ปลัดสธ. เผยผลตรวจร่างกายคนงานโรงถลุงเหล็กที่หลอมวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไม่พบรังสีในร่างกาย แต่ยังให้ติดตามตรวจเลือดต่อเนื่อง  พร้อมจัดทำแนวทางให้ สสจ.ทั่วประเทศและคลินิกเอกชนร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยสงสัยอาจได้รับรังสี

 

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีตรวจพบวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าใน อ.ศรีมหาโพธิ ในโรงถลุงเหล็กเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า ติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชน ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ตรวจคนงาน 70 คนไม่พบรังสี ซีเซียม137 ปนเปื้อน

ล่าสุด ได้รับรายงานความคืบหน้าว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ตรวจสอบบริเวณโรงงานที่พบวัสดุกัมมันตรังสีแล้วไม่พบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมถึงตรวจการปนเปื้อนรังสีในร่างกายของคนงานโรงงานทั้ง 70 คน ไม่พบปริมาณรังสีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีจะติดตามอาการผิดปกติและตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพคนงาน รวมทั้งญาติผู้ใกล้ชิดในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี

จัดทำแนวทางเฝ้าระวังสุขภาพ มอบสสจ.ดำเนินการ

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ความรุนแรงจากการได้รับรังสีซีเซียม-137 ขึ้นกับความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส โดยหากสัมผัสโดยตรงจะเกิดบาดแผลไหม้จากรังสี เช่น ผิวหนังมีตุ่มน้ำพอง เป็นแผล หรือเนื้อตายได้ เกิดอาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ส่วนผลระยะกลางและระยะยาว จะส่งผลต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเส้นผม เป็นต้น ได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ประสานผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยจากกัมมันตรังสี จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุกและแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการ พร้อมทั้งประสานจัดสิ่งสนับสนุน เช่น เครื่องตรวจวัดรังสีเพิ่มเติม ชุดป้องกัน หน้ากากอนามัยชนิดกันอนุภาค รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพประสานคลินิกเอกชนทั่วประเทศ ร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยอาจเกิดจากการได้รับรังสีด้วย

 

“แม้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นปลายทาง คือ ให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ แต่ได้ให้แต่ละกรมในสังกัดใช้เหตุการณ์นี้ทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อนำมาปรับระบบดูแลสุขภาพให้รัดกุมยิ่งขึ้น และรับมือกับเหตุฉุกเฉินในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว