สปสช.เขต 13 กทม. จับมือ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ออกหน่วยตรวจคัดกรองสายตาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติและตัดแว่นตาที่โรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม เขตทวีวัฒนา เผยขณะนี้ตรวจคัดกรองโรงเรียนสังกัด กทม. เสร็จหมดแล้ว ขั้นต่อไปรุกตรวจเด็กโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนสังกัด สพฐ.

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 ร่วมกับ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และกรุงเทพมหานคร ออกหน่วยตรวจคัดกรองสายตาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติและตัดแว่นตาเด็กนักเรียน ณ โรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม เขตทวีวัฒนา กทม. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ตามโครงการ “เด็ก กทม. สายตาดี ตัดแว่นฟรี” โดยมีเด็กนักเรียนที่ผ่านการคัดกรองสายตาเบื้องต้นจากศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ มาเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์และนักทัศนมาตรในครั้งนี้รวม 433 คน และพบเด็กที่มีปัญหาสายติดผิดปกติ 175 คน หรือประมาณ 40%

 

ตรวจคัดกรองสายตาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กยุคปัจจุบันใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเยอะ ต้องใช้สายตาในการแพ่งหน้าจอ ทำให้มีปัญหาสายตาค่อนข้างมาก ซึ่งในกระบวนการตรวจคัดกรอง จะเน้นที่เด็กชั้น ป.1 และช่วงอายุ 3-12 ปี โดยครูหรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ทำการคัดกรองเบื้องต้น และส่งเด็กที่สงสัยว่ามีสายตาผิดปกติมารับการตรวจอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์อีกครั้ง จากนั้นจะแยกว่าความผิดปกติของสายตาเป็นแบบใด สายตาสั้น สายตายาว สายตาเข เป็นต้น เมื่อคัดแยกแล้วก็จะพิจารณาแนวทางการรักษา ซึ่งในการออกหน่วยเชิงรุกเช่นนี้จะเป็น one stop service หากเป็นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง นักทัศนมาตรก็จะตรวจวัดแว่นเพื่อแก้ปัญหาสายตาให้เลย

อย่างไรก็ดี หากเป็นความผิดปกติที่แว่นตาไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น สายตาเข สายตาเขซ่อนเร้น หรือสายตาผิดปกติอื่นๆ ได้หารือกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ว่า คุณครูจะแจ้งผู้ปกครอง ให้พาเด็กไปที่หน่วยบริการในเขตนั้นๆ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข หากสามารถรักษาโดยการหยอดตาก็จะรักษาให้เลย โดยใช้เวลา 6 เดือน – 1 ปี จนกว่าสายตาจะดีขึ้น แต่เด็กบางรายที่ศูนย์บริการสาธารณสุขรักษาไม่ได้ ก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาต่อไป

“การออกหน่วยเชิงรุกแต่ละครั้งเป็นความร่วมมือกับ สปสช. และ กทม. ทั้ง 3 หน่วยงานจะหารือกัน โดยหารือกับเขตก่อนว่าแต่ละเขตของ กทม. มีเด็กที่ผ่านการคัดกรองเบื้องต้นแล้วสงสัยว่าสายตาผิดปกติกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อได้จำนวนก็จะทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณไปที่ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร จากนั้นจะจัดทำตารางการปฏิบัติงาน ซึ่งจะมี 2 ช่วงคือต้นปีจนถึงก่อนปิดเทอมเดือน เม.ย. และอีกช่วงหลังเปิดเทอม พ.ค.-มิ.ย. เป็นต้นไป โดยในส่วนของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  จะสามารถออกหน่วยเชิงรุกใน 20 ครั้งช่วงต้นปี และอีก 20 ครั้งช่วงปลายปี แต่ละครั้งก็จะรวมเด็กในโรงเรียนอยู่ในเขตใกล้กันมาตรวจพร้อมกัน แต่อย่างที่โรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรมมีเด็กเยอะ เราก็จะตรวจที่นี่ 2 วันเลยคือวันที่ 9-10 มี.ค. 2566”นพ.อัครฐาน กล่าว

