เปิดข้อมูลโรคหืด 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ล่าสุดผู้ป่วย 80% มีภูมิแพ้จมูกอักเสบร่วม ห่วง 20 ปีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากมลพิษอากาศ ฝุ่น PM2.5 และไลฟ์สไตล์  แนะเพิ่มสิทธิตรวจเชิงป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง จ่อหารือ สธ.ใช้เครื่องพีคโฟลว์มิเตอร์ พร้อมทำไกด์ไลน์หนุนหมอทั่วไปช่วยตรวจ

 

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์  แอท  เซ็นทรัลเวิลด์ นพ.สุรชัย โชคครรชิตไช ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ ประธานวิจัยฯ สมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ และ นพ.ธเนศ แก่นสาร ตัวแทนกลุ่มทีมผู้ดูแลโรคระบบทางเดินหายใจในบริการปฐมภูมิ ภายใต้ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย แถลงข่าวสถานการณ์โรคหืด 10 ปีในไทย ทรงหรือทรุด ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2566 สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย

 

นพ.สุรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยโรคหืดจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาใน รพ. ซึ่ง สธ.ให้ความสำคัญและเร่งรัดควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะแนวคิดการปรับพฤติกรรม หรือ Lifestyle Medicine ส่วนมลภาวะในปัจจุบันที่มีมากขึ้น ทั้งฝุ่น PM 2.5 มีผลต่อการควบคุมโรคหืด ต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ และราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปในแนวทางเดียวกันใน รพ.ทุกระดับ ตั้งแต่ รพ.สต. ถึง รพ.ศูนย์ และโรงเรียนแพทย์

คนไข้โรคหืดเพิ่มขึ้น 3 เท่า ชี้มีปัจจัยคุมไม่ได้ เช่น ฝุ่น PM2.5

ศ.พญ.อรพรรณกล่าวว่า ถ้านับช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนไข้โรคหืดเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กมากกว่าผู้ใหญ่  ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนตัวเลขการเสียชีวิตเมื่อก่อน 7 พันรายต่อปี แต่ช่วง2-3 ปีที่ผ่านมาเหลือ 3 พันกว่ารายต่อปี แม้ตัวเลขการควบคุมโรคหืดจะดีขึ้น แต่คนไข้ก็เพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ทั้งจากสภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM 2.5 มลภาวะทางอากาศ ซึ่งค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มการหอบกำเริบ 0.2 ครั้ง รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ โรคจึงไม่ได้เกี่ยวกับพันธุกรรมอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะสภาพแวดล้อม อาหาร มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของยีน ทำให้คนที่ไม่มีความเสี่ยง เป็นโรคได้ในอนาคต จึงต้องพยายามควบคุมสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะในบ้าน เช่น การจุดธูปในบ้าน จุดยากันยุง อโรมาเทียนหอม ที่เกิด PM 2.5 เตาทำกับข้าวที่ไม่มีเครื่องดูดควัน หรือการใช้โอโซนที่หลายคนรู้สึกดี สูดอากาศบริสุทธิ์ แต่เป็นตัวกระตุ้นการอักเสบเรื้อรังทางเดินหายใจ การใช้ยาปฏิชีวนะที่ทำลายจุลินทรีย์ดีในร่างกาย ดังนั้น การรักษาโรคหืดไม่ใช่แค่ให้ยาแล้วคุมอาการหยุดหอบได้ แต่ต้องปรับสภาพแวดล้อมและไลฟ์สไตล์เพื่อลดความเสี่ยงด้วย ให้ปอดมีสมรรถภาพดีในระยะยาว ให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ไปออกกำลังกายเป็นนักกีฬาได้ จากเมื่อก่อนที่ต้องห้าม หรือไม่ต้องลดน้ำเย็นเพราะกลัวทำให้ไอ มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่ต้องมียา

 

