ลูกจ้าง สธ.สายสนับสนุนโอด! หลังมติ ครม.เพิ่มค่าป่วยการ อสม. แต่กลับไม่ให้ความสำคัญเงินเสี่ยงภัยโควิด ร้อง “อนุทิน – ผู้บริหารสธ.” ไม่จริงใจ ไม่เห็นใจคนทำงานอย่างครอบคลุม จ่อประชุมใหญ่หารือแนวทางเคลื่อนไหวอีกครั้ง  ขณะที่โซเชียลฯ แชร์ตัดพ้อ มองค่าเสี่ยงภัยรอขั้นตอนมานาน จนบัดนี้ยังไม่มีวี่แวว

ภายหลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เห็นชอบการเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จากเดิมเดือนละ 1,000 บาทต่อคน เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน  โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567  (1 ต.ค. 2566)  พร้อมมอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานอนามัย กรุงเทพมหานคร ตั้งคำของบประมาณ ประจำปีของรายการการจ่ายเงินค่าป่วยการให้แก่อสม.และอสส. ในส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปีงบประมาณ2567 เป็นต้นไป

(อ่านข่าว : ข่าวดี! ครม.เห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการ อสม. 2 พันบาทต่อเดือน

 

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า  เรื่องนี้ชัดเจนว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ. และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทุกคน ไม่ได้จริงใจ หรือเห็นใจลูกจ้างสายสนับสนุนเลย กลายเป็นว่าการเพิ่มค่าตอบแทนค่าป่วยการอสม. มีความสำคัญกว่า เพราะทุกอย่างดูรวดเร็ว ปัจจุบันอสม.มีมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งแน่นอน อสม.ทุกคนมีความสำคัญ เพราะทำงานเช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่พวกเราทำงานรับใช้กระทรวงสาธารณสุขมานาน ทำงานฟันฝ่าช่วงโควิดมาตลอด ไม่ได้แตกต่างกัน พอจะได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานโควิด กลับต้องรอแล้วรออีก บอกว่าติดขั้นตอนต่างๆ แทนที่กระทรวงฯจะช่วยกระทุ้ง ผู้บริหารสธ.จะช่วยผลักดันมากกว่านี้ แต่เรื่องก็ยังล่าช้า หลายจังหวัดไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัย หลายจังหวัดได้รับไม่ครบ  

“ลูกจ้างสายสนับสนุนท้อแท้มาก ไม่คิดว่าผู้บริหารจะไม่ให้ความสำคัญกับเราขนาดนี้ ซึ่งเครือข่ายจะประชุมใหญ่เร็วๆนี้  เพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง” นายโอสถ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้บริหารสธ.ให้ข้อมูลถึงค่าเสี่ยงภัยโควิดว่า อยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว หากจะเคลื่อนไหวเกรงว่าทุกอย่างก็ต้องอยู่ในกระบวนการดำเนินการอยู่ดีหรือไม่ นายโอสถ กล่าวว่า อยู่ระหว่างดำเนินการมานานแล้ว ล่าสุดได้ประชุมร่วมกับนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ได้รับคำตอบว่า  สธ.ส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณแล้ว เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม. แต่ตอนนี้ก็ยังนิ่งเงียบ ไม่รู้ว่าต้องรอถึงเมื่อไหร่ ดังนั้น ทางสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย(สลท.) และสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างฯ รวมทั้งเครือข่ายต่างๆ ได้ประชุมใหญ่อีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปก่อน

นายโอสถ สุวรรณ์เศวต

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีการเผยแพร่ข่าวผ่านเพจเฟซบุ๊ก Hfocus ในวันเดียวกัน (7 มี.ค.) ปรากฎว่า บุคลากรสาธารณสุขจำนวนหนึ่งได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อข่าวดังกล่าว ในทำนองตัดพ้อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใจความสำคัญว่า อสม.ได้เพิ่มค่าป่วยการ แต่บุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะลูกจ้างสายสนับสนุน กลับต้องรอค่าเสี่ยงภัยปฏิบัติงานโควิด หรือค่าเสี่ยงภัยโควิด ซึ่งมีความล่าช้ามาก จนบัดนี้ยังได้ไม่ครบในหลายพื้นที่  อาทิ

 

“หันมาช่วยคนทำงาน ระดับล่างหน่อยค่ะท่าน รพ. มีแค่แพทย์ พยาบาล แค่นั้นได้ ส่วนอื่นๆก็สำคัญ และสำคัญมากกกกกกก ด้วยค่า..”

" นี่คือการเป็นอยู่ของ คนทำงานโรงพยาบาลตอนนี้ อยากให้คนใหญ่คนโตรับรู้  "อาชีพที่มั่นคง” ต้องเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนคุ้มค่ากับภาระงานมีสิทธิสวัสดิการที่มั่นคง ไม่ใช่อาชีพที่มีงานทำทุกวัน แต่คุณภาพชีวิตแสนจะแย่..." 

"ค่าเสี่ยงภัย ครบยังอะ เพิ่มนั้นนี่เยอะจัง บันจุตำแหน่ง พนักงาน พกส. เป็นพนักงานราชการ ทำให้ได้ก่อนเหอะ ตำแหน่งเล็กๆในองกร ก็มีชีวิต มีครอบครัวภาระที่ต้องรับผิดชอบนะครับ ฝากไปถึง กพ. เลิกตั้งกฏเกน วุฒป.ตรี ต้อง จบ บริหาร ถึงได้ตำแหน่งนั้นนี้ คนเรามีสมอง ทำงานมา 10กว่าปี ถ้าไม่ใช้ สาย อาชีพ ควรให้เค้าบันจุ ......"

"เขายื่นเรื่องแค่ 3วัน ได้ค่าเสี่ยงภัย  ฝ่ายสนับสนุนยื่นมา 2 ปี ไม่ได้สักที ทำไมละ ไม่เห็นใจคนทำงานในร.พ บ้าง ถึงจะเป็นแค่ฝ่ายสนับสนุนก็เถอะ หรือเป็นเพราะพวกเราวุฒิการศึกษาต่ำหรอ พวกคุณๆๆๆถึงแบ่งแยกกันน่าดู.."

ข่าวเกี่ยวข้อง :  "อนุทิน" เขียนด้วยลายมือเหตุผลเพิ่มค่าป่วยการ อสม. ชี้งานหนัก เสี่ยงมาก

ติดตามช่องทางข่าวสารอีกช่องทางของ Hfocus ได้ที่เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

 

แฟ้มภาพ

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ประชุมคณะทำงาน สธ. - ลูกจ้าง พกส.  ถก 6 ข้อเสนอ ส่อข่าวดี 2 ข้อ “ค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้-เงินเสี่ยงภัยโควิด”