สธ.จับมือ สปสช. เตรียมเสนอร่าง พ.ร.ฎ. มอบ สปสช.ดูแลงบสร้างเสริมสุขภาพแก่คนไทยทุกคน ขณะนี้อยู่ระหว่างระดมความคิดเห็นประชาชนกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซต์ของสปสช. พร้อมประชุมบอร์ดนัดพิเศษ 9 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาก่อนเสนอร่างฯ ให้รมว.สธ.พิจารณาก่อนเข้าสู่ ครม.   ด้านเลขาฯสปสช.เผยเครือข่ายปชช.จ่อเคลื่อนไหวทวงสิทธิ์  ถือเป็นสิทธิ์ทำได้ แต่ขอชี้แจงข้อเท็จจริง  ลั่นไม่กระทบปชช.บัตรทอง ส่วนสิทธิอื่นๆ หารือหน่วยบริการยินดีรับ หากมีปัญหาแจ้ง สปสช.จะแก้ปัญหาให้ทันที

 

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าว ความคืบหน้าให้ผู้มีสิทธิประกันสังคม ข้าราชการ ใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบ สปสช. “เตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา มอบ สปสช.ดูแลงบสร้างเสริมสุขภาพแก่คนไทยทุกคน”

 

โดย  นพ.โอภาส   แถลงข่าวเรื่องการการจัดสรรงบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 3 กองทุน ว่า ที่ผ่านมามีการชี้แจงต่อสาธารณะตลอด รวมถึงชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่อาจจะยังมีประชาชนบางกลุ่มที่รับฟังข้อมูลแล้วยังเกิดความสับสน จึงขอชี้แจงอีกครั้งว่า ประเทศไทยดูแลสุขภาพประชาชนทั้ง 66 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 48 ล้านคน กองทุนประกันสังคม 12 ล้านคน และกองทุนสวัสดิการข้าราชการด้านการรักษาพยาบาล 6 ล้านคน ซึ่งเรื่องการวินิจฉัย รักษาโรคนั้นไม่มีปัญหาอะไร ส่วนที่จะมีปัญหาคือเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขียนเรื่องนี้ไว้ แต่ประกันสังคม และข้าราชการไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย แต่มีมาตรา 66 ระบุว่าการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสามารถบูรณาการดูแลร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ โดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีการองรับประกันสังคม และข้าราชการด้วย

นพ.โอภาส กล่าวว่า งบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง วงเงินรวมทั้งหมด 204,140.03 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ประมาณ 10% หรือ 21,381.11 ล้านบาท แยกเป็น งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนในสิทธิบัตรทอง 16,235.07 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ได้อนุมัติดำเนินการดูแลประชาชนในสิทธิบัตรทองไปแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 5,146.04 ล้านบาท หรือ 2.5% ของงบภาพรวมทั้งหมด สำหรับสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคกลุ่มประชาชนนอกสิทธิบัตรทอง คือ ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาอาจไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้ต้องมีการชะลอการจัดสรรงบประมาณเฉพาะส่วนนี้ แต่กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้หน่วยบริการในสังกัดยังคงให้บริการประชาชนทุกสิทธิตามปกติ ส่วนหน่วยบริการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทาง สปสช.เป็นผู้ประสานให้บริการตามปกติเช่นกัน  

ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคประมาณ 180,000 ล้านบาท ซึ่งสปสช.มีมาตรการในการกระจายเงินไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะของสำนักงานปลัดสธ.ที่ดูแลประชาชนทั้ง 77 จังหวัด ส่วนนี้ไม่ค่อยมีปัญหา อีก 10 % หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นของบัตรทองประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร แต่ส่วนที่มีปัญหาและยังเป็นประเด็นที่ยังทำความเข้าใจไม่ตรงกัน คือ งบฯ สำหรับข้าราชการและประกันสังคม ประมาณ 5 พันล้านบาท ดังนั้น ตามหลักการกฎหมายของสปสช. โดยเฉพาะมาตรา 66 นั้นจะต้องออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายระดับรองเพื่อให้สามารถนำงบฯ ตรงนี้มาใช้ได้ 

“ ระหว่างนี้ สธ.ได้มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัด ดูแลประชาชนทุกสิทธิอยู่แล้ว ส่วนเรื่องเงินจะมาเคลียร์กับสปสช.ทีหลังเอง ดังนั้นประชาชนไม่ได้รับผลกระทบอะไร ส่วนการออกเป็นพระราชกฤษฎีกานั้นอยู่ระหว่างดำเนินการ และเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าทั้ง 3 กองทุนสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งอนาคตหากมีวิวัฒนาการ หรือความจำเป็นต้องรวมกองทุนกันมากขึ้นก็สามารถทำได้” นพ.โอภาส กล่าว

 