ศ.พญ.อรพรรณกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่มีสิทธิประโยชน์ตรวจสมรรถภาพปอดทุกปี ซึ่งปกติจะตรวจเมื่อมีอาการหอบง่ายเหนื่อยง่าย สงสัยว่าเป็นหอบหืด ตรวจก่อนผ่าตัด ตรวจนักกีฬา เป็นต้น ทั้งนี้ ปอดคนเราจะพัฒนาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 25 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง หากได้รับมลพิษทางอากาศ สูบบุหรี่ ก็จะทำให้สมรรถภาพปอดลดลงกว่าวัยเร็วขึ้น อนาคตก็จะเกิดโรคถุงลงโป่งพองและหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ได้ ซึ่งคนปกติปอดทำงานต่ำกว่า 70% จะยังไม่ค่อยรู้สึก แต่ไม่ได้แปลว่าอีก 10 ปีจะปกติ ดังนั้น จึงอยากให้มีการตรวจสมรรถภาพปอดทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น อยู่ในพื้นที่มลพิษทางอากาศอย่างภาคเหนือ , คนสูบบุหรี่เพื่อตรวจจับว่าใกล้เป็นโรคหรือไม่ , มีประวัติแพ้อากาศ ภูมิแพ้ ซึ่งพบร่วมกับหอบหืด  เพราะเมื่อทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ ก็จะกระตุ้นส่วนล่างอักเสบด้วย คนที่แพ้อากาศอนาคตจะเป็นโรคหืดมากกว่าคนอื่น 3-5 เท่า และภาวะอ้วนที่ทำให้ปอดแย่ลงเช่นกัน เพราะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย

 

"การตรวจในเชิงป้องกัน จะดูว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ หากตรวจเรื่อยๆ แล้วเจอผิดปกติก็รีบจัดการ เพราะบางคนเป็นแต่ไม่มีอาการ อย่างคนป่วยหอบหืด 30-40% ไม่รู้ว่าเป็น เพราะชินกับการเป็นโรค อย่างกลุ่มที่ปกติไม่เหนื่อย แต่ออกกำลังกายแล้วเหนื่อย ได้กลิ่นควันแล้วแน่นหน้าอก กลุ่มนี้จะวินิจฉัยยาก เพราะไม่ได้มาห้องฉุกเฉิน และคนไข้ไม่ได้หอบเสียงหายใจดังวีด แต่มาด้วยไอกลางคืน กลุ่มนี้จะวินิจฉัยไม่ได้ เพราะคนไข้รู้สึกว่าทนได้ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่อายุไม่มาก เพราะคนที่รู้ว่าป่วยคือ นอน รพ.พ่นยาแล้ว ซึ่งโรคหืดกลุ่มที่เป็นไม่มากคือกลุ่มใหญ่ 70% ถ้าตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็วตั้งแต่อาการน้อยๆ ก็จะหายขาดได้" ศ.พญ.อรพรรณกล่าว

