีวิตหรือความพิการลงได้

(ข่าวเกี่ยวข้อง : : สธ.เตรียมบุคลากรขึ้นเวรช่วงสงกรานต์ ประสานตำรวจถึงจุดเกิดเหตุใน 10 นาทีป้องกันความรุนแรงในรพ.)

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า พบปัญหาการดื่มแล้วขับเป็นประจำทุกปี และยังพบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่และเวลาห้ามขายด้วย กรมควบคุมโรค ซึ่งรับผิดชอบ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 จึงย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดออกปฏิบัติการเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์และบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ขายสุราในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สวนสาธารณะของทางราชการ การขายในเวลาห้ามขาย ซึ่งเราให้ขายในช่วง 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน

“ที่สำคัญการขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หากพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา กรมควบคุมโรคจะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำการสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย พร้อมทั้งแจ้งไปยังศูนย์อำนายการความปลอดภัยทางถนนด้วย”

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งพบการเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับมากที่สุด และหากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3342 หรือ สายด่วน 1422 ได้ตลอด 24 ชม.

ตร.ระดมพลกว่า 3 หมื่นเข้มสงกรานต์

พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)กล่าวว่า ผบ.ตร.มีการสั่งการตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.ให้ทุกภาคส่วนของ สตช.ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. มีเป้าหมายคือ ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่ต้องแอดมิดเข้า รพ.ไม่น้อยกว่า 5% , ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะข้อหาหลัก ดื่มแล้วขับ ขับเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การอำนวยความสะดวกจราจรจัดเตรียมเส้นทางฉุกเฉิน เส้นทางรอง และอำนวยความสะดวกเส้นทางหลัก โดยเฉพาะจุดกลับรถ ช่องทางพิเศษ เพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัวมากที่สุด บังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น โดยใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ตรวจจับ กวดขันวินัยจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ การตรวจจับโดยใช้กล้อง และสายตรวจชุดเคลื่อนที่เร็วในการออกไปตรวจและช่วยเหลือประชาชน โดยได้ระดมกำลังพลทั้งสิ้นทั่วประเทศ 30,734 คน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ปีนี้ จะมีความหนาแน่นของการท่องเที่ยว และเดินทาง เพราะเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ปกติ สสส. ขอเชิญชวน รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” ลดพฤติกรรมเสี่ยง “ดื่มแล้วขับ” นอกจากนี้ยังมีคลิปวิดีโอออนไลน์ “พ่อที่รัก” สะท้อนผลกระทบถึงคนรอบข้าง และคลิปเรื่องเล่าจากผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากบิ๊กไบค์ และเหยื่อจากคนที่ขับย้อนศร สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน หนุนเสริม การบังคับใช้กฎหมาย สนับสนุนงานวิชาการ และการปฏิบัติการ เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน

นอกจากนี้ทางหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 2,000 แห่ง ร่วมรณรงค์-ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย สงกรานต์ 2566 ดื่มไม่ขับ” โดยมีพื้นที่ทำงานเข้มข้นใน 115 ตำบล รวมถึงจัดพื้นที่นำร่อง และขยายพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงในถนนตระกูลข้าวกว่า 60 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และตลอดปี 2566 ได้เตรียมการดำเนินการเข้มข้นเพื่อลดอุบัติเหตุร่วมกับอำเภอที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กว่า 200 อำเภอ หวังช่วยภาพรวมของประเทศ ลดความสูญเสีย ขอชวนคนไทยทุกคนใส่ใจการขับขี่อย่างปลอดภัย ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สงกรานต์ปีนี้! สธ.แนะภาคเหนือฝุ่น PM2.5 ยังวิกฤต งดออกจากบ้าน เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org