ด้าน นพ.จเด็จ  กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ. ) สำหรับการใช้งบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคออกมาเป็น 6 ฉบับ โดยแบ่งกลุ่มผู้จะได้รับสิทธิ์ 1. ร่างฯ สำหรับผู้ใช้สิทธิ์สวัสดิการข้าราชการ ตามมาตรา 9 ซึ่งมาตรา 9 ยังมีแยกย่อยอีกหลายกลุ่มที่มีกฎหมายเฉพาะของตัวเอง จึงออกมาเป็นกลุ่ม 2 ข้าราชการกรุงเทพมหานคร กลุ่มที่ 3 ข้าราชการสังกัดเมืองพัทยา กลุ่ม 4 พนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่ม 5  องค์กรอิสระ ส่วน กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มผู้ประกันตน ทั้งนี้ได้อยู่ระหว่างการนำร่างฯ ทั้ง 6 ฉบับมาให้ประชาชนแสดงความเห็น ผ่านทางเว็บไซต์ของสปสช. และในวันที่ 9 มีนาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนัดพิเศษเร่งด่วน เพื่อพิจารณาก่อนเสนอร่างฯ เหล่านี้ให้ รัฐมนตรีว่าการ สธ.เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม. ดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไป

 

“เมื่อดำเนินการเรื่องนี้แล้วเสร็จ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เท่ากับว่าต่อไปในอนาคต ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก หน่วยบริการสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหลักประกันที่เป็นข้อกฎหมายรองรับไว้แล้ว ต่อไปคนไทยทุกคนก็จะได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าเพราะเหตุใดต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดสปสช.อีกครั้ง นพ.จเด็จ กล่าวว่า เนื่องจากการดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามข้อสั่งการของบอร์ดว่า ให้ไปรวบรวมข้อเสนอ ข้อตกลงต่างๆ ซึ่งสำนักงานฯ ทำหน้าที่ในฐานะธุรการของกระบวนการ แต่ผู้ให้ความเห็นชอบต้องเป็นคณะกรรมการ

เมื่อถามว่าจะผ่านครม.ได้เมื่อไหร่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า อยู่ที่ท่านรัฐมนตรีฯ ซึ่งท่านได้เร่งให้เราดำเนินการ จึงได้ให้มีการประชุมบอร์ดวันที่ 9 มีนาคมนี้ จะได้มีเวลาดำเนินการ ทั้งหมดพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด

นพ.โอภาส กล่าวเสริมว่า  ตอนการออกพระราชกฤษฎีกา เป็นไปตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ มีกฎหมายรองรับ และสามารถดำเนินการไม่ชักช้า ทั้งนี้ มีการคาดเดาว่า การประชุมครม.จะเหลืออีกกี่นัด จะเหลือ 1 นัดหรือ 2 นัด หรือ 3 นัดก็แล้วแต่ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการก็สามารถออกพระราชกฤษฎีกาได้ เพียงแต่ขั้นตอนอาจเยอะขึ้น แต่ทั้งหมดจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

** ผู้สื่อข่าวถามกรณีภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน ออกมาเคลื่อนไหวทวงสิทธิดังกล่าวและจะยื่นจดหมายพรรคภูมิใจไทย ต้องมีการสื่อสารเพิ่มเติมหรือไม่  .. นพ.จเด็จ กล่าวว่า ต้องเรียนว่า มีการสื่อสารเรื่องนี้เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง อย่างที่มีการสื่อสารที่สภาฯ มีการระบุว่าภายในเดือนมีนาคม จะเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ต้องเถียงกันแล้วว่า กฎหมายจะเป็นอย่างไร เพราะมีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินการโดยใช้มาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 66 ทำแบบนี้จะยั่งยืนกว่า แทนที่จะใช้กระบวนการบริหารเป็นครั้งๆ ส่วนประชาชนที่กังวลจะไม่ได้รับบริการ ไม่ต้องกังวล เรายังให้บริการในส่วนบัตรทอง ส่วนสิทธิอื่นๆ ข้าราชการ ประกันสังคม จากการหารือหน่วยบริการยินดีให้บริการ หากไม่ได้จริงๆ ให้ติดต่อมายังสปสช. จะดำเนินการประสานไม่ให้เกิดข้อขัดข้อง ซึ่งเรื่องนี้เราจะสื่อสารมากยิ่งขึ้น

“การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นสิทธิของท่าน ซึ่งหากมีโอกาสเราก็ขอชี้แจงในส่วนของเรา อย่างผลการประชุมบอร์ดสปสช.ทุกครั้งเราจะมีการขึ้นผลประชุมที่หน้าเว็บไซต์ของสปสช.ตลอด แต่หากการสื่อสารยังไม่ครอบคลุม เราก็จะสื่อสารเพิ่มมากขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

อนึ่ง  สำหรับการแสดงความคิดเห็น ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดสิทธิรับบริการสาธารณสุข 6 ฉบับ ประกอบด้วย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 10 มีนาคม 2566 เปิดรับความคิดเห็น

กลุ่มข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ แสดงความคิดเห็นได้ที่ https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwMURHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

กลุ่มผู้ประกันตน แสดงความคิดเห็นได้ที่

https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwM0RHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 13 มีนาคม 2566 เปิดรับความคิดเห็น

กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ แสดงความคิดเห็นได้ที่ http://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwOURHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ แสดงความคิดเห็นได้ที่ http://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYxMERHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

กลุ่มพนักงานเมืองพัทยา แสดงความคิดเห็นได้ที่

http://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwN0RHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

กลุ่มผู้มีสิทธิเบิกจ่ายเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของกรุงเทพมหานคร แสดงความคิดเห็นได้ที่

http://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwNkRHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

 

 

ติดตามช่องทางข่าวสารอีกช่องทางของ Hfocus ได้ที่เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Hfocus.org