วางแผนสมุดสุขภาพเด็กควรมีเรื่องตรวจสมรรถภาพปอด

ศ.พญ.อรพรรณกล่าวว่า สมาคมฯ วางแผนจะหารือกับกรมอนามัย ในส่วนของสมุดสุขภาพเด็กที่บันทึกการเจริญเติบโตด้านต่างๆ ก็ควรจะต้องมีเรื่องของสมรรถภาพปอดด้วย จะได้รู้ตัวเลข หากเรามีปอดที่ใหญ่และแข็งแรงเท่าคนปกติ ก็จะมีต้นทุนที่สูงมากกว่าคนอื่น เจออะไรที่มากระทบก็จะไม่แย่ไปกว่าคนอื่น ส่วนการหารือกับ สปสช.เพื่อเสนอเป็นสิทธิประโยชน์ตรวจในเชิงป้องกัน ยังไม่ได้หารือเนื่องจาก ยังติดในเรื่องของเครื่องมือในการตรวจ ซึ่งเครื่องตรวจสไปโรเมตรีย์ ไม่ได้มีทุก รพ. เครื่องประมาณ 2-3 แสนบาท และเจ้าหน้าที่ต้องได้ใบรับรองด้วย จากการสำรวจ รพ.ใน สธ.ทำได้เพียง 30% เครื่องนี้ส่วนใหญ่อยู่ที่ โรงเรียนแพทย์  รพ.ใหญ่  รพ.ศูนย์ แต่ไม่มีใน รพ.ชุมชน ดังนั้น จึงมีนวัตกรรมตรวจง่ายๆ คือ เครื่องทดสอบสมรรถภาพปอดอย่างง่าย (พีคโฟลว์มิเตอร์) พกพาได้ราคาไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งแนวทางการรักษาโรคหืดขององค์การอนามมัยโลก (WHO) เขียนว่า ถ้าไม่มีเครื่องสไปโรเมตรีย์ ก็ให้ใช้พีคโฟลว์มิเตอร์ได้  ซึ่งตนก็ทำนวัตกรรมเครื่องนี้ โดยจะหารือกับ สธ. เพื่อสนับสนุนในการเอาไปใช้ตรวจเบื้องต้น นอกจากนี้  แพทย์ที่ดูแลโรคทั่วไป ก็ต้องส่งเสริมให้ตระหนักในการตรวจวินิจฉัยโรคหืดด้วย สมาคมฯ จึงจัดประชุมทุกปีเพื่อพัฒนาแนวทางการรักษา และทำไกด์ไลน์หรือแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทยสำหรับผู้ใหญ่ ที่มีเนื้อหาสั้น กระชับ ทำให้แพทย์ทั่วไปนำไปดูแลผู้ป่วยได้จริง ง่ายและทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและมลภาวะ ได้รับการยอมรับจากวารสารทางการแพทย์นานาชาติในปี 2565

วิจัยความสัมพันธ์ของภูมิแพ้จมูกอักเสบและโรคหืด

นพ.ธิติวัฒน์ กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ทำการวิจัยความสัมพันธ์ของภูมิแพ้จมูกอักเสบและโรคหืด ซึ่งไม่เคยมีการเก็บข้อมูลมาก่อน โดยร่วมกับ 7 สถาบันทางการแพทย์ ในการเก็บข้อมูล เช่น รพ.ขอนแก่น มศว. จุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี ธรรมศาสตร์ เป็นต้น กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคหืด 680 ราย พบว่า มีโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบถึง 80% นอกจากนี้ บางคนไม่ทราบว่าเป็นภูมิแพ้ พอไม่ทราบก็ไม่ได้รักษา ก็ทำให้โรคหืดแย่ลง  คุณภาพชีวิตแย่ลง โดยคนไข้โรคหืดที่คุมไม่ได้ มีภาวะโรคร่วมอื่นด้วย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึมเศร้า และกรดไหลย้อน ส่งผลให้การคุมโรคหืดแย่ลง ดังนั้น เมื่อเรามีปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่น ทำให้โรคภูมิแพ้แย่ลง ก็จะส่งผลต่อโรคหืด ซึ่งจะมีการนำเสนองานวิจัยนี้ในการประชุมนานาชาติ American Thoracic Society เมืองวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ในเดือน พ.ค. 2566

ไทยพบโรคหืด 7% หรือ 4 ล้านคน แต่รักษาแค่ 30%

ด้าน นพ.ธเนศ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยพบโรคหืดร้อยละ 7 ของประชากร หรือประมาณ 4 ล้านคน เข้าถึงการรักษาแค่ 30% ส่วนอีก 70% ไม่สามารถเข้าถึงได้ อาจเป็นเพราะโรคหืดตอนสงบก็ไม่มีอาการ จึงไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย แต่เป็นการดูแค่ไอเรื้อรัง เหนื่อย ก็ตรวจร่างกายปกติ แต่ทำให้พลาดโอกาสการรักษา ต้องทำให้หมอรักษาโรคทั่วไป หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อายุรแพทย์ทั่วไป หมอเด็กดูแลผู้ป่วยคนแรก มั่นใจการวินิจฉัยรักษา เอาไกด์ไลน์ไปปรับใช้ดูแลคนไข้ ก็จะตรวจคนไข้โรคหืดได้มากขึ้น ลดการมานอน รพ.หรือมีภาวะแทรกซ้อน