ด้าน นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม. มีโรงเรียนจากทุกสังกัด 884 แห่ง เด็กนักเรียนรวมประมาณ 410,000 คน ตามสถิติคาดว่าจะมีเด็กที่สงสัยว่าสายตาผิดปกติประมาณ 30,000 คน และเด็กกลุ่มนี้ก็จะถูกตรวจอย่างละเอียดเพื่อตัดแว่นตาหรือแก้ปัญหาสายตาอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเด็กที่ได้รับแว่นตาประมาณ 20,000 คน

ตรวจคัดกรองสายตาเด็กโรงเรียนสังกัด กทม.

นพ.สุนทร กล่าวต่อไปว่า การตรวจคัดกรองสายตาเด็กเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี ปัจจุบันโรงเรียนสังกัด กทม. 431 แห่ง ได้ทำการคัดกรองเบื้องต้นไปหมดแล้วและมีเด็กได้รับแว่นตาแล้วประมาณ 7,000 คน อย่างไรก็ดี ยังเหลือกลุ่มเด็กโรงเรียนเอกชน 413 และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีก 40 กว่าแห่ง ที่ต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเข้าไปตรวจเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลขเด็กที่มีปัญหาสายตา ซึ่งล่าสุดตนได้หารือกับ สพฐ. ว่าอาจต้องหาคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีศักยภาพ หรือคลินิกจักษุแพทย์ เข้ามาช่วยในการตรวจคัดกรองด้วย เพราะถ้าร่วมมือกันหลายๆหน่วยงาน จะทำให้การคัดกรองสายตาเด็กมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 

ด้าน ทพญ.น้ำเพ็ชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม. มีโรงพยาบาล 14 แห่งที่ร่วมดูแลการตรวจคัดกรองสายตาเด็ก อย่างไรก็ดีเมื่อคัดกรองเบื้องต้นแล้ว การจะให้เด็กที่สงสัยว่าสายตาผิดปกติไปหาจักษุแพทย์ค่อนข้างลำบากในการเดินทาง สปสช. จึงทำโครงการตรวจคัดกรองเชิงรุก มีจักษุแพทย์และนักทัศนมาตรเข้าไปตรวจถึงโรงเรียน โดยขณะนี้มี 5 โรงพยาบาลที่ดำเนินการตรวจเชิงรุก ซึ่งรวมถึงสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีที่ออกหน่วยที่โรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรมในครั้งนี้ด้วย 

“การดำเนินงานเราก็เอาจำนวนเด็กที่ผ่านการตรวจคัดกรองเบื้องต้นแล้วมาแบ่งให้กับ 5 โรงพยาบาลที่จัดหน่วยตรวจคัดกรองเชิงรุก โรงพยาบาลก็ไปทำแผนเองว่าจะไปโรงเรียนไหนวันไหน แล้วเมื่อออกตรวจก็จะทำเป็น One stop service ตรวจแล้วตัดแว่นเลย” ทพญ.น้ำเพ็ชร

ทพญ.น้ำเพ็ชร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนสังกัด สพฐ. ก็จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือจะต้องนำผลการตรวจคัดกรองเบื้องต้นมาดูก่อนว่าสามารถตรวจคัดกรองไปแล้วมาน้อยเพียงใด และ สปสช. จะนำข้อมูลนี้มาแจกหน่วยคัดกรองเชิงรุกเพื่อวางแผนเข้าไปตรวจอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์และนักทัศนมาตร

ทพญ.น้ำเพ็ชร กล่าวทิ้งท้ายว่า หน่วยตรวจคัดกรองเชิงรุก 5 แห่งที่ดำเนินการในปัจจุบัน ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณเด็กที่ต้องรับการตรวจ เฉพาะโรงเรียนสังกัด กทม. ก็มียังมีจำนวนกลุ่มเป้าหมายเดิมที่ยังตรวจไม่หมด ดังนั้น สปสช. ยังต้องการโรงพยาบาลที่สามารถจัดหน่วยตรวจเชิงรุกได้เพิ่มเติมอีก 

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org