รองนายกฯ และ รมว.สธ. เขียนข้อความด้วยลายมือถึงสาเหตุเสนอ ครม.จนเห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็น 2 พันบาทต่อเดือน เหตุเป็น หมอคนที่1 ในนโยบาย 3 หมอ ทำงานหนัก เงินน้อย เสี่ยงมาก

7 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่เพจเฟซบุ๊ค “อนุทิน ชาญวีรกูล” ซึ่งรายงานความเคลื่อนไหวของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏข้อความว่า 

“พูดแล้วทำ ค่าป่วยการ อสม. 2 พันบาท ได้รับอนุมัติ จาก ครม. แล้ว ขอบคุณรัฐมนตรี ทุกท่าน สนับสนุนเรื่องดีๆ ครับ”  โดยด้านในปรากฏเอกสาร เขียนด้วยลายมือนายอนุทิน จำนวน 7 หน้ากระดาษ เป็นประเด็น ซึ่งนายอนุทิน ใช้ชี้แจงใน ครม.ระบุว่า การเพิ่มค่าตอบแทน อสม. 7 มีนาคม 2566 

เดิม อสม. มีค่าตอบแทน 1,000 บาท ช่วงโควิด 19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอนายกฯ ของบกลาง เพิ่มให้เดือนละ 500 บาท ตั้งแต่มีนาคม 2563- กันยายน 2565 เพื่อช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ อสม. ที่ต้องออกมาดูแลสถานการณ์โควิด 19 มีความเสี่ยงติดเชื้อ ประสบอุบัติเหตุ ฯลฯ

เมื่อประกาศยุบ ศบค.ลดมาตรการต้องห้ามต่างๆ เงิน อสม.เดือนละ 500 บาท ก็หมดไป กลับไปที่เดิมคือ 1,000 บาท  อสม.ทำให้รากฐานระบบการสาธารณสุข มีความแข็งแกร่งขึ้น อสม.เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ถือว่า เป็นกลไกสำคัญที่ร่วมกับบุคลากร สธ. บริหารจัดการ ควบคุม สถานการณ์โรคระบาด เป็นกลุ่มมวลชน ที่อาสามาบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินนโยบาย 3 หมอ ประชาชนคนไทย 1 คน มีหมอประจำตัว 3 คน และหมอคนแรกคือ อสม. 

ภารกิจที่เพิ่มขึ้น 

อสม. เป็นหมอคนที่ 1 และต้องให้ความรู้ ความเข้าใจชาวบ้านในการใส่ใจสุขภาพ ให้เกิดแก่เจ็บตายอย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการดูแลจากระบบการสาธารณสุข การคัดกรองสุขภาพ เก็บข้อมูล ผู้สูงอายุ ติดตาม ประสานงาน เยี่ยมบ้าน เคาะประตู ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ที่ติดเตียงอยู่บ้าน  เฝ้าระวัง สอดส่องดูแลเรื่องยาเสพติดในชุมชนหมู่บ้าน ประสานงาน แจ้งความเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นับเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงอันตราย

นายกรัฐมนตรี ขอให้ อสม.ช่วยเป็นหูตา ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง เรื่องยาเสพติด อสม.มีภารกิจ ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน อาสาไปรับยา เวชภัณฑ์ แล้วนำไปส่งมอบให้ผู้ป่วย เพื่อลดความแออัด ลดเวลานั่งรอยาของผู้ป่วย ญาติที่โรงพยาบาลใช้เทเลเมดิซีน เทเลเฮลท์ กับหมอพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น ปฐมพยาบาล ประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยจากบ้านไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม 

รัฐได้อะไร ? 

ได้ตอบแทนความเสียสละของ อสม. มีหมอคอยดูแลประชาชน ในชุมชนหมู่บ้าน เงินตอบแทน 2,000 บาท ต่อเดือน ทำให้ อสม.สามารถจับจ่ายใช้สอย มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน มีเงินไว้สำหรับสะสมเข้ากองทุนฌาปณกิจสงเคราะห์ ซึ่งทำให้ทายาท อสม.ที่เสียชีวิตได้รับเงินจากกองทุนนี้ถึงเกือบ 500,000 บาทต่อราย 

มีผู้ช่วยพยาบาล ที่จบหลักสูตรวิชาชีพ เพิ่มปีละ 3,000-5,000 คน ที่เป็น อสม.ด้วย หรือให้ลูกสายตรงมาศึกษา เมื่อเฉลี่ยว่า อสม. 1 คน ดูแลประชาชน 30 บท เรามี อสม. 1 ล้านคน เท่ากับเราใช้เงิน 65 บาท/วัน และ 2 บาท/คน/วัน ในการมีเครือข่ายสุขภาพไปดูแลประชาชนทั้งประเทศ 

อสม.เป็นมวลชนสุขภาพที่มีความตั้งใจ เสียสละ ทำงานให้รัฐ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และมีความจงรักภักดี ต่อสถาบันหลักของชาติ ทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และมีความปรารถนาดี ต่อประชาชน และเพื่อนร่วมชาติ เป็นกลุ่มมวลชนแกนหลักในการสร้างความสามัคคี ปรองดอง ลดความความเห็นต่าง ขัดแย้ง ของคนในชาติ 

 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ลูกจ้าง สธ.ตัดพ้อ! หลังครม.เห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการอสม. แต่เงินเสี่ยงภัยโควิดกลับล่าช้า