ครบรอบ 81 ปี กรมการแพทย์เดินหน้าประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์มีคุณภาพ ตามมาตรฐานพร้อมขยายการให้บริการทางการแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา ประเดิมเป้าหมายปี 2566 ด้วยผลงานการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)การจัดระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างทั่วถึงครบวงจร การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ การพัฒนารูปแบบและระบบบริการทางการแพทย์ที่เชื่อมโยงอย่างครบวงจรไร้รอยต่อ

 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า ปี  2566 นี้เป็นปีครบรอบ 81 ปีของการสถาปนากรมการแพทย์และเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มต้นแผนปฏิบัติราชการในระยะ 5 ปี ข้างหน้า(พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์สุขภาพที่ท้าทาย ทั้งที่ผ่านมา ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีความผันผวนอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น เพื่อสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวทั้งเชิงรุก-เชิงรับ ในปี 2566 นี้กรมการแพทย์จะนำสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการดำเนินงาน/ชีวิตวิถีใหม่  ที่ทุกภาคส่วนตระหนักในบริบทและการพยากรณ์ระบบงานที่เกี่ยวข้องทุกด้าน มาเป็นบทเรียนในการดำเนินการ ด้วยการกำหนดนโยบายมุ่งเน้น 7 ประเด็น ได้แก่ 1.การปฏิรูปองค์การด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) 2.การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม(Healthy Ageing) 3.การจัดบริการทางการแพทย์แบบครบวงจร(Seamless Comprehensive Healthcare) 4.กัญชาทางการแพทย์ (Medical Cannabis) 5.การจัดบริการด้านการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) 6.ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน(EMERGENCY & DISASTER & EID) 7.บุคลากรมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้น (HR Transformation)

ทั้งนี้ เป้าหมายปี 2566 มีเรื่องหลักๆที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่

1. ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทุกแห่งมีระบบ DMS Telemedicine ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ในการนำส่งบริการจากโรงพยาบาลไปถึงบ้านของประชาชน เพิ่มในแผนกผู้ป่วยนอกและคลินิกเฉพาะทางและมี Model ขยายไปสู่เขตสุขภาพที่สนใจ 

2.ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง ครบวงจรไร้รอยต่อโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์มีคลินิกผู้สูงอายุ จัดทำมาตรฐานและส่งเสริมการจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลภูมิภาค

3. กัญชาทางการแพทย์ มีการศึกษาวิจัยพัฒนาขยายผลการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์สู่บริการทางการแพทย์ในหลากหลายกลุ่มโรค จัดทำแนวทางการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการเพื่อเอื้อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการกัญชาทางการแพทย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น  ผลักดันกัญชาทางการแพทย์เข้าชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการให้-รับการรักษา ส่งเสริมผลิตภัณฑ์กัญชาเชิงพาณิชย์ที่มีแหล่งอ้างอิงถูกต้องและปลอดภัยต่อสุขภาพ

4. Model ระบบบริการทางการแพทย์ที่เชื่อมโยงอย่างครบวงจร ไร้รอยต่อ มีการสร้าง model สำหรับเขตสุขภาพนำไปเป็นต้นแบบ โดยปี2566 มุ่งเน้น 5 ภาวะโรคสำคัญ อาทิ ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน/ Stroke STEMI  อุบัติเหตุ/ER   มะเร็ง/Cancer CKD หรือ Cancer Anywhere พัฒนารูปแบบการรักษาและระบบบริการผู้ป่วยโรคมะเร็งให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลทุกที่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ สะดวกรวดเร็วลดระยะเวลารอคอย สามารถไปรับการรักษาได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัวในการรับรองสิทธิ์ รวมทั้งพัฒนาระบบบริการโรคไตหรือ Hemodialysis Anywhere อีก 1 กลุ่มโรคสำคัญ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงได้ทุกที่

นพ.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า   สำหรับเป้าหมายและผลการดำเนินตามนโยบายระยะยาว

เป้าหมายที่1: มุ่งเน้นให้เกิดการแพทย์ที่สมคุณค่าโดยการนำผลงานวิชาการทางการแพทย์ไปใช้อ้างอิงทางการแพทย์ และการให้บริการทางการแพทย์ของประเทศไทยเป็นรูปแบบใหม่อย่างสมบูรณ์ “การนำการแพทย์จากโรงพยาบาลไปสู่บ้านประชาชน แบบครบวงจรอย่างไร้รอย” ทั้งด้านการรับ-การส่งต่อ การเข้าถึงบริการเบื้องต้นได้ทุกที่โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล

เป้าหมายที่2:ระบบบริการทางการแพทย์ส่วนบุคคลด้วยการสร้างระเบียนสุขภาพส่วนบุคคลให้เกิดเป็นรูปธรรมทั่วทั้งประเทศ ที่ขับเคลื่อนด้วยการแพทย์เฉพาะทางที่ได้คุณภาพมาตรฐานและการใช้ระบบ digital technology assisted service และนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ทันสมัยคุ้มค่า คุ้มทุน เสริมบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ของประเทศไทย ที่ผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาลหากไม่จำเป็นและทำให้บริการทางการแพทย์ต้องไม่สะดุด  การให้บริการทางการแพทย์แม่นยำ(Precision Medicine)การวินิจฉัย การป้องกันและการรักษาโรคที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคล อาศัยข้อมูลเชิงลึกทางพันธุกรรม ลงลึกระดับDNA เน้นการรักษาที่กลไกการเกิดโรคของแต่ละบุคคล สามารถลดผลข้างเคียงของการรักษาได้ดีกว่าและมีความแม่นยำกว่า รวมไปถึงรองรับการขยายการให้บริการทางการแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere) ที่ครอบคลุมภาระโรคและพื้นที่ต่อไป

เป้าหมายที่ 3 : กรมการแพทย์จะเป็นองค์กรสมรรถนะสูงพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์หรือที่เรียกว่า COE สามารถเป็นหลักในระดับการแพทย์เฉพาะทางของประเทศ   มีระบบการบริหารจัดการเป็นระบบดิจิทัลที่ทันสมัย พร้อมให้บริการ อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เชื่อมโยงทุกระบบที่เกี่ยวข้อง  บุคลากรสมรรถนะสูง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน มีความผูกพันองค์กร และมีความสุข 

 “ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินตามนโยบายในระยะสั้นหรือระยะยาว เป้าหมายสำคัญก็คือประชาชนต้องได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค ทั่วถึงและ เท่าเทียม” อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

 

ติดตามช่องทางข่าวสารอีกช่องทางของ Hfocus ได้ที่เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Hfocus.org