ภาคประชาสังคมปราจีนบุรี บุกยื่นหนังสือ ปธ.กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จี้ตรวจสอบบริษัทต้นตอปล่อยซีเซียม-137 สูญหาย เตรียมจัดเวทีประชาชน หาทางออกวิกฤตกัมมันตรังสีในวันที่ 26 มี.ค.นี้

 

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ภาคประชาสังคม จ.ปราจีนบุรี เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ จำกัด กรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ควบคุมกำกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเร่งด่วนที่สุด โดยมี พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ รองประธาน กมธ. เป็นผู้รับเรื่อง

 

โดยใจความสำคัญระบุว่า จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท ใน อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี มีการแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนปราจีนเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ครั้งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบที่รุนแรงที่สุด ต่อชีวิต ภาพลักษณ์ ชื่อเสียงของคนปราจีนบุรีที่มุ่งเน้นการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด ต้องตกอยู่ในความหวาดกลัวผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและตกค้างในระยะยาว และยังอาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นในมาตรการการจัดการกับวัสดุกัมมันตรังสีของประเทศไทยด้วย

ตลอดช่วงเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานับแต่มีข่าววัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวกลับมีท่าทีนิ่งเงียบ เฉยเมยต่อหายนะร้ายแรงที่เกิดขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ในการอนุญาต การควบคุมกำกับ ไม่ให้ข้อมูลที่สะท้อนการทำงานว่ามีการควบคุมกำกับอย่างถูกต้อง รัดกุม แสดงถึงการทำงานที่ขาดความโปร่งใส ทำให้ภาคประชาสังคมไม่เชื่อมั่นและสงสัยการดำเนินของบริษัททั้งระบบโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรมและการทำงานของหน่วยงานที่ควบคุมกำกับว่าได้ทำหน้าที่หรือไม่ มีความหวั่นเกรงว่าจะมีภัยพิบัติจากความสะเพร่าเช่นนี้อีก

ร้องกมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ตรวจสอบบริษัทปม ซีเซียม-137 หาย

จึงขอให้คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ตรวจสอบทั้งเอกสารและลงพื้นที่จริง เพื่อค้นหาปัญหาที่แท้จริง เผยแพร่ข้อมูลต่อสังคมให้กระจ่างชัด ให้ข้อเสนอแนะในการจัดการทั้งระบบ การพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบในการควบคุมและกำหนดบทลงโทษ ความรับผิดชอบผู้กระทำผิด โดยขอให้

1. ตรวจสอบบริษัทดังกล่าวว่า มีมาตรฐานการกำจัดของเสียอย่างไร มีการถือครองกัมมันตรังสีทั้งหมดกี่รายการวันเดือนปีที่ได้รับอนุญาตเมื่อไหร่ ความเข้มข้นเท่าใด ใช้ทำอะไร ลักษณะที่ตั้งอยู่เป็นอย่างไร สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร มีการควบคุมกำกับ ตรวจสอบ ป้องกันความเสี่ยงอย่างไร มีมาตรการการรับมือเมื่อเกิดอุบัติเหตุและการสูญหายอย่างไร ถ้าหมดสภาพการใช้งานแล้วมีแผนการกำจัดอย่างไร การกำจัดมีเอ็มโอยูกับบริษัทหรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เกิดการสูญหายได้อย่างไร รายการที่สูญหายมีความเข้มข้นของสารอยู่เท่าไหร่ มีการจัดการอย่างไรเมื่อทราบว่าสูญหาย และขอให้คณะกรรมาธิการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่จริง

2. ขอให้เปิดเผยข้อมูลประชาพิจารณ์ในการขอสร้างโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ ว่ามีสารกัมมันตรังสีอยู่ในโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้

3. ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุญาต และควบคุมกำกับ ว่ามีทั้งหมดกี่หน่วยงาน แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่อะไรบ้าง มีการทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดหรือไม่ มีการเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ฯ

4. ขอให้ฝ่ายสอบสวนเปิดเผยข้อมูลเส้นทางของแท่งซีเซี่ยม-137 ว่าหายไปได้อย่างไร ไปไหนบ้าง ใครบ้างที่สัมผัส และมีการจัดการอย่างไร

5. ข้อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลการกำจัดฝุ่นแดงจากการเผาก้อนซีเซี่ยม-137 ว่ามีกระบวนการกำจัดตั้งแต่การจัดเก็บไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายอย่างไรรวมถึงกากอุตสาหกรรมกัมมันตรังสีทั่วไปด้วย

6. ขอแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามการปฏิบัติงานของภาครัฐ เฝ้าระวัง การทำงานของโรงงานเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีผลกระทบกับประชาชนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงงานแต่ต้องมารับเคราะห์กรรม

 กำหนดเวทีประชาชนต่อวิกฤต ซีเซียม137 ปราจีนบุรี

ภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จะดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว  พร้อมกันนี้ภาคประชาสังคม จ.ปราจีนบุรี มีกำหนดการจัดเวทีประชาชน เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นว่าเราจะออกจากวิกฤตกัมมันตรังสีปราจีนบุรีกันได้อย่างไร ในวันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 ณ วัดโพธิมาลัย อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมเพื่อหาทางออกไปด้วยกัน